คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14102/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระเบียบของโจทก์ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ตอนที่ 11 การใช้บัตรโดยสารและการส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศของพนักงาน พ.ศ.2537 กำหนดว่าพนักงานหมายถึงพนักงานรายเดือนที่โจทก์ตกลงจ้างไว้เป็นประจำและได้รับเงินเดือนตามบัญชีเงินเดือนของโจทก์ โดยให้สิทธิพนักงานซื้อบัตรโดยสารได้ในอัตราพนักงาน จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน แม้โจทก์จะมีคำสั่งพักงานจำเลยที่ 1 แต่ระหว่างพักงานจำเลยที่ 1 ยังมีสถานะเป็นพนักงานของโจทก์จึงมีสิทธิใช้บัตรโดยสารที่ได้ดำเนินการออกไว้เดินทางระหว่างพักงานได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าบัตรโดยสารเต็มจำนวน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินจำนวน 175,981 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 167,382 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัด ศาลแรงงานภาค 8 มีคำสั่งให้พิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีของจำเลยที่ 1 ไปฝ่ายเดียว
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2544 จำเลยที่ 1 ทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน มีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ถูกผู้โดยสารร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ โจทก์จึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนและสั่งพักงานจำเลยที่ 1 มีกำหนด 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2546 จำเลยที่ 1 รับทราบคำสั่งพักงานเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2546 คณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นให้ลงโทษจำเลยที่ 1 โดยการให้ออกตามคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ลงวันที่ 29 มกราคม 2546 และรายงานผลการสอบสวนลงวันที่ 17 มีนาคม 2546 โจทก์ลงโทษจำเลยที่ 1 โดยการให้ออกจากการเป็นพนักงานโดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2546 ได้แจ้งเป็นหนังสือให้จำเลยที่ 1 ทราบ ตามหนังสือลงวันที่ 18 เมษายน 2546 โจทก์ทำการชำระบัญชีสรุปยอดเงินที่โจทก์จะต้องจ่ายให้จำเลยที่ 1 และยอดเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องคืนโจทก์ เมื่อโจทก์บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ทำหนังสือชี้แจงและขอผ่อนการชำระหนี้ไปยังโจทก์และได้ชำระหนี้แล้วจำนวน 5,000 บาท เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2546 จำเลยที่ 1 ซื้อบัตรโดยสารพนักงานจำนวน 1 เที่ยว เส้นทางไปและกลับกรุงเทพ – แฟรงก์เฟิร์ต – กรุงเทพ (BKK – FRA – BKK) ระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้เดินทางใช้เดินทางเที่ยวไปเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2546 เดินทางเที่ยวกลับในเดือนมกราคมแต่ไม่ทราบวันที่แน่ชัดเนื่องจากเดินทางกลับด้วยสายการบินลุฟฮันซ่า บัตรที่จำเลยที่ 1 ซื้อครั้งนี้เป็นบัตรราคาพิเศษสำหรับพนักงานเสียเฉพาะค่าธรรมเนียมเพียง 3,975 บาท จากราคาเต็มจำนวน 170,945 บาท วันที่ 30 มกราคม 2546 จำเลยที่ 1 ซื้อบัตรโดยสาร 5 เที่ยว ได้แก่ เที่ยวแรก เส้นทางไปและกลับนครศรีธรรมราช – กรุงเทพ – นครศรีธรรมราช (NST – BKK – NST) ระบุชื่อบิดาจำเลยที่ 1 เป็นผู้เดินทางใช้เดินทางเที่ยวไปเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546 เดินทางเที่ยวกลับวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2546 จำเลยที่ 1 ซื้อในราคา 1,420 บาท จากราคาเต็มจำนวน 5,050 บาท เที่ยวที่ 2 เส้นทางไปและกลับนครศรีธรรมราช – กรุงเทพ – นครศรีธรรมราช (NST – BKK – NST) ระบุชื่อบิดาจำเลยที่ 1 เป็นผู้เดินทาง ใช้เดินทางเที่ยวไปเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2546 เดินทางเที่ยวกลับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546 จำเลยที่ 1 ซื้อในราคา 1,420 บาท ราคาเต็มจำนวน 5,050 บาท เที่ยวที่ 3 เส้นทางกรุงเทพ – นครศรีธรรมราช (BKK – NST) ระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้เดินทาง ใช้เดินทางเมื่อเดือนตุลาคม 2546 จำเลยที่ 1 ซื้อในราคา 710 บาท จากราคาเต็ม 2,525 บาท เที่ยวที่ 4 เส้นทางไปและกลับนครศรีธรรมราช – กรุงเทพ – นครศรีธรรมราช (NST – BKK – NST) ระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้เดินทาง ใช้เดินทางไปและกลับในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546 จำเลยที่ 1 ซื้อในราคา 1,420 บาท จากราคาเต็ม 5,050 บาท ครั้งสุดท้ายเส้นทางไปและกลับกรุงเทพ – ลอสแอนเจลิส – กรุงเทพ (BKK – LAX – BKK) ระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้เดินทาง ใช้เดินทางเที่ยวไปเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2546 และเดินทางเที่ยวกลับเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2546 จำเลยที่ 1 ซื้อในราคา 17,460 บาท จากราคาเต็ม 62,820 บาท รวมราคาบัตรโดยสารเครื่องบินที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิพนักงานโจทก์ซื้อไปหากคิดราคาเต็มเป็นเงินจำนวน 251,440 บาท หักเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระแล้วจำนวน 26,405 บาท คงเหลือยอดเงินส่วนต่างจำนวน 225,035 บาท ในขณะขอออกบัตรโดยสารจำเลยที่ 1 ยังไม่ทราบคำสั่งพักงาน แล้ววินิจฉัยว่าในการออกบัตรโดยสารพนักงานของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 9 และ 30 มกราคม 2546 นั้น จำเลยที่ 1 ยังไม่ทราบว่าถูกพักงาน จำเลยที่ 1 ย่อมใช้สิทธิพนักงานซื้อหรือออกบัตรโดยสารได้ ถือว่าการออกบัตรโดยสารของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นไปโดยชอบตามระเบียบของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ได้บัตรโดยสารแล้วย่อมมีสิทธิใช้บัตรโดยสารนั้นได้แม้ภายหลังจะถูกพักงานก็ตาม เพราะในระหว่างถูกพักงานยังถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ยังเป็นพนักงานของโจทก์อยู่ ทั้งการที่โจทก์ออกคำสั่งของจำเลยที่ 1 ออกเป็นการออกคำสั่งย้อนหลังเป็นให้ออกตั้งแต่วันถูกพักงานคือวันที่ 15 มกราคม 2546 ซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 1 ใช้บัตรโดยสารที่ออกไว้เกือบหมดแล้ว ยังเหลือเพียงบัตรโดยสารในเส้นทางลอสแอนเจลิส – กรุงเทพมหานคร (LAX – BKK) และเส้นทางกรุงเทพมหานคร – นครศรีธรรมราช (BKK – NST) เท่านั้นที่ยังไม่ได้ใช้ อย่างไรก็ตามหากโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะให้พนักงานซึ่งถูกพักงานใช้บัตรโดยสารที่ออกไว้ก่อนก็จะต้องกำหนดไว้ในระเบียบให้ชัดเจนหรือมิฉะนั้นก็ต้องแจ้งให้พนักงานทราบในขณะออกคำสั่งพักงานว่าไม่มีสิทธิใช้บัตรโดยสารได้อีกต่อไป มิฉะนั้นจะต้องรับผิดจ่ายค่าบัตรโดยสารเท่ากับราคาเต็ม