แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทขายทอดตลาดที่ดินพิพาทนำเงินที่ได้มาแบ่งปันกันตามส่วนคดีถึงที่สุดแล้ว แต่จำเลยทั้งห้าไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงมายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาแบ่งปันกันตามส่วนตามคำพิพากษา คำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีให้ต้องปฏิบัติตาม การที่จำเลยที่ 1 มาร้องในคดีนี้ว่าจำเลยที่ 5 ได้ขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 5 ให้แก่จำเลยที่ 1และจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองที่ดินส่วนนั้นมาจนที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 จึงขอให้ศาลไต่สวนคำฟ้องเพื่อมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 5เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 นั้น ย่อมเป็นการที่จำเลยที่ 1 ตั้งประเด็นขึ้นใหม่พิพาทกับจำเลยที่ 5 และมีผลเท่ากับขอให้ศาลแก้ไขคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้ว ซึ่งไม่อาจกระทำได้ เพราะมิฉะนั้นแล้วคำพิพากษาของศาลแต่ละคดีก็จะไม่เป็นที่ยุติลงได้ กรณีเช่นนี้หากจำเลยที่ 1 เห็นว่าตนมีสิทธิในที่ดินพิพาทที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้อย่างไร หรือจำเลยที่ 1 ถูกโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายประการใด จำเลยที่ 1ชอบที่จะไปดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นคดีใหม่ต่างหาก
การที่โจทก์ขอหมายบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทขายทอดตลาดคดีนี้ เป็นการกำหนดวิธีแบ่งทรัพย์สินระหว่างเจ้าของรวมเท่านั้นโจทก์ก็ดี จำเลยก็ดี หาใช่เป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกันและกันไม่กรณีจึงไม่ใช่เป็นการร้องขอให้บังคับคดีตาม ป.วิ.พ.มาตรา 271 จำเลยที่ 1จึงไม่อาจอ้างว่าคำร้องของตนต้องตาม ป.วิ.พ.มาตรา 288 ได้ เพราะการร้องขอตามบทบัญญัติดังกล่าวจะต้องเป็นการร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด กรณีจึงไม่มีเหตุให้ต้องงดขายทอดตลาดที่ดินพิพาทและทำการไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 1