คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4071/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลที่มีอำนาจใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนจะต้อง เป็นศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวตาม มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 เท่านั้น ขณะที่คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดราชบุรีได้เปิดทำการและ มีผลบังคับใช้แล้ว แม้คดีนี้ขณะที่กระทำผิดจำเลยอายุ 17 ปี ซึ่งถือว่าเป็นเยาวชนก็ตาม แต่ในท้องที่จังหวัดราชบุรีซึ่ง จำเลยมีถิ่นที่อยู่ปกติและเป็นท้องที่ที่จำเลยกระทำความผิด ไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัวดังนั้น ศาลชั้นต้นคือ ศาลจังหวัดราชบุรีซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและ วิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 58(3) ศาลชั้นต้นจึงไม่ใช่ศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลที่มีอำนาจ พิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวตามความหมายในมาตรา 4 เมื่อศาลชั้นต้นได้พิจารณาพิพากษาจำเลยแล้ว การอุทธรณ์ฎีกา จึงต้องอุทธรณ์ฎีกาไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาคดีจึงขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลฎีกาตามลำดับศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลฎีกาจึงมิใช่ศาลที่มีอำนาจ พิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวตามความหมายของมาตรา 4ด้วยเช่นกัน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลฎีกาย่อมไม่มีอำนาจใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 104(2)เพื่อเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมยัง สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดราชบุรีได้ แม้ใน ขณะที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลฎีกาได้พิจารณาคดีนี้ ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดราชบุรีได้เปิดทำการและมีผลใช้บังคับแล้วก็ตาม ขณะที่จำเลยกระทำผิด จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 3.896 กรัมเกินกว่าปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไว้ เป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 ต้องรับโทษตามมาตรา 106 ทวิ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท แต่ในระหว่างพิจารณาปรากฏว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 135(พ.ศ. 2539) เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 ซึ่งตามบัญชีท้ายประกาศลำดับที่ 20 ระบุชื่อเมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 จึงมีผลให้ การมีเมทแอมเฟตามีนคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เพียง 3.896 กรัมไม่ถึง 20 กรัม เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 67 ซึ่งระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 อีกต่อไปและเมื่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 67 ระวางโทษเบากว่าระวางโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 106 ทวิ ซึ่งใช้อยู่ในขณะจำเลยกระทำความผิดจึงเป็นกฎหมายส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลย ต้องปรับบทลงโทษจำเลยตาม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 67 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 แต่สำหรับความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 66 วรรคหนึ่ง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาทมีระวางโทษหนักกว่าฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อขายตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 89 ซึ่งระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาทจึงถือว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่งดังกล่าวแตกต่างและมิได้เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ดังนี้ความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อขายจึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 89 ซึ่งเป็นกฎหมายส่วนที่เป็นคุณตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 67 นั้น เป็นการไม่ชอบ แม้จำเลยจะไม่ฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกาย่อมมีอำนาจแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2539 เวลากลางวันจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 160 เม็ด น้ำหนัก 15.100 กรัมคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 3.896 กรัม ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ปริมาณเกินกว่าที่รัฐมนตรีกำหนดตามมาตรา 6(7)ทวิไว้ในครอบครองเพื่อขายโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงยึดไว้เป็นของกลางเหตุเกิดที่ตำบลบ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 มาตรา 4, 5, 6, 7, 11, 13ทวิ, 59, 62, 89,106 ทวิ, 116 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิวรรคหนึ่ง, 89 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 ขณะกระทำผิดจำเลยอายุไม่เกิน17 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทอันเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยมีกำหนด 4 ปีลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 2 ปี 8 เดือนริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 89, 106 ทวิเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีอัตราโทษเท่ากันให้ลงโทษฐานขายเมทแอมเฟตามีนตามมาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง,89 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าขณะที่คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 นั้น ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดราชบุรีได้เปิดทำการและมีผลบังคับใช้แล้ว สมควรที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3จะได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวพ.ศ. 2534 มาตรา 104(2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยเป็นส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดราชบุรี มีกำหนด 1 ปี แทนเห็นว่า แม้คดีนี้ขณะที่กระทำผิดจำเลยอายุ 17 ปี ซึ่งถือว่าเป็นเยาวชนก็ตามแต่ในท้องที่จังหวัดราชบุรีซึ่งจำเลยมีถิ่นที่อยู่ปกติและเป็นท้องที่ที่จำเลยกระทำความผิดไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัวดังนั้น พระราชบัญญัติคือศาลจังหวัดราชบุรีซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจึงมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534มาตรา 58(3) ศาลชั้นต้นจึงไม่ใช่ศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวตามความหมายในมาตรา 4 เมื่อศาลชั้นต้นได้พิจารณาพิพากษาจำเลยแล้ว การอุทธรณ์ฎีกาจึงต้องอุทธรณ์ฎีกาไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คดีจึงขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ภาค 3และศาลฎีกาตามลำดับ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลฎีกาจึงมิใช่ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวตามความหมายของมาตรา 4 ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลฎีกาจึงไม่มีอำนาจใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 104(2)เพื่อเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดราชบุรีได้ แม้ในขณะที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลฎีกาได้พิจารณาคดีนี้ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดราชบุรีได้เปิดทำการและมีผลใช้บังคับแล้วก็ตาม เนื่องจากศาลที่มีอำนาจใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนจะต้องเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวตามมาตรา 4แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 เท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลฎีกาไม่มีอำนาจใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนดังกล่าวแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาจำเลยว่าสมควรเปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยเป็นส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดราชบุรีอีกต่อไป
อนึ่ง ขณะที่จำเลยกระทำผิด จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 3.896 กรัมเกินกว่าปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไว้ เป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 ต้องรับโทษตามมาตรา 106 ทวิ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาทแต่ในระหว่างพิจารณาปรากฏว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งตามบัญชีท้ายประกาศลำดับที่ 20 ระบุชื่อเมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 จึงมีผลให้การมีเมทแอมเฟตามีนคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เพียง 3.896 กรัมไม่ถึง 20 กรัม เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 67 ซึ่งระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518อีกต่อไป และเมื่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 67 ระวางโทษเบากว่าระวางโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 106 ทวิซึ่งใช้อยู่ในขณะจำเลยกระทำความผิดจึงเป็นกฎหมายส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลย ต้องปรับผลลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 67 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3แต่สำหรับความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่งระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท มีระวางโทษหนักกว่าฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อขายตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 มาตรา 89 ซึ่งระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาท จึงถือว่าพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวแตกต่างและมิได้เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ดังนี้ ความผิดบานมีไว้ในครอบครองเพื่อขายจึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 89 ซึ่งเป็นกฎหมายส่วนที่เป็นคุณตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 67 นั้น เป็นการไม่ชอบแม้จำเลยจะไม่ฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกาย่อมมีอำนาจแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share