เนื่องจากบัตรโดยสารราคาเต็มมีราคาแตกต่างกับบัตรโดยสารพนักงานมาก กรณีเช่นนี้จำเลยที่ 1 อาจไม่ต้องการใช้บัตรโดยสารพนักงานอีกก็ได้ รวมทั้งหากโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิใช้บัตรโดยสารขณะถูกพักงานโจทก์ควรสั่งยกเลิกบัตรโดยสารได้ ซึ่งโจทก์สามารถตรวจสอบข้อมูลการออกบัตรโดยสารของพนักงานที่ถูกพักงานได้อยู่แล้วแต่โจทก์ก็หาทำเช่นนั้นไม่ คงเป็นเพราะโจทก์ก็ไม่อาจทราบว่าผลการสอบสวนทางวินัยจะเป็นอย่างไร กรณีอาจเป็นการลงโทษสถานเบาก็ได้ โจทก์จึงไม่ดำเนินการตัดสิทธิการใช้บัตรโดยสารของพนักงานในระหว่างพักงานทันทีทั้งไม่มีระเบียบของโจทก์ข้อใดให้อำนาจโจทก์มีสิทธิคิดหรือเรียกคืนราคาบัตรโดยสารเต็มจำนวนย้อนหลังได้ ดังนั้นจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิใช้บัตรโดยสารพนักงานที่ออกไว้ได้ ตราบใดที่จำเลยที่ 1 ยังเป็นพนักงานโจทก์อยู่และบัตรโดยสารที่ออกไว้ยังไม่ได้ถูกยกเลิก โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าบัตรโดยสารย้อนหลังเท่ากับราคาเต็มสำหรับการใช้บัตรโดยสารก่อนวันที่ 18 เมษายน 2546 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ออกคำสั่งลงโทษจำเลยที่ 1 โดยการให้ออก ซึ่งจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานต้องร่วมรับผิดด้วยเพราะถือว่าเป็นความรับผิดที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องตั้งแต่จำเลยที่ 1 ยังเป็นพนักงานของโจทก์ ส่วนการใช้บัตรโดยสารหลังวันดังกล่าว จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดคืนเงินให้แก่โจทก์จากราคาเต็ม รวมเป็นเงินจำนวน 24,495 บาท เมื่อหักจากเงินที่โจทก์ต้องจ่ายแก่จำเลยที่ 1 ตามรายการชำระบัญชีพนักงานที่พ้นสภาพ จำนวน 54,063 บาท แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหนี้ที่ต้องรับผิดแก่โจทก์อีก จำเลยที่ 2 จึงไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกัน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ว่า จำเลยที่ 1 นำบัตรโดยสารในอัตราพนักงานไปใช้เดินทางในระหว่างวันที่ 16 มกราคม 2546 ถึงเดือนตุลาคม 2546 แม้จะอยู่ในระหว่างมีคำสั่งให้พักงาน แต่การที่ต่อมาโจทก์มีคำสั่งเลิกจ้างจำเลยที่ 1 ย้อนหลังไปถึงวันที่ 15 มกราคม 2546 จึงไม่ถือว่าจำเลยที่ 1 มีสถานะเป็นพนักงานอีกต่อไป จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิขอใช้บัตรโดยสารสำหรับพนักงานนั้น เห็นว่า ตามระเบียบของโจทก์ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ตอนที่ 11 การใช้บัตรโดยสารและการส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศของพนักงาน พ.ศ.2537 ข้อ 3 ได้กำหนดว่า พนักงาน หมายถึงพนักงานรายเดือนที่บริษัทตกลงจ้างไว้เป็นประจำและได้รับเงินเดือนตามบัญชีเงินเดือนของบริษัท โดยตามระเบียบดังกล่าวให้สิทธิพนักงานซื้อบัตรโดยสารได้ในอัตราพนักงาน ดังนั้นแม้โจทก์จะมีคำสั่งพักงานจำเลยที่ 1 แต่ในระหว่างพักงานจำเลยที่ 1 ก็ยังคงมีสถานะเป็นพนักงานของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการออกบัตรโดยสารไว้ ดังนั้น ในระหว่างพักงานจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิใช้บัตรโดยสารดังกล่าวเดินทางระหว่างพักงานได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าบัตรโดยสารเต็มจำนวนแก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานภาค 8 วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share