แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยลักทรัพย์เพียง 2 รายการ คือตุ้มหูทองคำและแหวนเพชรรัสเซียเมื่อพนักงานสอบสวนไปตรวจค้นบ้านญาติจำเลยก็ไม่พบทรัพย์ดังกล่าวคงพบแต่หมวกพลาสติกสำหรับใส่อาบน้ำในกระเป๋าเสื้อผ้าจำเลย ผู้เสียหายก็ไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยเกี่ยวกับหมวกพลาสติกในทันที กรณีอาจเป็นได้ว่าผู้เสียหายให้หมวกดังกล่าวแก่จำเลยแล้วการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันลักตุ้มหูทองคำจำนวน 1 คู่ราคา 1,700 บาท แหวนทองเค (แหวนเพชรรัสเซีย)จำนวน 1 วงหมวกพลาสติกจำนวน 1 ใบ รวมราคา 2,710 บาทของนางสาววัลลภา เลิศไพรวัลย์ ผู้เสียหายไปหรือมิฉะนั้นรับเอาหมวกพลาสติก จำนวน 1 ใบ โดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์ที่ถูกลักมา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 357,83 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ตุ้มหูทองคำ แหวนทองเค(เพชรรัสเซีย) รวมเป็นเงิน 2,700 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นข้อเท็จจริงว่า จำเลยลักหมวกพลาสติก 1 ใบพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11) วรรคหนึ่ง จำคุก 1 ปีจำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษตามมาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก 8 เดือน ทรัพย์ที่ลักมีราคาเพียงเล็กน้อย ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยมีความผิดฐานลักหมวกพลาสติก สำหรับใส่อาบน้ำของผุ้เสียหายหรือไม่ โจทก์มีนางสาววัลลภา เลิศไพรวัลย์ผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่า มิได้ให้หมวกดังกล่าวแก่จำเลย ร้อยตำรวจโทหทัย เกษสุวรรณ์ พนักงานสอบสวนพยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพว่าแอบเอาหมวกพลาสติกสำหรับใส่อาบน้ำของผู้เสียหายไปจริง ปรากฏตามบันทึกคำให้การของจำเลยเอกสารหมาย จ.7 แต่ร้อยตำรวจโทหทัยก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2533 ผู้เสียหายแจ้งแก่พยานว่า จำเลยลักทรัพย์ของผู้เสียหายเพียง 2 รายการคือ ตุ้มหูทองคำและแหวนเพชรรัสเซีย เท่านั้น เมื่อผู้เสียหายนำพยานไปตรวจค้นที่บ้านญาติของจำเลยไม่พบทรัพย์ทั้งสองสิ่งคงพบแต่หมวกพลาสติกสำหรับใส่อาบน้ำอยู่ในกระเป๋าเสื้อผ้าของจำเลย ผู้เสียหายก็ไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยเกี่ยวกับหมวกดังกล่าว พยานจึงไม่ได้สอบถามจำเลยว่าได้หมวกมาอย่างไรเห็นว่าหากผู้เสียหายมิได้ให้หมวกพลาสติกสำหรับใส่อาบน้ำแก่ จำเลยจริงดังที่จำเลยนำสืบกล่าวแก้แล้ว เมื่อผู้เสียหายพบหมวกดังกล่าวอยู่ในกระเป๋าเสื้อผ้าของจำเลยในวันที่19 ธันวาคม 2533 ผู้เสียหายก็น่าจะแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาลักทรัพย์หมวกพลาสติกสำหรับใส่อาบน้ำของผู้เสียหายและยืนยันให้ร้อยตำรวจโทหทัยยึดหมวกดังกล่าวมาเป็นของกลางเพื่อเอาผิดแก่จำเลยเสียตั้งแต่แรก การที่ผู้เสียหายไม่แจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาดังกล่าวในทันทีที่พบหมวกพลาสติกสำหรับใส่อาบน้ำนั้นอาจเป็นได้ว่าผู้เสียหายได้ให้หมวกดังกล่าวแก่จำเลยแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าผู้เสียหายยกหมวกดังกล่าวให้แก่จำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ และพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน