แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การส่งหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ กระทำได้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 8 วรรคแรก และจะถือว่าโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อใดต้องนำไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2534 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจ ตามความในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดข้อพิพาทมาใช้บังคับ ไปรษณียนิเทศดังกล่าวข้อ 572 กำหนดว่า “สิ่งของส่งทางไปรษณีย์ อาจนำจ่ายให้แก่ผู้รับหรือผู้แทนของผู้รับก็ได้” ข้อ 573 กำหนดว่า”ในกรณีนำจ่าย ณ ที่อยู่ของผู้รับ การสื่อสารแห่งประเทศไทยถือว่าบุคคลต่อไปนี้เป็นผู้แทนของผู้รับคือ มาตรา 573.4 ผู้ทำหน้าที่เวรรับส่งหรือเวรรักษาการณ์ของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น บริษัท กรม กอง สำนักงาน โรงเรียน หน่วยทหารเป็นต้น”และข้อ 575 กำหนดว่า “สิ่งของส่งทางไปรษณีย์ที่นำจ่ายให้แก่ ผู้แทนของผู้รับ ให้ถือว่าได้นำจ่ายให้แก่ผู้รับแล้วนับแต่วันเวลา ที่นำจ่าย” ดังนั้น แม้ส. จะไม่ได้เป็นพนักงานของโจทก์และไม่มีหน้าที่รับจดหมายหรือเอกสารแทนโจทก์ แต่ส. ได้ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่สำนักงานของโจทก์ในวันหยุดทำงาน จึงเป็นการทำหน้าที่เป็นเวรรักษาการณ์ของสำนักงานโจทก์นั่นเอง เมื่อส.ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จากพนักงานการสื่อสารแห่งประเทศไทยแล้วตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2540 ย่อมถือได้ว่าส.เป็นผู้แทนโจทก์และหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ได้นำจ่ายให้แก่ผู้รับคือโจทก์ตั้งแต่ วันดังกล่าว ตามไปรษณียนิเทศ ข้อ 573.4 และ ข้อ 575 ดังกล่าวข้างต้น มาตรา 30(2) แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ต่อศาลภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ มิใช่นับแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ดังนั้นเมื่อโจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในวันที่ 27 ธันวาคม 2540 แม้โจทก์จะทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ในวันที่ 29 ธันวาคม 2540 โจทก์ก็ต้องอุทธรณ์ต่อศาลหรือ ฟ้องคดีขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว ภายในวันที่ 26 มกราคม 2541 หากมีพฤติการณ์พิเศษเป็นเหตุ ให้โจทก์ไม่สามารถอุทธรณ์ต่อศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ โจทก์ต้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาต่อศาลก่อนระยะเวลา ดังกล่าวสิ้นสุดลง เว้นแต่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบมาตรา 17แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 การที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นฟ้องตามคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฟ้องคดีของโจทก์ลงวันที่ 28 มกราคม 2541 ซึ่งเกินกำหนด 30 วันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวโดยสำคัญผิดว่าโจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2540จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฟ้องคดีต่อศาลหลังจากสิ้นระยะเวลาตามกฎหมาย แล้ว โดยมิได้มีเหตุสุดวิสัยแต่อย่างใดโจทก์จึงไม่อาจอาศัย คำสั่งอนุญาตดังกล่าวมาฟ้องคดีนี้ได้
ย่อยาว
โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำฟ้องว่า โจทก์ได้รับทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2540 โจทก์ติดต่อทนายความเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2541 และวันที่ 28 มกราคม 2541 เป็นวันตรุษจีนโจทก์หยุดทำการไม่สามารถหาเอกสารมาเพื่อจัดทำคำอุทธรณ์ต่อศาลได้ จึงขอขยายระยะเวลายื่นคำฟ้องออกไป 30 วัน นับแต่วันยื่นคำร้องศาลภาษีอากรกลางอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นคำฟ้องออกไป 20 วัน นับแต่วันยื่นคำร้อง
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ประเมินให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนตุลาคม ถึงธันวาคม 2537 พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามมาตรา 89(4) และ 89/1 รวมเป็นเงิน 2,120,240 บาท
จำเลยให้การว่า การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้วโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เนื่องจากโจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีภายในกำหนดตามมาตรา 30(2) ศาลภาษีอากรกลางไม่มีอำนาจขยายระยะเวลา เพราะระยะเวลาตามมาตรา 30(2) เป็นอายุความในการฟ้องคดี มิใช่กำหนดระยะเวลาในทางพิจารณาความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 หรือระยะเวลาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 การที่ศาลภาษีอากรกลางอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นคำฟ้องให้โจทก์นั้น ก็มิใช่กรณีมีพฤติการณ์พิเศษทั้งกรณีไม่มีเหตุสุดวิสัยที่โจทก์จะยื่นคำร้องขอให้ขยายระยะเวลายื่นคำฟ้องเกินกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 30(2) ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกมีว่า