แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บ. ออกตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดเปลี่ยนมือไม่ได้ให้แก่บริษัท ส. จำเลยลงชื่อเป็นผู้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น ต่อมาบริษัท ส. ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์โดยได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ออกตั๋วแล้วเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องครบถ้วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคแรก มาตรา 917 วรรคสองประกอบมาตรา 985 วรรคแรก โจทก์จึงเป็นผู้รับโอนโดยชอบด้วยกฎหมายจำเลยซึ่งเป็นผู้รับอาวัลตั๋วจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บางกอกรัษฎาและทรัสท์จำกัด ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ฉบับลงวันที่ 8 กันยายน 2526จำนวนเงิน 1,000,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี ให้แก่บริษัทสีลมการแพทย์ จำกัด โดยมีจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับอาวัลต่อมาบริษัทสีลมการแพทย์ จำกัด ได้โอนสิทธิเรียกร้องตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับดังกล่าวให้โจทก์โดยและได้รับความยินยอมจากผู้ชำระบัญชีของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บางกอกรัษฎาและทรัสท์จำกัด แล้ว โจทก์จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบ เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บางกอกรัษฎาและทรัสท์ จำกัด ไม่สามารถใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินได้ จำเลยในฐานะผู้รับอาวัลต้องรับผิดขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามตั๋ว พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บางกอกรัษฎาและทรัสท์จำกัด และจำเลยไม่เคยทำหนังสือหรือให้ความยินยอมเป็นหนังสือให้บริษัทสีลมการแพทย์ จำกัด โอนตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวให้โจทก์โจทก์ไม่ใช่ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทจึงไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อรับอาวัลตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทได้ยกเลิกและตัดบัญชีกันแล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิด ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่8 กันยายน 2527 ซึ่งเป็นวันที่ตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บางกอกรัษฎาและทรัสท์ จำกัด ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดเปลี่ยนมือไม่ได้ให้แก่บริษัทสีลมการแพทย์ จำกัด มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์รับโอนตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทมาจากบริษัทสีลมการแพทย์ จำกัด ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และจำเลยเป็นผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทหรือไม่ เห็นว่าในการโอนตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทโจทก์มีหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับบริษัทสีลมการแพทย์ จำกัด และหนังสือให้ความยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บางกอกรัษฎาและทรัสท์ จำกัดตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.5 เป็นพยานโดยมีนางมาลัย วงศ์สมบุญนางสาวเกสิณี คูรัตน์ชัชวาลย์ และนางอุไรวรรณ ศรีสรฉัตร เบิกความประกอบว่า เมื่อโจทก์ได้รับอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้รับเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินกับบริษัทสีลมการแพทย์ จำกัด แล้วโจทก์ได้แจ้งให้บริษัทสีลมการแพทย์ จำกัด มาดำเนินการเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินในวันที่ 8 สิงหาคม 2528 เมื่อถึงกำหนดบริษัทสีลมการแพทย์ จำกัด ได้ขอเลื่อนไปเป็นวันที่ 23 สิงหาคม 2528หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2528 บริษัทสีลมการแพทย์ จำกัดได้มอบอำนาจให้นางมาลัยไปดำเนินการแทน ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 และนางมาลัยได้ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องตามเอกสารหมาย จ.2 ให้แก่โจทก์ในวันที่ 23 สิงหาคม 2528 ต่อมาเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2528 โจทก์ได้ส่งหนังสือให้ความยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องตามเอกสารหมาย จ.5 ไปให้ผู้ชำระบัญชีของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บางกอกรัษฎาและทรัสท์ จำกัดลงลายมือชื่อให้ความยินยอมซึ่งปรากฏว่า นายเติมศักดิ์ กฤษณามระผู้ชำระบัญชีได้มอบอำนาจให้ นายสมฤกษ์ กฤษณามระ กระทำการแทนตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวมาจำเลยมิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงต้องฟังตามที่โจทก์นำสืบ ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า หนังสือโอนสิทธิเรียกร้องทำขึ้นวันที่ 8 สิงหาคม 2528 ก่อนนางมาลัยได้มอบอำนาจจากบริษัทสีลมการแพทย์ จำกัด นั้น จำเลยก็มิได้มีพยานมาสืบให้เห็นเป็นความจริง การที่เอกสารระบุทำขึ้นในวันดังกล่าวนางสาวเกสิณีและนางอุไรวรรณ พนักงานการเงินของโจทก์เบิกความว่า เอกสารนี้ทำเตรียมขึ้นตั้งแต่ครั้งแรกที่นัดบริษัทสีลมการแพทย์ จำกัดไว้ซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นความจริง เพราะด้านหน้าข้างล่างของหนังสือนางมาลัยได้ลงชื่อและลงวันที่กำกับไว้ว่า 23 สิงหาคม 2528เหตุที่มิได้มีการแก้ไขวันทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องจากวันที่ 8ให้เป็นวันที่ 23 ก็คงเนื่องมาจากความพลั้งเผลอหลงลืม และการนำสืบว่าเอกสารนี้ทำขึ้นจริงวันไหน ย่อมนำสืบได้หาเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคแรก (ข) ดังที่จำเลยฎีกาไม่ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่านายเติมศักดิ์ ผู้ชำระบัญชีของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บางกอกรัษฎาและทรัสท์ จำกัด ให้ความยินยอมในการโอนตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่นั้น จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ดังนี้ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าการโอนตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทได้ปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคแรก,917 วรรคสอง ประกอบมาตรา 985 วรรคแรก โจทก์จึงเป็นผู้รับโอนโดยชอบด้วยกฎหมาย
สำหรับปัญหาว่าจำเลยเป็นผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า นอกจากจำเลยจะยอมรับว่าได้ลงลายมือชื่อด้านหลังตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทแล้วยังปรากฏข้อความใต้ลายมือชื่อของจำเลยเป็นภาษาอังกฤษว่า “GOOD AS AAL” โดยมีความหมายว่า “ใช้ได้เป็นอาวัล” ซึ่งข้อความดังกล่าวได้ความจากคำเบิกความของนางสาวเกสิณี ผู้ทำหน้าที่รับแลกเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทและนางอุไรวรรณ พนักงานการเงินผู้รับผิดทำเรื่องการแลกเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทของโจทก์ว่ามีอยู่ก่อนที่บริษัทสีลมการแพทย์จำกัด นำมาขอแลกเปลี่ยนกับโจทก์ และได้ความจากคำเบิกความของจำเลยว่า จำเลยเป็นกรรมการของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บางกอกรัษฎาและทรัสท์ จำกัด ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทจำเลยได้สลักหลังตั๋วให้แก่บริษัทสีลมการแพทย์ จำกัด โดยสัญญาว่าถ้าไม่สามารถรับเงินตามตั๋วได้ ให้บริษัทสีลมการแพทย์ จำกัดนำตั๋วมาแลกเปลี่ยนเป็นเช็คบริษัทในเครือของบริษัทผู้ออกตั๋วที่จำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการอยู่ จึงเห็นได้ชัดว่าจำเลยลงชื่อด้านหลังตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทก็โดยเจตนาเพื่อรับอาวัล ดังนั้น ข้อความนี้ย่อมเชื่อได้ว่ามีพิมพ์อยู่แล้วในขณะที่จำเลยลงลายมือชื่อ จำเลยจึงเป็นผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท ต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้ทรงตั๋วเช่นเดียวกับผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 940 วรรคแรก, 967 วรรคแรก ประกอบมาตรา985 วรรคแรก ซึ่งมีอายุความ 3 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1001 ปรากฏว่าตั๋วสัญญาใช้เงินครบกำหนดใช้เงินวันที่8 กันยายน 2527 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อ 24 สิงหาคม 2530 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน