แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ศาลแรงงานกลางยกฟ้องโจทก์เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถแสดงพยานหลักฐานให้ศาลแรงงานกลางเห็นได้ว่า จำเลยทั้งสองในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ฟังข้อเท็จจริงหรือใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานไม่ชอบอย่างไรและไม่สุจริตอย่างไร แต่โจทก์กลับอุทธรณ์ว่า พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ ไม่มีบทบัญญัติให้คำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เป็นที่สุด และไม่ต้องห้ามใช้สิทธินำคดีไปสู่กระบวนการยุติธรรม และการตีความว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นที่สุดนั้น เป็นคำสั่งทางปกครองที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ อุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางในเหตุผลที่ยกฟ้องโจทก์ แต่กลับนำเรื่องอำนาจฟ้องที่ศาลแรงงานกลางไม่ได้ตัดสิทธิมาอุทธรณ์ และยกเรื่องที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางมาเป็นข้ออุทธรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาและพิพากษาคดีเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และเรียกจำเลยทั้งสามสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12
โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามประกอบกิจการขนส่งให้เช่ารถยนต์โดยสารไม่ประจำทางนำนักท่องเที่ยวไปสถานที่ต่างๆ ภายในประเทศ ต่อมาสหภาพแรงงานพนักงานขนส่งและการท่องเที่ยวสหภาพแรงงาน เอส ซี บริการ และสหภาพแรงงานโกลเด้นไทยในฐานะผู้แทนลูกจ้างของโจทก์ทั้งสามได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อโจทก์ทั้งสามจำนวน 13 ข้อ แต่ตกลงกันไม่ได้จึงได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัย จำเลยทั้งสิบสองในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีคำวินิจฉัยที่ 10/2547, 11/2547, และ 12/2547 ในข้อที่ยังตกลงกันไม่ได้ 7 ข้อ โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสิบสองต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 050/2547, 051/2547 และ 052/2547 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2547 ว่า คำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสิบสองถูกต้องและเหมาะสมแล้ว ให้ยกอุทธรณ์ คำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสิบสองและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานดังกล่าวในข้อ 3 ที่ให้โจทก์ทั้งสามปรับเพิ่มเงินเดือนพื้นฐานให้พนักงานขับรถที่ไม่ได้กระทำความผิดและถูกลงโทษทางวินัยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 ของเงินเดือนพื้นฐาน ข้อ 4 ที่ให้โจทก์ทั้งสามจ่ายเงินเพิ่มพิเศษแก่พนักงานขับรถที่ได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติงานต่างจังหวัดในลักษณะเหมาจ่ายคืนละ 100 บาท ข้อ 5 ที่ให้โจทก์ทั้งสามจ่ายเงินโบนัสแก่พนักงานขับรถที่ไม่ได้กระทำความผิดและถูกลงโทษทางวินัยในสัดส่วนเท่ากับที่โจทก์ทั้งสามจ่ายให้พนักงานประจำสำนักงานและพนักงานซ่อมบำรุง และข้อ 6 ที่ให้โจทก์ทั้งสามจ่ายค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้แก่พนักงานขับรถในลักษณะเหมาจ่ายคนละ 150 บาทต่อเดือน ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานดังกล่าว
จำเลยทั้งสิบสองทั้งสามสำนวนให้การว่า จำเลยทั้งสิบสองดำเนินการสอบสวนพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสามและสหภาพแรงงานของบริษัทโจทก์ทั้งสามถูกต้องครบถ้วนตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และกระทำไปโดยสุจริต คำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสิบสองดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายและถึงที่สุดตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 23 โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…ที่ศาลแรงงานกลางยกฟ้องโจทก์ทั้งสามก็เนื่องจากโจทก์ทั้งสามไม่สามารถนำสืบพยาน ให้ศาลแรงงานกลางเห็นได้ว่าจำเลยทั้งสิบสองในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ฟังข้อเท็จจริงหรือใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานไม่ชอบอย่างไร และไม่สุจริตซึ่งตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามก็หาได้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางในส่วนนี้แต่ประการใด แต่กลับอุทธรณ์โต้แย้งเป็นทำนองว่า การตีความมาตรา 25 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ว่า คำชี้ขาดของคณะบุคคลคณะใดคณะหนึ่งที่รัฐมนตรีจะได้กำหนดหรือแต่งตั้งตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ให้เป็นที่สุดนั้น เป็นคำสั่งทางปกครองที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2510 มาตรา 6 ประกอบมาตรา 26 ว่าการใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐ ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และโต้แย้งว่าพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 หมวดที่ 2 ว่าด้วยวิธีระงับข้อพิพาทมาตรา 21 ถึงมาตรา 33 ก็ไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดไว้โดยชัดเจนว่า คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เป็นที่สุด และต้องห้ามใช้สิทธินำคดีไปสู่กระบวนการยุติธรรม โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิขอเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานดังกล่าวตามฟ้องได้เท่านั้น อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามจึงไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางในเหตุผลที่ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามดังกล่าวมาแล้วข้างต้นแต่กลับนำเรื่องอำนาจฟ้องที่ศาลแรงงานกลางไม่ได้ตัดสิทธิมาอุทธรณ์ ทั้งยกเรื่องที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางมาเป็นข้ออุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสาม จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสาม