คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3298/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์นำเข้ากระดาษสำหรับใช้ผลิตเป็นกระดาษต่อเนื่องเพื่อใช้พิมพ์ข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์ มิใช่บัตรคอมพิวเตอร์ ที่ใช้สำหรับป้อน ข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ กระดาษที่โจทก์นำเข้าจึงมิใช่ของเฉพาะสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมผลิตบัตรคอมพิวเตอร์ อันจะได้รับการลดอัตราอากรศุลกากรจากร้อยละ 30 ของราคาเหลือร้อยละ 10ตามประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก 4/2518 โจทก์สำแดงว่ากระดาษที่โจทก์นำเข้าได้ลดอัตราอากร โจทก์ได้วางหนังสือค้ำประกันของธนาคารแล้วรับสินค้าไป ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าสินค้าของโจทก์ไม่เข้าเกณฑ์ได้ลดอัตราอากรจึงแจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระค่าภาษีอากรในส่วนที่ขาด เมื่อโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งถือว่าโจทก์ได้รับแจ้งการประเมินโดยชอบโจทก์ไม่ชำระในกำหนด จึงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอีกร้อยละยี่สิบของจำนวนค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่ม และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่ม ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลนั้น หนังสือแจ้งการประเมินมิได้ระบุยอดเงินค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล จึงเป็นการแจ้งการประเมินโดยมิชอบเท่ากับไม่มีการประเมิน จำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งเรียกค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลจากโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้อง ขอให้พิพากษาว่าสินค้าของโจทก์ที่นำเข้าจัดอยู่ในพิกัด 48.010 อัตราร้อยละ 30 ของราคาสินค้า ได้ลดอัตราศุลกากรเหลือร้อยละ 10 ของราคาสินค้าตามประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก 4/2518 และให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันแก่โจทก์จำนวน 6 ฉบับมูลค่า 1,858,000 บาท
จำเลยให้การทั้งสองจำนวนและฟ้องแย้งสำนวนแรกว่า กระดาษที่โจทก์นำเข้ามิใช่เป็นกระดาษเฉพาะสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมผลิตบัตรคอมพิวเตอร์ตามหลักเกณฑ์ในประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก.4/2518แต่จัดเป็นกระดาษที่ทำด้วยเครื่องจักรมีลักษณะเป็นม้วนชนิดอื่น ๆอยู่ในพิกัดอัตราอากรขาเข้า ประเภทที่ 48.01 ง. ต้องชำระอากรขาเข้าเต็มอัตราร้อยละ 30 ของราคาสินค้า ขอให้ยกฟ้องโจทก์และบังคับโจทก์รับผิดตามฟ้องแย้งชำระภาษีอากรและเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน778,885.29 บาท แก่จำเลย และชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าร้อยละ1 ต่อเดือน ของเงินค่าอากรที่ต้องนำมาชำระ 318,201 บาท คิดเป็นเงินเดือนละ 3,182.01 บาท ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2532 ถึงวันที่โจทก์ชำระเงินค่าอากรขาเข้า จำนวน 318,201 บาท เสร็จสิ้นแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่า สินค้าที่โจทก์นำเข้าจัดอยู่ในพิกัด 48.01 ง. อัตราอากรร้อยละ 30 ของราคาสินค้า ลดอัตราอากรเหลือร้อยละ 10 ตามประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก.4/2518ให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารแหลมทองจำกัด 6 ฉบับแก่โจทก์ ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าเมื่อระหว่างวันที่ 18 มกราคม 2523 ถึงวันที่ 1พฤษภาคม 2524 โจทก์ได้นำสินค้ากระดาษจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย รวม 6 เที่ยว โดยโจทก์สำแดงว่าเป็นสินค้าในพิกัดประเภทที่ 48.01 ง. อัตราอากรร้อยละ 30 ของราคาสินค้า เมื่อลดอัตราอากรตามประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก.4/2518 แล้วเหลืออัตราร้อยละ 10 จำเลยเห็นว่าสินค้าของโจทก์เป็นของที่อยู่ในพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภทที่ 48.01 ง. แต่มิใช่ของเฉพาะสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมผลิตบัตรคอมพิวเตอร์ไม่เข้าข่ายที่จะได้รับลดอัตราอากรตามประกาศดังกล่าว จึงให้โจทก์เสียอากรเต็มจำนวน โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยและได้วางประกันโดยให้ ธนาคารแหลมทอง จำกัดค้ำประกันค่าภาษีอากรที่โจทก์จะรับผิดในวงเงินรวมทั้งหมด1,858,000 บาท แล้วจำเลยตรวจปล่อยให้โจทก์รับสินค้าทั้งหมดไปกระดาษที่โจทก์นำเข้ารวม 2,576 ม้วน แต่ละม้วนยาวประมาณ6,000 เมตร กว้าง 9-15.5 นิ้ว มีลักษณะอ่อน บาง และมีน้ำหนักน้อยกว่ากระดาษธรรมดา เพื่อนำเข้าโรงงานของโจทก์เจาะรูด้านริมทั้งสองข้าง ทำรอยปรุเป็นแผ่นในม้วนกระดาษต่อเนื่องกันไปการปรุเป็นแผ่นเพื่อสะดวกในการพับหรือฉีก แผ่นหนึ่งมีขนาดกว้าง3 นิ้วเศษ ถึง 11 นิ้วแล้วส่งจำหน่ายให้ลูกค้าซึ่งมีทั้งหน่วยราชการและเอกชน เพื่อใช้กับส่วนที่เป็นเครื่องพิมพ์ของเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อพิมพ์ข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในจอคอมพิวเตอร์ตามที่ผู้ใช้ข้อมูลต้องการ กระดาษต่อเนื่องที่โจทก์ผลิตขึ้นนี้ใช้ได้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ชนิดเมนเฟรมและไมโครคอมพิวเตอร์ และข้อเท็จจริงยังฟังได้ต่อไปว่า ยังมีกระดาษอีกชนิดหนึ่งที่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะเป็นกระดาษที่แข็ง หนา และมีน้ำหนักมากกว่ากระดาษต่อเนื่อง ตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดตามเอกสารหมาย ล.14 วัดได้ 7 สามส่วนแปด x 3 สองส่วนแปด นิ้วมีเลขรหัสพิมพ์อยู่บนกระดาษ แล้วผู้ใช้นำเข้าเครื่องเจาะเจาะรูตามที่ผู้ใช้ข้อมูลต้องการ เป็นกระดาษที่ใช้ป้อนข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยการสอดเข้าเครื่องอ่าน กระดาษชนิดนี้ใช้ได้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ ชนิดเมนเฟรมเท่านั้น จะใช้กับไมโครคอมพิวเตอร์ไม่ได้ กระดาษที่โจทก์นำเข้าไม่เหมาะที่จะใช้เป็นกระดาษชนิดป้อนข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ เพราะกระดาษบางเวลาเจาะรูทำให้ขาดง่าย ไม่เหมาะในการใช้กับเครื่องอ่านบัตร สำหรับของที่จะได้ลดอัตราอากรศุลกากรตามประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก.4/2518ได้กำหนดไว้ในบัญชีท้ายประกาศ ที่เกี่ยวกับคดีนี้ว่าจะต้องเป็นของเฉพาะสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมผลิตบัตรคอมพิวเตอร์ จึงจะได้ลดอัตราอากรตามราคาจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 10 ปัญหาแรกที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า กระดาษที่โจทก์นำเข้าเป็นของที่จะได้ลดอัตราอากรศุลกากรหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าของที่นำเข้าโจทก์นำไปผลิตเป็นกระดาษต่อเนื่องเพื่อใช้พิมพ์ข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์ ปัญหาจึงอยู่ตรงที่ว่ากระดาษต่อเนื่องนี้เป็นบัตรคอมพิวเตอร์หรือไม่… คดีฟังได้ว่ากระดาษที่โจทก์ผลิตขึ้น มิใช่บัตรคอมพิวเตอร์กระดาษที่โจทก์นำเข้าจึงมิใช่ของเฉพาะสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมผลิตบัตรคอมพิวเตอร์ อันจะได้รับการลดอัตราอากรศุลกากรตามประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก.4/2518
