คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5740/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในเรื่องทางจำเป็น กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของที่ดินที่ถูกปิดล้อมโดยเฉพาะ ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เจ้าของที่ดินเท่านั้นที่จะมีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นได้ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นเพียงผู้ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 เท่านั้น แม้จะฟังได้ว่าที่ดินดังกล่าวถูกที่ดินแปลงอื่นปิดล้อม โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็น
โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 5 ส.น. และ ม. เป็นเจ้าของรวมในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 โดยมิได้แบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดว่าผู้ใดเป็นเจ้าของที่ดินส่วนใด ความเป็นเจ้าของของแต่ละคนจึงครอบที่ดินทั้งแปลง ดังนั้น เจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งจึงอาจใช้สิทธิในฐานะเป็นเจ้าของรวมครอบที่ดินทั้งแปลงเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 การที่โจทก์ที่ 4 และที่ 5 ใช้สิทธิฟ้องจำเลยขอให้เปิดทางจำเป็นจึงเป็นการใช้สิทธิแทนเจ้าของรวมอื่นซึ่งรวมถึง ส. ด้วย กล่าวคือหากโจทก์ที่ 4 และที่ 5 มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นได้ ทางดังกล่าวย่อมได้ประโยชน์แก่เจ้าของรวมทุกคน แต่ ส. เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ 2528 ซึ่งด้านหนึ่งติดถนนสาธารณะอีกด้านหนึ่งติดกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 ส. จึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นสำหรับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 เพราะจากที่ดินแปลงดังกล่าวสามารถเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้โดยผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 2528 ของ ส. เอง การที่ ส. ปลูกสร้างอาคารในที่ดินโฉนดเลขที่ 2528 โดยเว้นทางเข้าออกด้านที่ติดกับที่ดินของจำเลยไว้เพียงประมาณ 1 เมตร เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 4 และที่ 5 ไม่สามารถนำรถยนต์ผ่านเข้าออกได้แต่ยังคงเดินเข้าออกได้นั้นเป็นเพียงทำให้ความสะดวกของโจทก์ที่ 4 และที่ 5 ในการเข้าออกสู่ทางสาธารณะลดลงเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 ไม่มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์ที่ 4 และที่ 5 จึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็น

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าฟ้อง ขอให้พิพากษาว่าทางเดินตามแผนที่เอกสารท้ายฟ้องกว้างประมาณ 2.5 เมตร ยาวประมาณ 9 เมตร คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 4 ตารางวา ด้านทิศเหนือของที่ดินโฉนดเลขที่ 18643 ตำบลกร่าง ตำบลกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย เป็นทางภาระจำยอม ให้จำเลยรื้อถอนรั้วที่ล้อมปิดกั้นทางเดินออกไป หากจำเลยเพิกเฉยให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีโดยค่าใช้จ่ายของจำเลย
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 3 ตารางวา ตามแผนที่วิวาท (ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2545) อันให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาด้วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 18643 ตำบลบ้านกร่าง อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ของจำเลยเป็นทางจำเป็นของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 ตำบลบ้านกร่าง อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ให้จำเลยรื้อถอนรั้วออกจากทางพิพาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่าโจทก์ทั้งห้ามีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นในที่ดินโฉนดเลขที่ 18643 ตำบลบ้านกร่าง อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ของจำเลยหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 4 และที่ 5 กับนางสาวเสริมสุข นางน้อยและนายม้วนเป็นเจ้าของรวมในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 ตำบลบ้านกร่าง อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย โดยในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ระบุคำนำหน้านามของโจทก์ที่ 4 ว่า “นาย” ตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 นางเสริมสุขเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2528 ตำบลบ้านกร่าง อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.8 นางเสริมสุข วรศิริเป็นบุคคลคนเดียวกับนางสาวเสริมสุข บุญประครองซึ่งเป็นบุตรโจทก์ที่ 1 ที่ดินโฉนดเลขที่ 18643 ของจำเลย และที่ดินโฉนดเลขที่ 2528 ของนางเสริมสุขติดถนนสาธารณะ ส่วนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 ของโจทก์ที่ 4 ที่ 5 และนางเสริมสุขไม่ติดถนนสาธารณะ ตามแผนที่ในเอกสารหมาย จ.2 จ.8 จ.1 และ จ.4 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เอกสารหมาย จ.1 แต่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าว เห็นว่าในเรื่องทางจำเป็นนั้น กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของที่ดินที่ถูกปิดล้อมโดยเฉพาะ ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เจ้าของที่ดินเท่านั้นที่จะมีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นได้ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นเพียงผู้ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 เท่านั้น แม้จะฟังได้ว่าที่ดินดังกล่าวถูกที่ดินแปลงอื่นปิดล้อม โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็น
ปัญหาว่า โจทก์ที่ 4 และที่ 5 มีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นในที่ดินของจำเลยหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2528 ของนางเสริมสุข อยู่ทางทิศเหนือของที่ดินโฉนดเลขที่ 18643 ของจำเลยและที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 ของโจทก์ที่ 4 ที่ 5 และนางเสริมสุข จากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 สามารถเดินเข้าออกสู่ทางสาธารณะโดยผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 2528 ของนางเสริมสุขทางด้านที่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 18643 ของจำเลยได้ แต่ไม่สามารถใช้รถยนต์ผ่านได้เพราะปากทางมีความกว้างเพียงประมาณ 1 เมตร โดยนางเสริมสุขปลูกสร้างร้านค้าในที่ดินของนางเสริมสุขที่ติดกับที่ดินของจำเลยโดยเว้นทางเข้าออกตรงปากทางไว้ประมาณ 1 เมตร โจทก์ที่ 4 ที่ 5 นางเสริมสุข นางน้อย และนายม้วนเป็นเจ้าของรวมในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 โดยมิได้แบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดว่าผู้ใดเป็นเจ้าของที่ดินส่วนใด ความเป็นเจ้าของของแต่ละคนจึงครอบที่ดินทั้งแปลง ดังนั้น เจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งจึงอาจใช้สิทธิในฐานะเป็นเจ้าของรวมครอบครองที่ดินทั้งแปลงเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 การที่โจทก์ที่ 4 และที่ 5 ใช้สิทธิฟ้องจำเลยขอให้เปิดทางจำเป็นจึงเป็นการใช้สิทธิแทนเจ้าของรวมอื่นซึ่งรวมถึงนางเสริมสุขด้วย กล่าวคือหากโจทก์ที่ 4 และที่ 5 มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นได้ ทางดังกล่าวย่อมได้ประโยชน์แก่เจ้าของรวมทุกคน แต่นางเสริมสุขเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2528 ซึ่งด้านหนึ่งติดถนนสาธารณะอีกด้านหนึ่งติดกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 นางเสริมสุขจึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นสำหรับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 เพราะจากที่ดินแปลงดังกล่าวสามารถเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้โดยผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 2528 ของนางเสริมสุขเอง การที่นางเสริมสุขปลูกสร้างอาคารในที่ดินโฉนดเลขที่ 2528 โดยเว้นทางเข้าออกด้านที่ติดกับที่ดินของจำเลยไว้เพียงประมาณ 1 เมตร เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 4 และที่ 5 ไม่สามารถนำรถยนต์ผ่านเข้าออกได้แต่ยังคงเดินเข้าออกได้นั้นเป็นเพียงทำให้ความสะดวกของโจทก์ที่ 4 และที่ 5 ในการเข้าออกสู่ทางสาธารณะลดลงเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 ไม่มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์ที่ 4 และที่ 5 จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share