โจทก์ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อใด ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายสมชายซึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยที่บริษัทโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จากพนักงานการสื่อสารแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2540 ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า นายสมชายเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งไม่ได้เป็นพนักงานของโจทก์ไม่มีหน้าที่รับจดหมายหรือเอกสารแทนโจทก์ได้ เมื่อนายสมชายนำหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์มามอบให้โจทก์ในวันที่ 29 ธันวาคม 2540 โจทก์จึงทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2540 นั้น ประมวลรัษฎากร มาตรา 8 บัญญัติว่า “หมายเรียก หนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากรหรือหนังสืออื่นซึ่งมีถึงบุคคลใดตามลักษณะนี้ ให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือให้เจ้าพนักงานสรรพากรนำไปส่ง ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสำนักงานของบุคคลนั้นในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของบุคคลนั้น ถ้าไม่พบผู้รับ ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสำนักงานของผู้รับจะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว และอยู่หรือทำงานในบ้านหรือสำนักงานที่ปรากฏว่าเป็นของผู้รับนั้นก็ได้
เมื่อได้ปฏิบัติตามวิธีดังกล่าวข้างต้นแล้ว ให้ถือว่าเป็นอันได้รับแล้ว” เห็นว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าว การส่งหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับกระทำได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 8 วรรคแรก และจะถือว่าโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อใดต้องนำไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2534 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดข้อพิพาทมาใช้บังคับ ไปรษณียนิเทศดังกล่าว ข้อ 572 กำหนดว่า “สิ่งของส่งทางไปรษณีย์อาจนำจ่ายให้แก่ผู้รับหรือผู้แทนของผู้รับก็ได้” ข้อ 573 กำหนดว่า “ในกรณีนำจ่าย ณ ที่อยู่ของผู้รับ การสื่อสารแห่งประเทศไทยถือว่าบุคคลต่อไปนี้เป็นผู้แทนของผู้รับคือ ข้อ 573.4 ผู้ทำหน้าที่เวรรับส่งหรือเวรรักษาการณ์ของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น บริษัท กรม กอง สำนักงาน โรงเรียน หน่วยทหารเป็นต้น”และข้อ 575 กำหนดว่า” สิ่งของส่งทางไปรษณีย์ที่นำจ่ายให้แก่ผู้แทนของผู้รับ ให้ถือว่าได้นำจ่ายให้แก่ผู้รับแล้วนับแต่วันเวลาที่นำจ่าย” ดังนั้น แม้นายสมชายจะไม่ได้เป็นพนักงานของโจทก์และไม่มีหน้าที่รับจดหมายหรือเอกสารแทนโจทก์ แต่นายสมชายได้ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่สำนักงานของโจทก์ในวันหยุดทำงานจึงเป็นการทำหน้าที่เป็นเวรรักษาการณ์ของสำนักงานโจทก์นั่นเองถือได้ว่านายสมชายเป็นผู้แทนโจทก์และหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ได้นำจ่ายให้แก่ผู้รับคือโจทก์ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2540แล้ว ตามไปรษณียนิเทศ ข้อ 573.4 และ ข้อ 575
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ต่อไปว่า วันที่ 27 และ 28 ธันวาคม 2540เป็นวันเสาร์และอาทิตย์ซึ่งเป็นวันโจทก์หยุดงาน นายสมชายเพิ่งนำหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์มามอบให้โจทก์ในวันที่ 29 ธันวาคม 2540 ซึ่งเป็นวันจันทร์จึงต้องถือว่าโจทก์ทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในวันที่ 29 ธันวาคม 2540 นั้น เห็นว่า มาตรา 30(2) แห่งประมวลรัษฎากรบัญญัติให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ต่อศาลภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ มิใช่วันที่ทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังที่โจทก์อ้าง ดังนั้น โจทก์จึงต้องอุทธรณ์ต่อศาลหรือฟ้องคดีขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวภายในวันที่ 26 มกราคม 2541 หากมีพฤติการณ์พิเศษเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถอุทธรณ์ต่อศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ โจทก์ต้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาต่อศาลก่อนระยะเวลาดังกล่าวสิ้นสุด เว้นแต่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบ มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 การที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นฟ้องตามคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฟ้องคดีของโจทก์ลงวันที่ 28 มกราคม 2541 ซึ่งเกินกำหนด 30 วันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวโดยสำคัญผิดว่าโจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2540 จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฟ้องคดีต่อศาลหลังจากสิ้นระยะเวลาตามกฎหมายแล้ว โดยมิได้มีเหตุสุดวิสัยแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่อาจอาศัยคำสั่งอนุญาตดังกล่าวมาฟ้องคดีนี้ได้
พิพากษายืน