คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3425/2545

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ธนาคารโจทก์ให้บริษัท ส. กู้ยืมเงิน โดยมีจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท ส. เป็นผู้ค้ำประกัน และจำเลยที่ 2 ภริยาจำเลยที่ 1 ลงชื่อเป็นพยานและให้ความยินยอมต่อมาบริษัท ส. ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 โดยมิได้ฟ้องบริษัท ส. เมื่อปรากฏว่าจำเลยทั้งสองรับสำเนาคำฟ้องและยื่นคำให้การแล้ว มิได้โต้แย้งว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 7แต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่มีปัญหาว่าคดีนี้จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใดอันเป็นเหตุที่จะต้องส่งเรื่องไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยตามมาตรา 9 ทั้งจำเลยทั้งสองก็ยอมรับดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นสืบพยานโจทก์และนำพยานจำเลยทั้งสองเข้าสืบอีกด้วย แสดงว่าจำเลยทั้งสองยอมรับอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาแต่แรกจนเป็นการล่วงเลยขั้นตอนหรือกระบวนการพิจารณาที่จะโต้แย้งในปัญหาดังกล่าวแล้ว ถือได้ว่าไม่มีปัญหาเรื่องอำนาจศาลอีกต่อไป
การที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ว่าหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นให้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการนั้น มิได้หมายความว่าจะตัดสิทธิคู่กรณีมิให้นำเสนอต่อศาลเสียทีเดียว เพราะอาจมีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่น หรือทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นก็ได้ ดังนั้น การที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ตกลงกันให้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดกันแล้ว หากคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าอีกฝ่ายไม่ปฏิบัติตามสัญญา ก็ชอบที่จะให้การโต้แย้งหรือยื่นคำร้องต่อศาลก่อนวันสืบพยานหรือก่อนมีคำพิพากษาในกรณีไม่มีการสืบพยาน เมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าไม่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ ก็จะสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้ไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการต่อไปตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 10 แต่คดีนี้แม้จำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันอาจมีสิทธิยกข้อต่อสู้เกี่ยวกับข้อสัญญาการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการให้เป็นผู้ชี้ขาดระหว่างโจทก์กับบริษัท ส. ซึ่งเป็นข้ออ้างที่บริษัท ส. มีอยู่ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ก็ตามแต่จำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งถึงอำนาจฟ้องของโจทก์ในเรื่องดังกล่าว ทั้งจำเลยที่ 1 มิได้ยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ก่อนวันสืบพยานเพื่อให้ศาลไต่สวนถึงเหตุที่โจทก์นำคดีมาฟ้องโดยมิได้ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการนั้นว่าชอบหรือไม่แต่อย่างใดถือว่าจำเลยที่ 1 ได้สละสิทธิเกี่ยวกับข้อสัญญาเรื่องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดระหว่างกันแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
การที่จำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นพยานและเป็นผู้ให้ความยินยอมในฐานะภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันหนี้ของบริษัท ส. แม้ว่าจำเลยที่ 1 จะมิได้มีส่วนรับเงินไปใช้เป็นการส่วนตัวหรือกิจการของครอบครัวก็ตามแต่หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการที่จำเลยที่ 1 สามีก่อขึ้นในระหว่างสมรส เพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวโดยจำเลยที่ 2ผู้ภริยาได้ให้สัตยาบันแล้ว จึงเป็นหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1490(4) จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์
แม้ทางนำสืบของโจทก์จะไม่มีหลักฐานใดมาแสดงว่าอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมที่มีการเสนอกันระหว่างธนาคารพาณิชย์ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ (SingaporeInterbank OfferedRate:SIBOR) คิดกันในอัตราร้อยละเท่าใดต่อปีก็ตามแต่อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวนั้นเป็นเพียงตัวตั้งเบื้องต้นของสูตรคำนวณอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์และบริษัท ส. ตกลงกัน โดยเขียนเป็นสูตรคำนวณอัตราดอกเบี้ยต่อปีได้ว่า SIBOR+0.8%+11.111%(SIBOR) ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่บริษัท ส. จะรับผิดชดใช้ให้โจทก์มากน้อยเท่าใดจึงขึ้นอยู่กับ SIBOR เท่านั้นหาได้หมายความว่าเมื่อโจทก์ไม่นำสืบถึงอัตราดอกเบี้ย