คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5377/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยว่าคดีมีเหตุบรรเทาโทษและเห็นสมควรลดโทษให้แก่จำเลยที่ 2 ทั้งมิได้พิพากษาให้ลดโทษแก่จำเลยที่ 2 ข้อที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าควรจะมีข้อความว่ามีเหตุอันควรปรานี มีเหตุบรรเทาโทษ และลดโทษให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นการอ้างข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากคำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่ใช่การแก้ไขถ้อยคำที่พิมพ์ผิดพลาด แต่เป็นการแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งอ่านแล้ว ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 190
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 181(1) คำว่า “เป็นการกระทำในกรณีแห่งข้อหาว่าผู้ใดกระทำความผิดที่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีขึ้นไป” นั้น หมายความว่ากรณีแห่งข้อหาว่าผู้ใดกระทำความผิดจะต้องมีอัตราโทษขั้นต่ำจำคุกสามปีเป็นอย่างน้อยที่สุด แต่การที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์กับพวกโดยมีข้อหาว่าโจทก์กระทำความผิดฐานบุกรุกทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์ ขอให้ลงโทษตามมาตรา 365(2)(3) ประกอบด้วยมาตรา 362 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ตามมาตรา 358 ซึ่งมีระวางโทษจำคุก ไม่เกินสามปี และมาตรา 335(7) ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 335 วรรคหนึ่ง จำคุกตั้งแต่หนึ่งถึงห้าปี อัตราโทษขั้นต่ำแต่ละฐานความผิดดังกล่าวไม่ถึงสามปี การเบิกความเท็จของจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องด้วยกรณีที่ต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 181(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2539 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ได้เอาความเท็จฟ้องโจทก์ (ที่ถูก โจทก์กับพวกรวมห้าคน) ต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1868/2539 ว่า เมื่อวันที่ 4 ถึง 5 พฤษภาคม 2539 โจทก์ได้กระทำความผิดอาญาโดยบุกรุกเข้าไปในที่ดินและบ้านของจำเลยที่ 1 รื้อบ้านอันเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เป็นการทำให้เสียทรัพย์ แล้วนำเอาอุปกรณ์บ้านที่รื้อไปขายโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งฟ้องดังกล่าวเป็นความเท็จ ความจริงโจทก์ไม่ได้บุกรุกทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์ จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าทรัพย์สินดังกล่าวไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 แต่ยังฟ้องโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ความผิดอาญาดังกล่าวมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีขึ้นไป และเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2539 วันที่ 9 ตุลาคม 2539 และวันที่ 18 พฤศจิกายน2539 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองร่วมกันเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีอาญาดังกล่าวในระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง โดยเบิกความทำนองเดียวกันว่า เมื่อประมาณ พ.ศ. 2535 นายเหลื่อม เขี้ยวแก้ว บิดาจำเลยที่ 1 ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 พร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินคือบ้านไม่มีเลขที่ แล้วโจทก์กับพวกได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินและบ้าน ทำการรื้อบ้านเอาไปขายเสีย ความจริงจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นของนายเหลื่อม มิได้ยกให้จำเลยที่ 1 และโจทก์มิได้กระทำความผิดดังที่จำเลยทั้งสองเบิกความ คำเบิกความของจำเลยทั้งสองเป็นข้อสำคัญในคดีเพราะเป็นเหตุให้ศาลมีคำสั่งว่าคดีมีมูล ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายความผิดดังกล่าวมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีขึ้นไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175, 177, 181, 83 และ 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 175 และมาตรา 177 วรรคสอง ประกอบมาตรา 181 (ที่ถูก มาตรา 181(1)) เป็นการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรม ฐานฟ้องเท็จ จำคุก 3 ปี และปรับ 14,000 บาท ฐานเบิกความเท็จ จำคุก 3 ปี และปรับ 14,000 บาท รวมจำคุก 6 ปี และปรับ 28,000 บาท จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคสองประกอบมาตรา 181 (ที่ถูก มาตรา 181(1)) จำคุก 3 ปี และปรับ 28,000 บาท โทษจำคุกจำเลยทั้งสองให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

โจทก์อุทธรณ์ขอไม่ให้รอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ลงโทษปรับ และไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อแรกว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำเลยที่ 2 จำคุก 3 ปี และปรับ 28,000 บาท แล้วรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 ทั้งที่เมื่อลงโทษจำคุกเกิน 2 ปี แล้วไม่อาจรอการลงโทษจำคุกได้ (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ซึ่งใช้บังคับขณะศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา) ย่อมเกิดจากการพิมพ์ผิดพลาด ควรจะมีข้อความเพิ่มเติมว่า มีเหตุอันควรปรานี และมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี แล้วรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 จึงขอให้แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยว่าคดีมีเหตุบรรเทาโทษและเห็นสมควรลดโทษให้แก่จำเลยที่ 2 ทั้งมิได้พิพากษาให้ลดโทษแก่จำเลยที่ 2 ข้อที่อ้างว่าควรจะมีข้อความว่ามีเหตุอันควรปรานี มีเหตุบรรเทาโทษและลดโทษให้แก่จำเลยที่ 2 ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกานั้น เป็นการอ้างข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากคำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่ใช่การแก้ไขถ้อยคำที่พิมพ์ผิดพลาด แต่เป็นการแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งอ่านแล้ว ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 190 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อที่สองว่า แม้จำเลยที่ 2 จะมีความผิดฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคสอง แต่ก็มิได้เป็นการกระทำในกรณีแห่งข้อหาที่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีขึ้นไปนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 181บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 174 มาตรา 175 มาตรา 177…(1) เป็นการกระทำในกรณีแห่งข้อหาว่าผู้ใดกระทำความผิดที่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีขึ้นไป…” คำว่า “เป็นการกระทำในกรณีแห่งข้อหาว่าผู้ใดกระทำความผิดที่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีขึ้นไป” นั้น หมายความว่า กรณีแห่งข้อหาว่าผู้ใดกระทำความผิดจะต้องมีอัตราโทษขั้นต่ำจำคุกสามปีเป็นอย่างน้อยที่สุด แต่คดีนี้กรณีแห่งข้อหาว่าโจทก์กระทำความผิดคือการที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์กับพวกตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1868/2539ของศาลชั้นต้น โดยมีข้อหาว่าโจทก์กระทำความผิดฐานบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(2)(3) ประกอบด้วยมาตรา 362 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ตามมาตรา 358 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และตามมาตรา 335(7) ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 335 วรรคหนึ่ง จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี อัตราโทษขั้นต่ำแต่ละฐานความผิดดังกล่าวไม่ถึงสามปี การเบิกความเท็จของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1868/2539 ของศาลชั้นต้น จึงไม่ต้องด้วยกรณีที่ต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 181(1) อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังขึ้น และเมื่อได้วินิจฉัยดังกล่าวแล้วการกระทำความผิดฐานฟ้องเท็จและฐานเบิกความเท็จของจำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องด้วยกรณีที่ต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 181(1) เช่นเดียวกัน ปัญหาการปรับบทลงโทษว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับโทษหนักขึ้นหรือไม่ เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาข้อนี้ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225

อนึ่ง เมื่อศาลฎีกาต้องกำหนดโทษจำเลยทั้งสองเสียใหม่ โดยไม่ปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองให้หนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 181(1) ดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามา กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อที่ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในสถานเบาอีกต่อไป”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 จำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท และจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคสอง จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 10,000บาท รวมลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 2 ปี และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกจำเลยทั้งสองให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 181(1) ให้ยก

Share