แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3และให้จำเลยนำส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์ภายใน 7 วันมิฉะนั้นถือว่าทิ้งฎีกา ปรากฏว่าฎีกาของจำเลยที่ 2มีข้อความว่าให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 22 มีนาคม 2533ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว โดยจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อ ทราบวันนัดไว้ แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 นำส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์โดยสั่งในวันที่ 21 มีนาคม 2533 ซึ่งเป็นวันรุ่งขึ้นหลังจากจำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาก็ตาม ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว ตั้งแต่ วันที่ 22 มีนาคม 2533 เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่นำส่งสำเนา ฎีกาในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด จึงเป็นการทิ้งฟ้องฎีกา ส่วนจำเลยที่ 3 นั้น ปรากฏว่าฎีกาของจำเลยที่ 3มีข้อความว่าให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 23 มีนาคม 2533ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว แต่ผู้ลงลายมือชื่อทราบคำสั่งดังกล่าว มิใช่จำเลยที่ 3 หรือทนายจำเลยที่ 3แต่เป็นผู้อื่น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 3นำส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์โดยเป็นการสั่งในวันที่ 21มีนาคม 2533 ซึ่งเป็นวันรุ่งขึ้นหลังจากจำเลยที่ 3ยื่นฎีกา จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว แม้จำเลยที่ 3 ไม่นำส่งสำเนาฎีกาภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ ก็ไม่เป็นการทิ้งฟ้องฎีกา
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินคืนโจทก์ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระก็ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันชำระ
จำเลยทั้งสามให้การว่าไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินให้โจทก์ ก็ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันใช้เงินให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่างยืนฎีกาต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่20 มีนาคม 2533 ศาลชั้นต้นสั่งฎีกาของจำเลยที่ 2 และของจำเลยที่ 3ทำนองเดียวกันว่ารับฎีกา สำเนาให้โจทก์ ให้จำเลยนำส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์ภายใน 7 วัน ถ้าส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 15 วันนับแต่วันส่งไม่ได้ เพื่อดำเนินการต่อไป มิฉะนั้นถือว่าทิ้งฎีกาต่อมาเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2534 ศาลชั้นต้นได้รับรายงานจากพนักงานเดินหมาย กรมบังคับคดีว่า จำเลยที่ 2 หรือผู้แทนไม่มาเสียค่าธรรมเนียมการส่งหมายนัดและสำเนาฎีกา และเมื่อวันที่ 23 เมษายน2534 ศาลชั้นต้นได้รับรายงานจากพนักงานเดินหมายอีกว่า จำเลยที่ 3หรือผู้แทนก็มิได้มาเสียค่าธรรมเนียมในการส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาเช่นเดียวกัน ศาลชั้นต้นจึงส่งสำนวนมาให้ศาลฎีกาพิจารณาสั่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีข้อความประทับด้วยตรายางของศาลชั้นต้นว่า “ให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 22 มีนาคม 2533ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว” โดยมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้และศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยที่ 2 นำส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์ใน 7 วันแม้ศาลชั้นต้นจะสั่งในวันที่ 21 มีนาคม 2533 ซึ่งเป็นวันรุ่งขึ้นหลังจากจำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อรับทราบวันนัดให้มาฟังคำสั่งศาลชั้นต้นนั้น เป็นการแสดงเจตนายอมรับว่าจะมาฟังคำสั่งในวันดังกล่าว ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้วจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นแล้วตั้งแต่วันที่22 มีนาคม 2533 เมื่อจำเลยที่ 2 เพิกเฉยไม่จัดการนำส่งสำเนาฎีกาภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ จึงเป็นการทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2)
ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 3 ซึ่งมีข้อความประทับด้วยตรายางของศาลชั้นต้นว่า “ให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 23 มีนาคม 2533 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว” แต่ปรากฏว่าผู้ที่ลงลายมือชื่อไว้ใต้ตราประทับดังกล่าวไม่ใช่จำเลยที่ 3 หรือทนายจำเลยที่ 3ทั้งไม่ปรากฏว่าเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 3 หรือทนายจำเลยที่ 3 อย่างไรดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 3 นำส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์ใน 7 วัน แต่เป็นการสั่งในวันที่ 21 มีนาคม 2533 ซึ่งเป็นวันรุ่งขึ้นหลังจากจำเลยที่ 3 ยื่นฎีกา จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว แม้จำเลยที่ 3 ไม่นำส่งสำเนาฎีกาภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ ก็ไม่เป็นการทิ้งฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2)”
ให้ศาลชั้นต้นแจ้งคำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 21 มีนาคม 2533ให้จำเลยที่ 3 ทราบ แล้วดำเนินการต่อไป และให้จำหน่ายคดีของจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความของศาลฎีกา