คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3164/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สาเหตุฆ่ากันเกิดจากจำเลยและผู้ตายขับรถส่วนกันต่างไม่ยอมหลีกทางให้แก่กัน ผู้ตายโกรธจำเลยจึงใช้มีดดาบฟันจำเลยก่อน ถูกร่างกายมีบาดแผลสองแห่ง จำเลยเจ็บปวดจึงเกิดโทสะอย่างแรงกล้า เมื่อจำเลยแย่งมีดดาบจากผู้ตายได้ จึงฟันผู้ตาย 3 แผล ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยจึงเข้าอยู่ในลักษณะบันดานโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมและไม่กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในระยะเวลาต่อเนื่องกระชั้นชิดกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา เด็กหญิงอารดา ภูทะศิริ บุตรผู้ตาย โดยนางลัดดา แซ่ตั้น มารดาผู้แทนโดยชอบธรรมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 72 จำคุก 9 ปี คำรับชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี
โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 69 จำคุก 4 ปี คำให้การชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน
โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288
จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่าวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยได้ใช้มีดดาบยาวประมาณ 1 ศอกฟันและแทงนายทวิช ภู่ทะศิริ ถึงแก่ความตาย คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ร่วมและจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสาเหตุฆ่ากันเกิดจากจำเลยและผู้ตายขับรถสวนกันต่างไม่ยอมหลีกทางให้แก่กัน ผู้ตายโกรธจำเลยจึงใช้มีดาบฟันจำเลยก่อน ถูกร่างกายมีบาดแผลสองแห่ง จำเลยเจ็บปวดจึงเกิดโทสะอย่างแรงกล้า เมื่อจำเลยแย่งมีดดาบจากผู้ตายได้จึงฟังผู้ตาย 3 แผล ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยจึงเข้าอยู่ในลักษณะบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม และได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในระยะเวลาต่อเนื่องกระชั้นชิดกัน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288ประกอบมาตรา 72 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันเกิดสมควรแก่เหตุ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 69 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลรอการลงโทษจำคุกนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรลงโทษจำคุกจำเลยตามที่ศาลอุทธรณ์กำหนด ซึ่งเป็นผลดีแก่จำเลยอยู่แล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 72 ส่วนโทษจำคุกคงให้เป็นไปตามที่ศาลอุทธรณ์กำหนด

Share