คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2562/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

อ. เป็นผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ มาตรา 33 จ่ายเงินสมทบเพียง 9 เดือน ก่อนสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ทำให้ความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สิ้นสุดลงตามมาตรา 38 (2) อ. จึงไม่อาจเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 การที่สำนักงานประกันสังคมอนุมัติให้ อ. เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การรับเงินสมทบที่ อ. นำส่งตามมาตรา 39 จึงเป็นการรับโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ สำนักงานประกันสังคมจึงต้องคืนเงินสมทบเต็มจำนวนให้ทายาทของ อ. โดยไม่มีสิทธิหักเงินที่สำนักงานประกันสังคมเหมาจ่ายให้โรงพยาบาลเพื่อคุ้มครองสิทธิของ อ. ในฐานะผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ออกจากเงินสมทบดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรของนางสะอาด ผู้ประกันตน ซึ่งได้ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 33 ต่อมานางสะอาดออกจากงานจึงสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และส่งเงินสมทบตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2542 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2548 ต่อมาวันที่ 15 กันยายน 2548 นางสะอาดถึงแก่ความตาย โจทก์ขอรับเงินประโยชน์ทดแทนในกรณีถึงแก่ความตายเป็นเงิน 30,000 บาท แต่จำเลยอ้างว่านางสะอาดส่งเงินสมทบไม่ครบ 12 เดือน จึงไม่ได้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมีคำสั่งให้คืนเงินสมทบที่เก็บมาเฉพาะกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพแก่ทายาทของผู้ประกันตนซึ่งไม่เต็มจำนวนจากที่นางสะอาดได้ส่งเป็นเงินสมทบ ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1768/2548 และให้จำเลยคืนเงินสมทบในส่วนที่ส่งตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2542 ถึงเดือนกรกฎาคม 2548 พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า นางสะอาด เคยส่งเงินสมทบในฐานะผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 33 เพียง 9 เดือน ไม่ครบ 12 เดือน ตามเงื่อนไขที่มาตรา 39 กำหนด และได้ถึงแก่ความตายเกินกว่าหกเดือนหลังสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างตามมาตรา 33 จึงไม่ได้รับสิทธิตามมาตรา 38 วรรคสอง ส่วนเงินสมทบที่นางสะอาดนำส่งตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2542 ถึงเดือนกรกฎาคม 2548 นางสะอาดไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งแต่ได้ส่งเงินสมทบเข้ากองทุน คณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลยจึงได้พิจารณาคืนเงินสมทบกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพแก่ทายาทของนางสะอาดตามแนวปฏิบัติซึ่งชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า นางสะอาด เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งเป็นลูกจ้างของสถานประกอบกิจการร่วมค้า ที ซี เค ที (ที่ถูก บีซีเคที) และส่งเงินสมทบเป็นเวลา 9 เดือน ต่อมาเมื่อสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างแล้ว นางสะอาดได้ยื่นแบบแสดงความจำนงขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุรินทร์ได้อนุมัติให้เป็นผู้ประกันตนมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2542 นางสะอาดได้ส่งเงินสมทบตามมาตรา 39 มาโดยตลอดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2542 ถึงเดือนกรกฎาคม 2548 เป็นเงินทั้งสิ้น 24,030 บาท ต่อมานางสะอาดถึงแก่ความตาย โจทก์ซึ่งเป็นบุตรของนางสะอาดและเป็นผู้จัดการศพได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย จำเลยได้ตรวจสอบฐานข้อมูลเงินสมทบแล้วเห็นว่า นางสะอาดไม่ได้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จึงมีคำสั่งประโยชน์ทดแทนว่าไม่มีสิทธิได้รับค่าทำศพ แต่เห็นควรให้คืนเงินสมทบกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพแก่ทายาทเป็นเงิน 16,920.48 บาท จำเลยได้เหมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่โรงพยาบาลสุรินทร์ปีละ 1,100 บาท เป็นเวลา 7 ปี เป็นเงิน 7,700 บาท แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยรับเงินสมทบไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นการทำให้นางสะอาดเสียเปรียบซึ่งเป็นลาภมิควรได้จึงต้องคืนเงินสมทบเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โดยจำเลยไม่มีสิทธิหักเงิน 7,700 บาท ที่จำเลยเหมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่โรงพยาบาลสุรินทร์ เนื่องจากจำเลยรับเงินสมทบไว้โดยไม่สุจริต พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 29,858.27 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คงมีปัญหาต้องพิจารณาว่า จำเลยมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายจำนวน 7,700 บาท ที่จำเลยจ่ายให้แก่โรงพยาบาลตามสิทธิเพื่อคุ้มครองสิทธิของนางสะอาดในฐานะผู้ประกันตนหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง บัญญัติหลักเกณฑ์ไว้ชัดเจนว่า “ผู้ใดเคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 โดยจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบสองเดือน และต่อมาความเป็นผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลงตามมาตรา 38 (2) ถ้าผู้นั้นประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อไป ให้แสดงความจำนงต่อสำนักงานตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนดภายในหกเดือนนับแต่วันสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน” ดังนั้นเมื่อนางสะอาดซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จ่ายเงินสมทบเพียง 9 เดือน ก่อนสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง อันทำให้ความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สิ้นสุดลงตามมาตรา 38 (2) นางสะอาดจึงไม่อาจเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้ การที่จำเลยอนุมัติให้นางสะอาดเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่มีสิทธิรับเงินสมทบที่นางสะอาดนำส่งตามมาตรา 39 วรรคสาม การที่จำเลยรับเงินสมทบดังกล่าวไว้จึงเป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ ซึ่งจำเลยเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 จำเลยจึงมีหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติของบุคคลผู้ที่ประสงค์จะเข้าเป็นผู้ประกันตนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวตั้งแต่บุคคลนั้นแสดงความประสงค์ขอเข้าเป็นผู้ประกันตน มิใช่อนุมัติให้ทันทีโดยไม่มีการตรวจสอบคุณสมบัติก่อนแล้วมาทำการตรวจสอบในภายหลังเมื่อมีการขอรับประโยชน์ทดแทนส่วนอื่นๆ การที่จำเลยละเลยหน้าที่ดังกล่าวจะไม่ว่าด้วยเหตุที่อ้างว่าเพื่อความรวดเร็วให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทันทีในส่วนความคุ้มครองด้านการรักษาพยาบาล ย่อมเป็นการละเลยหน้าที่ตามกฎหมาย จึงเป็นการรับเงินสมทบดังกล่าวจากนางสะอาดไว้โดยไม่สุจริต จำเลยจึงไม่อาจหักค่าใช้จ่ายจำนวน 7,700 บาท ไว้ได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share