SIBOR ว่าเป็นเท่าใดแล้ว จะให้ถือว่าการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์และบริษัท ส. ไม่ได้กำหนดดอกเบี้ยกันไว้ไม่เพราะหลังจากที่บริษัท ส. รับเงินที่กู้ยืมจากโจทก์แล้ว มีการคิดคำนวณดอกเบี้ยตามสูตรดังกล่าว ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตลอดมาตามอัตราดอกเบี้ยของ SIBOR ที่เป็นฐานคิดคำนวณนั้นเอง โดยที่บริษัท ส. มิได้โต้แย้งแต่ประการใด ดังนั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตรา 10.0847 ต่อปีหลังจากที่บริษัท ส. ผิดนัด จึงชอบแล้ว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้โจทก์ด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐอันเป็นเงินตราต่างประเทศ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคหนึ่ง ให้สิทธิแก่จำเลยทั้งสองเลือกที่จะชำระเงินด้วยเงินตราต่างประเทศหรือเงินไทยก็ได้ตามแต่จะสมัครใจ หากจำเลยทั้งสองเลือกชำระเป็นเงินไทยก็ต้องชำระเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินในสถานที่และเวลาใช้เงินตามมาตรา 196 วรรคสอง ฉะนั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ พิพากษาว่าในกรณีที่จำเลยทั้งสองจะชำระเป็นเงินบาทให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ขายให้แก่ลูกค้าในวันที่ใช้เงินจริง ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ใช้เงินจริง ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นว่านั้นก่อนวันดังกล่าวในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งให้ทราบถึงอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ (อัตราอ้างอิง) ก็ให้ถืออัตราดังกล่าวเป็นเกณฑ์คำนวณนั้น ย่อมเป็นการแสดงให้จำเลยทั้งสองทราบถึงสิทธิของตนที่จะชำระหนี้ด้วยเงินไทยก็ได้ มิได้ก่อให้ฝ่ายใดได้เปรียบในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่อกันแต่อย่างใด คำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯมาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์และได้รับอนุญาตให้ตั้งสำนักงานวิเทศธนกิจกรุงเทพ โดยมีนายฟรองซัว แวน เดน บอช (Mr. Francois van den Bosch) เป็นผู้รับมอบอำนาจ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2538ธนาคารโจทก์สำนักงานวิเทศธนกิจกรุงเทพ ให้บริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด กู้ยืมเงินจำนวน 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ย กำหนดเวลาชำระหนี้และการผิดนัด ผู้กู้ได้รับมอบเงินกู้ไปจากโจทก์แล้วในวันที่ 10 สิงหาคม 2538 ในการกู้ยืมเงินมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อครบกำหนดผู้กู้ชำระหนี้เพียงบางส่วนแล้วผิดนัด คงค้างชำระต้นเงินจำนวน 1,540,000 ดอลลาร์สหรัฐ และดอกเบี้ยจำนวน 30,410.50 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยที่ 2 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 และได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์ ถือเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา ซึ่งโจทก์มีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,570,410.50 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.0847 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 1,540,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันฟ้องแก่โจทก์ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ซึ่งทำขึ้นในต่างประเทศไม่ใช่เอกสารที่แท้จริง ลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจไม่ใช่ลายมือชื่อของกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ และไม่มีกงสุลไทยหรือเจ้าพนักงานโนตารีปับลิกหรือแมยิสเตร็ดหรือบุคคลอื่นซึ่งกฎหมายแห่งท้องถิ่นตั้งให้เป็นผู้มีอำนาจเป็นพยานในเอกสาร ทั้งไม่มีใบสำคัญของรัฐบาลประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศสแสดงว่าบุคคลที่เป็นพยานนั้นเป็นผู้มีอำนาจกระทำการได้ การมอบอำนาจไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 47 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง หนังสือให้สินเชื่อ สัญญาค้ำประกันและหนังสือแก้ไขหนังสือให้สินเชื่อซึ่งเป็นเอกสารแนบท้ายคำฟ้องโจทก์ไม่ได้ส่งคำแปลให้จำเลยที่ 1 และโจทก์ไม่บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าลูกหนี้ของโจทก์กู้เงินไปเมื่อใด จำนวนเท่าใด รับเงินไปครบถ้วนอย่างไรหรือไม่ ชำระหนี้อย่างไร และคิดดอกเบี้ยอัตราเท่าใดตั้งแต่เมื่อใด ซึ่งทำให้จำเลยที่ 1 ไม่เข้าใจสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับของโจทก์ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องเคลือบคลุมลูกหนี้ของโจทก์ไม่เคยผิดนัด โจทก์ไม่เคยบอกเลิกสัญญาและไม่เคยบอกกล่าวทวงถามให้ผู้กู้ชำระหนี้แก่โจทก์ ผู้กู้ชำระหนี้แก่โจทก์แล้วคงเหลือจำนวนไม่เกิน 20,000,000 บาท โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีเท่านั้น ไม่ใช่อัตราตามคำฟ้อง ผู้กู้มีตัวตนและมิได้ล้มละลาย ทั้งมีทรัพย์สินจำนวนมากพอชำระหนี้ได้โจทก์ควรเรียกร้องให้ผู้กู้ชำระหนี้คืนโจทก์โดยตรงซึ่งไม่เป็นการยาก ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ต่อโจทก์เลย จำเลยที่ 2 เพียงลงลายมือชื่อเป็นพยานในการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ของบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,540,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ10.0847 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2541 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่เฉพาะ(1) ดอกเบี้ยคำนวณตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2541 ถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2541 ต้องไม่เกินจำนวน 10,785.83 ดอลลาร์สหรัฐ (2) ดอกเบี้ยคำนวณตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม2541 ถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2541 ต้องไม่เกินจำนวน 32,355.08 ดอลลาร์สหรัฐ (3) ดอกเบี้ยทั้งสองรายการตาม (1) และ (2) รวมกันต้องไม่เกินจำนวน 43,140.91ดอลลาร์สหรัฐ และ (4) เมื่อนำเงินจำนวน 12,730.41 ดอลลาร์สหรัฐ ไปหักออกจากผลรวมของ (1) และ (2) ตามรายการ (3) แล้วต้องไม่เกินจำนวน 30,410.50 ดอลลาร์สหรัฐในกรณีที่จำเลยทั้งสองจะชำระเป็นเงินบาท ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ขายให้ลูกค้าในวันที่ใช้เงินจริง ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันใช้เงินจริงให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นว่านั้นก่อนวันดังกล่าว ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศแจ้งให้ทราบถึงอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ (อัตราอ้างอิง)ก็ให้ถืออัตราดังกล่าวเป็นเกณฑ์คำนวณ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส โจทก์ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจในประเทศไทย โดยตั้งเป็นสำนักงานวิเทศธนกิจกรุงเทพมีนายฟรองซัว แวน เดน บอช เป็นผู้จัดการ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2538 โจทก์ให้บริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด กู้ยืมเงินจำนวน 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐตามหนังสือให้สินเชื่อ (Letter of offer) ทั้งนี้มีจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด เข้าทำสัญญาค้ำประกันบริษัทสยามอินดัสเทรียลคอร์ปอเรชั่น จำกัด ต่อโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นพยานและให้ความยินยอม จำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญาค้ำประกันดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.8 ต่อมาบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามสัญญา โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย
สำหรับปัญหาตามที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ประการแรกว่า ตามข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ให้บริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ยืมเงินจากโจทก์และเป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันให้รับผิดต่อโจทก์ โดยไม่ได้ฟ้องบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 จึงเป็นมูลหนี้ที่เกิดจากค้ำประกันการกู้ยืมเงินกันธรรมดาเท่านั้นที่ทำกันในประเทศไทย ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 7 นั้นเห็นว่า แม้ตามคำฟ้องจะได้ความว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่เป็นผู้เข้าทำสัญญาค้ำประกันบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้กู้เงินจากโจทก์เท่านั้น โดยไม่ได้ฟ้องบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด มาด้วยก็ตาม แต่เมื่อจำเลยทั้งสองได้รับสำเนาคำฟ้อง จนกระทั่งยื่นคำให้การแล้ว จำเลยทั้งสองก็มิได้โต้แย้งว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 7แต่อย่างใด ดังนั้น กรณีจึงไม่มีปัญหาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางว่า คดีเรื่องนี้จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรือศาลยุติธรรมอื่น ซึ่งหมายถึงศาลชั้นต้นในระดับเดียวกัน อันเป็นเหตุที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต้องส่งเรื่องไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 9 หรือไม่ ทั้งปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยอมรับดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นสืบพยานโจทก์และนำพยานจำเลยทั้งสองเข้าสืบอีกด้วย