คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3316/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายนั้น คำว่า คดีมรดกหมายความว่า คดีที่พิพาทกันระหว่างทายาทที่มีสิทธิในทรัพย์มรดกด้วยกัน ด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดก ฉะนั้น เมื่อจำเลยมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกรายนี้ และโจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยผู้ครอบครองแทน กรณีมิใช่เรื่องเรียกร้องส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกจำเลยจึงไม่อาจอ้างอายุความตามมาตรา 1754 มาตัดฟ้องโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และนายลอย บุตรชาติ กับพวกอีก 3 คน เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางไวย์ บุตรชาติ กับนายโปย บุตรชาติ จำเลยเคยเป็นภริยานายลอยแต่เลิกร้างกันมาประมาณ 6 ปี นางไวย์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและได้ปลูกบ้านเลขที่ 43 อาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมาจนกระทั่งถึงแก่กรรมเมื่อปี 2534 เมื่อประมาณปี 2520 ถึง 2521 ทางราชการสำรวจเพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) สำหรับที่ดินพิพาท ขณะนั้นจำเลยยังเป็นภริยานายลอยอาศัยอยู่ร่วมกับนางไวย์ได้นำสำรวจแจ้งการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลยแทนนางไวย์ เนื่องจากขณะนั้นนางไวย์มีอายุมากและไม่ทราบเรื่องส่วนโจทก์และพี่น้องคนอื่น ๆ ต่างไปทำงานรับจ้างอยู่ที่อื่น ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 620 ตำบลตั้งใจ อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ให้แก่จำเลย หลังจากได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์จำเลยนำไปมอบให้นางไวย์เก็บรักษาไว้เพื่อจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อเป็นของนางไวย์ แต่ยังมิได้ดำเนินการเนื่องจากต้องแบ่งแยกที่ดินส่วนที่เป็นสระน้ำสาธารณะในที่ดินพิพาทออกก่อนจนกระทั่งนางไวย์ถึงแก่กรรมที่ดินพิพาทจึงเป็นมรดกได้แก่โจทก์และบุตรทุกคนของนางไวย์ หลังจากนางไวย์ถึงแก่กรรมโจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาและได้ติดต่อให้จำเลยไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองที่ดินพิพาทเป็นชื่อโจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนางไวย์ให้จำเลยไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองเป็นชื่อโจทก์ภายใน 7 วันนับแต่วันมีคำพิพากษาหากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดกของนางไวย์ แต่เป็นของจำเลยโดยนางไวย์ยกให้ จำเลยจึงขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นของตน มิใช่ออกแทนนางไวย์ โจทก์ฟ้องคดีหลังจากที่นางไวย์ถึงแก่กรรมเกินกว่า 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นของนางไวย์ เมื่อนางไวย์ถึงแก่กรรมที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์มรดกของนางไวย์โดยมีจำเลยเป็นผู้ครอบครองแทนแต่จำเลยบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตั้งแต่ปี 2524 (ที่ถูกเป็นปี 2534) โจทก์มาฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองเกินกำหนด 1 ปี จึงหมดสิทธิฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 620 ตำบลตั้งใจ อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนางไวย์ บุตรชาติ เป็นชื่อของโจทก์ภายใน 7 วัน หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยโจทก์และจำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนางไวย์ บุตรชาติ โดยมีชื่อจำเลยในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นผู้ครอบครองแทน ที่ดินพิพาทจึงตกได้แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุตรและโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมิได้ร้องสอดหรือโต้แย้งสิทธิของจำเลยในคดีที่จำเลยฟ้องขับไล่นายสง่า จะแรกรัมย์ ออกจากที่ดินพิพาทเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตและเอาเปรียบจำเลยนั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท และผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้ จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย คำว่า คดีมรดก หมายความว่า คดีที่พิพาทกันระหว่างทายาทที่มีสิทธิในทรัพย์มรดกด้วยกัน ด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดกนั้น ฉะนั้น เมื่อจำเลยมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกรายนี้ และโจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อเรียกทรัพย์มรดกจำเลยผู้ครอบครองแทน กรณีมิใช่เรื่องเรียกร้องส่วนแบ่งในทรัพย์มรดก จำเลยจึงไม่อาจอ้างอายุความมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาตัดฟ้องโจทก์ อายุความตามบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวไม่อาจนำมาปรับใช้กับคดีนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share