คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1351/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม มาตรา 11 แห่งกฎหมายลักษณะอาญาอาจนำมาตรา 23 แห่งกฎหมายลักษณะอาญามาบังคับกับ พระราชบัญญัติฝิ่นได้
เมื่อนำ มาตรา 23 แห่งกฎหมายลักษณะอาญามาใช้แล้ว ศาลก็อาจจำคุกจำเลยสถานเดียวโดยไม่ปรับได้
ข้อความที่บัญญัติไว้ในกฎหมายฝิ่นว่าให้ปรับเท่านั้นๆเท่า หมายความว่าเมื่อศาลจะปรับจึงจะปรับตามส่วนที่กฎหมายฝิ่นกำหนด เมื่อศาลใช้ดุลพินิจจำคุกอย่างเดียวโดยไม่ปรับ บทบัญญัติในเรื่องปรับก็เป็นอันพ้นไป
การฎีกาให้ศาลใช้ดุลพินิจลงโทษปรับด้วย เป็นข้อเท็จจริงฎีกาไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2498 เวลากลางวันจำเลยบังอาจมีฝิ่น มูลฝิ่นและมีกล้องสูบฝิ่น สูบฝิ่นนอกร้านโดยมิได้รับอนุญาต จึงขอให้ศาลลงโทษ

ศาลชั้นต้นสืบพยานประกอบคำรับสารภาพแล้วตัดสินว่า จำเลยมีผิดตาม พระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ. 2472 มาตรา 8, 14, 15, 53, 66พระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ. 2494 มาตรา 6, 7 วางโทษฐานมีฝิ่นและมูลฝิ่น จำคุก 2 เดือน ปรับ 700 บาท ฐานมีอุปกรณ์สูบฝิ่นฯ ปรับ 100 บาท ลดเพราะรับสารภาพกึ่งหนึ่งคงจำคุก 1 เดือน ปรับ 400 บาทโทษจำให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี คงปรับสถานเดียว ของกลางริบ

โจทก์อุทธรณ์ว่าศาลลงโทษต่ำกว่าอัตราในกฎหมายในฐานมีฝิ่นและมูลฝิ่น

ศาลอุทธรณ์ว่าฝิ่นตามฟ้องราคา 13.50 บาท มูลฝิ่นราคา 225 บาทดังนั้นในฐานมีฝิ่น ศาลจะกำหนดโทษจำเลยจำคุกต่ำกว่า 6 เดือน และปรับต่ำกว่า 500 บาทไม่ได้ ฉะนั้นกำหนดโทษที่ศาลชั้นต้นลงไม่ถูกต้อง จึงพิพากษาแก้ให้รวมลงโทษจำคุกจำเลย 7 เดือน ลดฐานรับสารภาพกึ่งคงจำคุก 3 เดือน 15 วัน การรอการลงโทษและนอกนั้นคงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลเดิม

โจทก์ฎีกาว่าตามกฎหมายฝิ่นต้องลงโทษปรับด้วย หรือเป็นดุลพินิจของศาลที่จะงดปรับเสียก็ได้ ศาลควรใช้ดุลพินิจให้ปรับด้วย

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 23 บัญญัติว่าบรรดาโทษที่กำหนดทั้งจำคุกและปรับเป็นสองสถาน ให้ศาลวินิจฉัยตามเหตุการณ์ ถ้าเห็นสมควรจะให้ยกโทษปรับเสียก็ได้ และโดยกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 11 ให้นำมาตรา 23 มาใช้กับพระราชบัญญัติฝิ่นด้วยได้ ส่วนคำว่าต้องปรับด้วยตามพระราชบัญญัติฝิ่นนั้น หมายความเฉพาะที่ศาลพิพากษาปรับแล้วจึงจะต้องปรับให้ได้จำนวนเท่าที่กฎหมายฝิ่นกำหนดไว้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำคุกสถานเดียวนั้นชอบแล้ว สำหรับข้อที่โจทก์ฎีกาให้ศาลใช้ดุลพินิจปรับนั้นเป็นข้อเท็จจริงฎีกาไม่ได้

Share