คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1112/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยว่าจำเลยจะทำการรื้อถอนกำแพงคอนกรีตของวัดที่อยู่ติดกับถนนสาธารณประโยชน์ทางทิศตะวันออกของที่ดินแปลงตามสัญญาตกลงร่วมหุ้นออกไปภายใน 40 วัน นับแต่วันทำหนังสือนั้น เมื่อตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 31 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2)พ.ศ.2535 บัญญัติว่า วัดมีสองอย่าง (1) วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา(2) สำนักสงฆ์ ให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป มาตรา 37 บัญญัติว่า เจ้าอาวาสมีหน้าที่ดังนี้ (1) บำรุงวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี และมาตรา 40 บัญญัติว่า ศาสนสมบัติแบ่งออกเป็นสองประเภท (1) ศาสนสมบัติกลาง ได้แก่ ทรัพย์สินของศาสนาซึ่งมิใช่ของวัดใดวัดหนึ่ง (2) ศาสนสมบัติของวัด ได้แก่ ทรัพย์สินของวัดใดวัดหนึ่ง ดังนั้น เมื่อวัดเป็นนิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา กำแพงวัดเป็นเพียงศาสนสมบัติของวัด ซึ่งเจ้าอาวาสมีอำนาจจัดการก่อสร้างหรือรื้อถอนเพื่อประโยชน์ของวัดได้ หากจำเลยสามารถทำความตกลงกับเจ้าอาวาสเพื่อขอรื้อถอนกำแพงวัดและทางวัดยินยอม จำเลยย่อมสามารถรื้อถอนกำแพงวัดได้ การที่จำเลยได้ทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์เนื่องจากจำเลยเห็นว่าตนสามารถทำความตกลงกับเจ้าอาวาสได้ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด จึงไม่เป็นโมฆะ
ตามหนังสือสัญญาตกลงร่วมหุ้นมีข้อความว่า “…เมื่อผู้ร่วมหุ้นที่ 2 (จำเลย) ทำการรื้อถอนกำแพงคอนกรีตที่ติดกับถนนสาธารณประโยชน์ทางทิศตะวันออกของโฉนดที่ดินที่จะซื้อขายภายใน 40 วัน นับตั้งแต่วันทำสัญญาฉบับนี้”แม้จะไม่มีข้อความใดระบุว่าให้จำเลยรื้อถอนจำนวนเท่าใดก็ตาม แต่เมื่อถ้อยคำในสัญญาระบุชัดแจ้งแล้วว่าให้รื้อถอนกำแพงคอนกรีตที่ติดกับถนนสาธารณประโยชน์ทางทิศตะวันออกของโฉนด ย่อมแสดงว่าจำเลยต้องรื้อถอนกำแพงด้านทิศตะวันออกทั้งหมด จำเลยรื้อถอนกำแพงออกไป 6 ช่องแล้วถูกดำเนินคดี จึงก่อสร้างกำแพงกลับสู่สภาพเดิม 5 ช่อง คงเหลือส่วนที่จำเลยทุบออก 1 ช่อง และส่วนที่ผู้อื่นทุบออก 1 ช่อง ถือได้ว่าจำเลยไม่สามารถรื้อถอนกำแพงออกไปหมดตามสัญญาจำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา

Share