อันแสดงว่าจำเลยทั้งสองยอมรับอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมาแต่แรกจนเป็นการล่วงเลยขั้นตอนหรือกระบวนพิจารณาที่จะโต้แย้งในปัญหาเกี่ยวกับอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแล้ว อันถือได้ว่าไม่มีปัญหาเรื่องอำนาจศาลตามที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์มาดังกล่าวในชั้นนี้ที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจะวินิจฉัยให้อีกต่อไป จึงไม่รับวินิจฉัยให้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ประการที่ 2 ว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามสัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัดหน้า 6 ในข้อ “กฎหมายและศาลที่ให้บังคับ” กำหนดว่า “หนังสือสัญญาการให้ใช้วงเงินสินเชื่อฉบับนี้ เอกสารอื่นใดที่เกี่ยวข้องทั้งหมดสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาให้อยู่ภายใต้ข้อบังคับและกฎหมายของประเทศไทย ข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทใดที่เกิดขึ้นจากหนังสือให้สินเชื่อนี้ให้ดำเนินการระงับข้อพิพาทดังกล่าวในประเทศไทยตามกฎข้อบังคับว่าด้วยวิธีการระงับข้อพิพาทโดยการประนอมข้อพิพาทและอนุญาโตตุลาการของหอการค้าระหว่างประเทศโดยแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการจำนวน 3 ท่าน ขึ้นตามกฎข้อบังคับเช่นว่านั้น” อันเป็นการกำหนดให้ระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับบริษัทสยามอินดัสเทรียลคอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นมาวินิจฉัยเท่านั้นจำเลยทั้งสองในฐานะผู้ค้ำประกันจึงมีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 694 ที่บัญญัติว่า “นอกจากข้อต่อสู้ซึ่งผู้ค้ำประกันมีต่อเจ้าหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันยังอาจยกข้อต่อสู้ทั้งหลายซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วย” โจทก์จึงต้องแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นมาวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเช่นกัน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลได้นั้น เห็นว่า การที่คู่กรณีมีข้อสัญญากันไว้ว่าหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นให้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการนั้น ก็มิได้หมายความว่าจะตัดสิทธิมิให้คู่กรณีนำคดีฟ้องต่อศาลเสียทีเดียว เพราะอาจมีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่นหรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นก็เป็นได้ ที่เป็นเหตุให้ไม่สามารถนำข้อพิพาทเสนอต่ออนุญาโตตุลาการได้ ดังนั้น ในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ตกลงกันให้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดระหว่างกันแล้ว หากคู่สัญญาฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าฝ่ายนั้นไม่ปฏิบัติตามสัญญาในการที่จะต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ ก็ชอบที่ให้การโต้แย้งหรือยื่นคำร้องต่อศาลก่อนวันสืบพยานหรือก่อนมีคำพิพากษาในกรณีที่ไม่มีการสืบพยาน เมื่อศาลทำการไต่สวนแล้วไม่ได้ความว่ามีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่นหรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้แล้ว ศาลจึงจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่สัญญาไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการต่อไปตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 เกี่ยวกับคดีนี้แม้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันอาจจะมีสิทธิยกข้อต่อสู้เกี่ยวกับข้อสัญญาการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการให้เป็นผู้ชี้ขาดระหว่างโจทก์และบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่นจำกัด ที่บริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด มีอยู่ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ดังเช่นจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็มิได้ให้การโต้แย้งถึงอำนาจฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับการที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการให้เป็นผู้ชี้ขาดก่อนแต่อย่างใด ทั้งจำเลยที่ 1 มิได้ยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก่อนวันสืบพยานเพื่อให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ไต่สวนถึงเหตุที่โจทก์นำคดีมาฟ้องโดยมิได้ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการนั้นว่าชอบหรือไม่แต่อย่างใดตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ. 2530 มาตรา 10 กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้สละสิทธิเกี่ยวกับข้อสัญญาเรื่องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดระหว่างกันแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ประการที่ 3 ว่าจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาค้ำประกันการกู้ยืมระหว่างโจทก์กับบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด เท่านั้น มิได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ ทั้งเงินตามสัญญาบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ก็นำไปใช้ในกิจการของบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด จำเลยที่ 1 มิได้นำไปใช้เป็นการส่วนตัวหรือกิจการของครอบครัว การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามคำฟ้องให้แก่โจทก์ จึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงในทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 ได้เข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมระหว่างโจทก์กับบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ต่อโจทก์โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นพยานและเป็นผู้ให้ความยินยอมในฐานะเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.8 มิใช่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ดังที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์แต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ต่อโจทก์ในการที่บริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ดังกล่าวนั้น แม้บริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้รับเงินไปใช้ในกิจการของบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยที่จำเลยที่ 1 มิได้มีส่วนรับเงินไปใช้เป็นการส่วนตัวหรือกิจการของครอบครัวดังที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ก็ตาม แต่หนี้ที่เกิดขึ้นจากสัญญาค้ำประกันก็ถือได้ว่าเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการที่จำเลยที่ 1 สามีก่อขึ้นในระหว่างสมรสเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวที่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นภริยาได้ให้สัตยาบันแล้ว จึงเป็นหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1590(4) จำเลยทั้งสองต้องรับผิดใช้หนี้ตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ร่วมกัน การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามคำฟ้องให้แก่โจทก์จึงเป็นการชอบแล้วอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ประการที่ 4 ว่า ที่โจทก์อ้างว่าคิดดอกเบี้ยคำนวณจากอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมเงินที่เสนอกันระหว่างธนาคารพาณิชย์ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ (Singapore Interbank offered Rate : SIBOR) บวกด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.8 ต่อปี และบวกด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 11.111 ของ SIBORต่อปีนั้น ทางพิจารณาโจทก์มิได้นำหลักฐานใด ๆ มาแสดงให้เห็นถึงอัตราดอกเบี้ยที่เสนอกันดังกล่าวเลยว่าได้มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยกันไว้ร้อยละเท่าใด เมื่อโจทก์พิสูจน์ถึงอัตราดอกเบี้ยที่เรียกร้องดังอ้างไม่ได้ ต้องถือว่าไม่ได้มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยกันไว้โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.0847 ต่อปี จึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า แม้ตามทางนำสืบของโจทก์จะไม่ได้มีหลักฐานใด ๆ มาแสดงว่าอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมที่มีการเสนอกันระหว่างธนาคารพาณิชย์ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์(Singapore Interbank offered Rate : SIBOR) คิดกันในอัตราร้อยละเท่าใดต่อปีก็ตามแต่อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมที่มีการเสนอกันระหว่างธนาคารพาณิชย์ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ (SIBOR) นั้นเป็นเพียงตัวตั้งเบื้องต้นของสูตรคำนวณอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์และบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ตกลงกันไว้ในหนังสือให้สินเชื่อ (Letterof Offer) ที่เขียนเป็นสูตรคำนวณอัตราดอกเบี้ยต่อปีได้ว่า SIBOR + 0.8% + 11.111 %(SIBOR) ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่บริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด จะรับผิดชดใช้ให้โจทก์จะมากน้อยเท่าใดจึงขึ้นอยู่กับ SIBOR เท่านั้น มิได้หมายความว่าเมื่อโจทก์มิได้นำสืบถึงอัตราดอกเบี้ยของ SIBOR เป็นเท่าใดแล้ว จะให้ถือว่าการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์และบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ไม่ได้กำหนดดอกเบี้ยกันไว้ดังเช่นที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ เพราะหลังจากที่บริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด รับเงินที่กู้ยืมจากโจทก์แล้ว ก็ได้มีการคิดคำนวณอัตราดอกเบี้ยตามสูตรดังกล่าว