คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3293/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นข้าราชการ ตำแหน่งนายช่างควบคุมหน่วยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแกงสังกัดกรมชลประทานมีหน้าที่ควบคุมดูแลการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแกง จัดซื้อดูแลรักษาพัสดุและน้ำมันเชื้อเพลิงและควบคุมการใช้จ่ายเงินตลอดทั้งเบิกเงินและจ่ายเงินให้แก่คนงาน จำเลยร่วมกับค. พนักงานบัญชีปลอมเอกสารบัญชีรายชื่อคนงาน และลายมือชื่อคนงาน และใช้เอกสารปลอมดังกล่าวไปเบิกเงินค่าแรง เมื่อได้รับเงินที่เบิกตามเอกสารดังกล่าวแล้ว จำเลยก็ลงชื่อเป็นผู้จ่ายเงิน และ ค. ลงชื่อเป็นพยานในเอกสาร โดยไม่ได้มีการจ่ายเงินค่าแรงนั้นให้แก่บุคคลที่มีชื่อในเอกสาร แต่จำเลยเบียดบังเอาไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัว ดังนี้ การที่จำเลยปลอม ใช้เอกสารปลอมและรับรองข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารดังกล่าวข้างต้น ก็โดยมีเจตนาเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเบียดบังเงินค่าแรงที่เบิกมาเป็นประโยชน์ส่วนตัว การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
เดิมห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. เป็นเจ้าหนี้ทางราชการอยู่โดยทางราชการได้ขอยืมวัสดุและสิ่งของมาเพื่อใช้ประโยชน์ ต่อมาจำเลยซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. เพื่อใช้ราชการในหน่วยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแกง แต่ไม่ได้รับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ซื้อไป คงฝากไว้ที่ห้างฯ เพราะที่หน่วยก่อสร้างไม่มีที่เก็บน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อต้องการใช้ก็จะไปรับน้ำมันเชื้อเพลิงจากห้างฯ ดังกล่าวเป็นคราว ๆ ตามหลักฐานใบนำส่งน้ำมันเชื้อเพลิงของห้างฯ ปรากฏว่าได้ส่งน้ำมันเชื้อเพลิงที่ซื้อให้หน่วยก่อสร้างครบถ้วนแล้ว แต่ความจริงหน่วยก่อสร้างได้รับน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ครบ เพราะมีการหักชำระหนี้ซึ่งห้างฯ เป็นเจ้าหนี้ทางราชการอยู่ การที่จำเลยไม่ตั้งงบประมาณและเบิกเงินจากจากงบประมาณมาชำระหนี้ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. กลับเอาน้ำมันเชื้อเพลิงของหน่วยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแกงไปชำระหนี้ให้แก่ห้างฯ ดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงปฏิบัติผิดระเบียบของทางราชการเท่านั้น ไม่เป็นการเบียดบังน้ำมันเชื้อเพลิง อันจะเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เบียดบังยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 152, 153, 157, 161, 162, 264, 265, 352, 353, 83, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 3, 7,8, 9, 13 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 พ.ศ. 2514 ข้อ 2 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 103,627 บาทแก่กรมชลประทานด้วย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 และ 162 แต่ให้ลงโทษตามมาตรา 161 อันเป็นบทหนัก จำคุก 3 กระทง กระทงละ 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน และ มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เบียดบังยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 152,153 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาพ.ศ. 2502 มาตรา 3, 7, 8, 9 แต่ให้ลงโทษตามมาตรา 147 อันเป็นบทหนักจำคุก 5 กระทง ๆ ละ 5 ปี รวมจำคุก 25 ปี รวมทั้งสิ้นให้จำคุกจำเลย 26 ปี6 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 103,627 บาทแก่กรมชลประทาน

จำเลยอุทธรณ์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่พอฟังว่าจำเลยกระทำผิดดังโจทก์ฟ้อง พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติฟังได้ในเบื้องต้นว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยรับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นตรี ตำแหน่งนายช่างควบคุมหน่วยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแกง จังหวัดกาฬสินธุ์ สังกัดกรมชลประทาน มีหน้าที่ควบคุมดูแลการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแกง จัดซื้อรักษาพัสดุและน้ำมันเชื้อเพลิงและมีหน้าที่ควบคุมการใช้จ่ายเงินตลอดทั้งเบิกเงินและจ่ายเงินให้แก่คนงาน โดยกรมชลประทานมีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยไปทำหน้าที่นายช่างควบคุมหน่วยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแกง นายเคนน้อยพนักงานบัญชีเป็นผู้ทำเอกสารดังกล่าวปลอม โดยนายเคนน้อยนำบัญชีรายชื่อคนงานซึ่งทำงานแต่ละวันในเดือนพฤศจิกายน 2515 เดือนธันวาคม 2515 และเดือนมกราคม2516 โดยมีลายมือชื่อคนงานด้วยอันเป็นบัญชีรายชื่อและลายมือชื่อปลอม ตามเอกสารหมาย จ.9/10 ถึง จ.9/51 ไปให้นางสาวประภาลูกจ้างชั่วคราวซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมียนลงทะเบียนค่าแรงเพื่อเป็นหลักฐานว่าบุคคลซึ่งมีชื่อในเอกสารดังกล่าวทำงานที่หน่วยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแกงใน 3 เดือนดังกล่าว แล้วให้นางสาวประภากรอกรายชื่อบุคคลดังกล่าวในใบเบิกค่าแรงแบบ ช.ป.6 นางสาวประภาจึงกรอกรายการและรายชื่อบุคคลดังกล่าวรวมทั้งอัตราค่าจ้างในเอกสารหมาย จ.9/1 ถึง จ.9/9 แล้วนายเคนน้อยก็ปลอมลายมือชื่อบุคคลดังกล่าวตรงช่องลายมือชื่อผู้รับเงินและลงชื่อว่ากรอกถูกต้องแล้ว ต่อจากนั้นนายเคนน้อยก็นำเอกสารหมาย จ.9/1 ถึง จ.9/9 ไปให้จำเลย จำเลยลงชื่อในช่องผู้เบิกและช่องสมควรจ่ายให้ แล้วจำเลยส่งเอกสารหมาย จ.9/1 ถึง จ.9/9 ไปเบิกค่าแรงประจำเดือนพฤศจิกายน 2515 เป็นเงิน 10,560 บาท ค่าแรงประจำเดือนธันวาคม 2515 เป็นเงิน 10,080 บาท และค่าแรงประจำเดือนมกราคม 2516 เป็นเงิน 11,040 บาท เมื่อได้รับเงินค่าแรงที่เบิกไปตามเอกสารดังกล่าวแล้ว จำเลยก็ลงชื่อเป็นผู้จ่ายเงินและนายเคนน้อยลงชื่อเป็นพยานในเอกสารดังกล่าว จำเลยซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากห้างหุ้นส่วนจำกัดสงวนวงษ์กาฬสินธุ์เพื่อใช้ในราชการในหน่วยงานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแกง คือน้ำมันเบนซิน 16,000 ลิตร และน้ำมันดีเซล 30,000 ลิตร ปรากฏเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 แต่ไม่ได้รับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ซื้อไปคงฝากไว้ที่ห้างฯ เพราะที่หน่วยงานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแกงไม่มีที่เก็บน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อต้องการใช้ก็จะไปรับน้ำมันเชื้อเพลิงจากห้างฯ ดังกล่าวเป็นคราว ๆ ตามใบนำส่งน้ำมันเชื้อเพลิงของห้างฯ ดังกล่าว ปรากฏว่าได้ส่งน้ำมันเชื้อเพลิงที่ซื้อให้หน่วยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแกงครบถ้วนแล้ว แต่ความจริงหน่วยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแกงได้รับน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ครบโจทก์จึงฟ้องว่าจำเลยเบียดบังน้ำมันเชื้อเพลิงส่วนที่ขาดไปคือน้ำมันเบนซิน11,800 ลิตร ราคา 22,774 บาท และน้ำมันดีเซล 14,800 ลิตร ราคา 15,688 บาท จำเลยอ้างว่าจำเลยมารับงานนายช่างควบคุมหน่วยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแกงจากนายสร่าง เมื่อจำเลยมารับงานนั้น นายสร่างบอกจำเลยว่าหน่วยงานก่อสร้างเก็บน้ำห้วยแกงเป็นหนี้ห้างฯ อยู่ 70,000 บาทเศษตามเอกสารหมาย ล.18 จำเลยจึงเอาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ซื้อไว้นั้นหักชำระหนี้ให้แก่ห้างฯ จนหมดสิ้น

ศาลฎีกาเชื่อว่า จำเลยร่วมกับนายเคนน้อยปลอมและใช้เอกสารปลอมกับเบียดบังเอาเงินค่าแรงที่เบิกมาไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัว

วินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยอาจเอาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขาดจำนวนไปชำระหนี้ที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแกงเป็นหนี้ห้างฯ ตั้งแต่ก่อนที่จำเลยจะมารับงานชำระหนี้ให้แก่ห้างฯ ดังกล่าวก็ได้ การที่จำเลยไม่ตั้งงบประมาณและเบิกเงินจากงบประมาณมาชำระหนี้ให้แก่ห้างฯ กลับเอาน้ำมันเชื้อเพลิงของหน่วยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแกงไปชำระหนี้ให้แก่ห้างฯ ดังกล่าว เป็นเพียงปฏิบัติผิดระเบียบของทางราชการเท่านั้น ไม่เป็นการเบียดบังน้ำมันเชื้อเพลิงตามฟ้อง การที่จำเลยปลอมใช้เอกสารปลอมและรับรองข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารดังกล่าวข้างต้น ก็โดยมีเจตนาเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเบียดบังเงินค่าแรงที่เบิกมาเป็นประโยชน์ส่วนตัว การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 161, 162(1) และ 147 รวม 3 กระทง ให้ลงโทษตามมาตรา 147 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 15 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 31,680 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share