ปัญหาต่อไป โจทก์ต้องรับผิดชำระเงินค่าอากรขาเข้าภาษีการค้าภาษีบำรุงเทศบาล และเงินเพิ่มตามกฎหมาย สำหรับสินค้าที่โจทก์นำเข้าเที่ยวแรกตามฟ้องแย้งหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อโจทก์นำสินค้าเที่ยวนี้เข้า โจทก์ได้สำแดงว่าเป็นสินค้าที่จะได้ลดอัตราอากรตามบัญชีท้ายประกาศดังกล่าวและได้ชำระค่าภาษีอากรในอัตราที่ลดนั้น แต่มีปัญหาว่าสินค้าของโจทก์จะได้รับการลดอัตราอากรหรือไม่ ในระหว่างการตรวจสอบสินค้าของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลย โจทก์ได้วางหนังสือค้ำประกันของธนาคารสำหรับสินค้าเที่ยวแรกนี้ในวงเงิน 344,000 บาท แล้วรับสินค้าดังกล่าวไป ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าสินค้าของโจทก์ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้ลดอัตราอากร พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ประเมินและมีหนังสือฉบับลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2531 แจ้งการประเมินตามเอกสารหมาย ล.19 ให้โจทก์ชำระค่าภาษีอากรในส่วนที่ขาดแต่โจทก์ไม่ชำระสำหรับค่าอากรขาเข้า เมื่อสินค้าของโจทก์ไม่ได้รับการลดอัตราอากรตามบัญชีท้ายประกาศดังกล่าว โจทก์จึงต้องชำระในส่วนที่ขาดอีก 318,201 บาท ตามหนังสือแจ้งการประเมินเอกสารหมาย ล.19 ระบุการประเมินค่าอากรขาเข้าเป็นเงิน 344,000 บาทเมื่อโจทก์ได้รับหนังสือนี้ ต้องถือว่าโจทก์ได้รับแจ้งการประเมินในส่วนนี้โดยชอบแล้ว เมื่อโจทก์ไม่ชำระในกำหนดจึงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอีกร้อยละยี่สิบของจำนวนค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่มเป็นเงิน 63,640.20 บาท และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่มนับแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2523อันเป็นวันส่งมอบของจนถึงวันที่นำเงินมาชำระ
ส่วนภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลนั้น ปรากฏตามหนังสือการประเมินเอกสารหมาย ล.19 เจ้าพนักงานประเมินมิได้ระบุยอดเงินค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลไว้ โดยในช่องที่ให้กรอกจำนวนเงินค่าภาษีอากรตามที่ประเมินได้กรอกแต่จำนวนเงินในช่องอากรขาเข้าส่วนในช่องภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลใส่เครื่องหมายขีดไว้แสดงว่าไม่มียอดเงินค่าภาษีทั้งสองประเภทดังกล่าวเท่ากับไม่ได้แจ้งยอดเงินที่ประเมินของภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล แม้จากทางนำสืบจะปรากฏว่ายอดเงินจำนวน 344,000 บาท ในช่องอากรขาเข้าจะมียอดเงินประเมินของภาษีการค้ากับภาษีบำรุงเทศบาลรวมอยู่ด้วย โดยค่าอากรขาเข้าจะต้องเสียเพิ่ม 318,201 บาท ภาษีการค้าเป็นเงิน25,713.19 บาท ภาษีบำรุงเทศบาลเป็นเงิน 2,571.32 บาท แต่รวมแล้วเป็นเงิน 346,485.51 บาท เกินกว่ายอดเงินที่ปรากฏในหนังสือแจ้งการประเมิน การแจ้งการประเมินภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากรมาตรา 88 ให้ทำเป็นหนังสือไปยังผู้ประกอบการค้า จึงต้องแจ้งประเมินโดยชัดแจ้งว่าจะต้องเสียภาษีประเภทอะไร เป็นเงินเท่าไรเพื่อให้ผู้เสียภาษีมีโอกาสตรวจสอบและโต้แย้งโดยการอุทธรณ์การประเมินได้ การแจ้งการประเมินตามเอกสารหมาย ล.19 โดยมิได้ระบุยอดเงินที่ประเมินในภาษีทั้งสองประเภทนี้ จึงเป็นการแจ้งการประเมินโดยมิชอบเท่ากับไม่มีการประเมิน ตามกฎหมายได้กำหนดขั้นตอนของเจ้าพนักงานประเมินในการตรวจสอบไต่สวนการเสียภาษีแล้วให้อำนาจในการประเมินไว้ โดยต้องแจ้งการประเมินให้ผู้เสียภาษีทราบ เมื่อผ่านขั้นตอนต่าง ๆ โดยชอบแล้ว จึงบังคับชำระหนี้ค่าภาษีหรือฟ้องศาลให้บังคับคดีแทนได้ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินมิได้ทำตามขั้นตอนโดยชอบ จำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล โจทก์ต้องรับผิดเฉพาะเงินค่าภาษีอากรขาเข้าและเงินเพิ่มตามฟ้องแย้งดังกล่าว เมื่อโจทก์ยังมิได้ชำระค่าภาษีอากรเพิ่มในการนำสินค้าเข้าทั้ง 6 เที่ยว จำเลยจึงมีสิทธิยึดหนังสือค้ำประกันทั้ง 6 ฉบับไว้ ไม่ต้องคืนให้โจทก์…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงินค่าอากรขาเข้าเพิ่มกับเงินเพิ่มรวม 381,841.20 บาท แก่จำเลย พร้อมด้วยเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่ต้องเพิ่มจำนวน 318,201 บาทนับแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2523 อันเป็นวันส่งมอบของ จนถึงวันที่นำเงินมาชำระให้จำเลยเสร็จ โดยให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน.

Share