ซึ่งบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับลงวันที่ 10 สิงหาคม 2538 ตกลงชำระดอกเบี้ยให้โจทก์อัตราร้อยละ 7.3972 ต่อปีตามเอกสารหมาย จ.11 หลังจากนั้น โจทก์มีหนังสือถึงบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ฉบับลงวันที่ 13 สิงหาคม 2539 กำหนดให้บริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.1368 ต่อปีตามเอกสารหมาย จ.14 และจากนั้นอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องจากบริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ก็มีการเปลี่ยนแปลงกันตลอดมา ซึ่งก็คงขึ้นลงตามอัตราดอกเบี้ยของ SIBOR ที่เป็นฐานคิดคำนวณนั้นเอง โดยที่บริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด มิได้โต้แย้งแต่อย่างใดตาม เอกสารหมาย จ.17,จ.18, จ.20, จ.21, จ.23, จ.24, จ.26, จ.27, จ.29, จ.30, จ.32 ถึง จ.39, จ.41, จ.42และ จ.44 ถึง จ.49 ซึ่งตามเอกสารหมาย จ.49 เป็นหนังสือของโจทก์ฉบับลงวันที่ 26มิถุนายน 2541 แจ้งให้บริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ชำระหนี้ภายในวันที่26 กรกฎาคม 2541 กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ร้อยละ 10.0847 ต่อปี อันเป็นอัตราดอกเบี้ยปกติตามหนังสือให้สินเชื่อ (Letter of Offer) การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10.0847 ต่อปีหลังจากที่ริษัทสยามอินดัสเทรียล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผิดนัดตามที่โจทก์ขอนั้นชอบแล้วอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า ตามคำฟ้องโจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 1,570,410.50 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.0847 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 1,540,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดในเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว ยังพิพากษาต่อไปอีกว่า ในกรณีที่จำเลยทั้งสองจะชำระเป็นเงินบาทให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ขายให้ลูกค้าในวันที่ใช้เงินจริง ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันใช้เงินจริง ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นนั้นก่อนวันดังกล่าว ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศแจ้งให้ทราบถึงอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ (อัตราอ้างอิง) ก็ให้ถืออัตราดังกล่าวเป็นเกณฑ์คำนวณนั้น เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง จึงขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 นั้น เห็นว่าตามคำฟ้องของโจทก์ได้ขอให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้โจทก์ด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐ อันเป็นเงินตราต่างประเทศ ซึ่งในการชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศดังกล่าวนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ถ้าหนี้เงินได้แสดงไว้เป็นเงินตราต่างประเทศ ท่านว่าจะใช้เป็นเงินไทยก็ได้” อันเป็นการให้สิทธิแก่จำเลยทั้งสองผู้เป็นลูกหนี้ที่จะเลือกชำระเงินให้โจทก์ด้วยเงินตราต่างประเทศตามที่โจทก์ขอหรือจะชำระด้วยเงินไทยก็ได้ตามแต่จำเลยทั้งสองจะสมัครใจ หากจำเลยทั้งสองเลือกจะชำระเป็นเงินไทย จำเลยทั้งสองก็ต้องชำระเงินไทยให้โจทก์ตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินในสถานที่และเวลาใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตา 196 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “การเปลี่ยนเงินนี้ ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน” เมื่อพิจารณาคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ที่ว่า”ในกรณีที่จำเลยทั้งสองจะชำระเป็นเงินบาท ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ขายให้ลูกค้าในวันที่ใช้เงินจริง ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันใช้เงินจริงให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นว่านั้นก่อนวันดังกล่าวในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งให้ทราบถึงอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ (อัตราอ้างอิง) ก็ให้ถืออัตราดังกล่าวเป็นเกณฑ์คำนวณ” ก็เป็นการแสดงให้จำเลยทั้งสองทราบถึงสิทธิของจำเลยทั้งสองที่จะชำระหนี้ให้โจทก์ด้วยเงินไทยก็ได้ โดยถืออัตราแลกเปลี่ยนเงินตามสถานที่และวันที่ใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคสองนั้นเอง มิได้ก่อให้ฝ่ายใดได้เปรียบในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่อกันแต่อย่างใด คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดังกล่าวนั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์หรือขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share