คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 359/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532มาตรา 4 บัญญัติว่า “ในกรณีผิดสัญญาประกันต่อศาล ศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกัน หรือตามที่ศาลเห็นสมควรโดยมิต้องฟ้องเมื่อศาลสั่งประการใดแล้ว ฝ่ายผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันหรือพนักงานอัยการมีอำนาจอุทธรณ์ได้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด” บทบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2532ผู้ประกันยื่นฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาลดค่าปรับกรณีผิดสัญญาประกันเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2534 หลังจากบทบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุด

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ ผู้ประกันได้ประกันตัวจำเลยที่ 2 ไปในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โดยศาลชั้นต้นตีราคาประกัน 120,000 บาท จำเลยที่ 2 หลบหนี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งปรับผู้ประกันตามสัญญาประกัน ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจับจำเลยที่ 2 ได้ ผู้ประกันยื่นคำร้องขอลดค่าปรับ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลดค่าปรับให้ 30,000 บาท ให้ปรับผู้ประกัน90,000 บาท ผู้ประกันอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ปรับผู้ประกัน 60,000 บาท ผู้ประกันฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ผู้ประกันฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาลดค่าปรับกรณีผู้ประกันผิดสัญญาประกันต่อศาล กรณีนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ในกรณีผิดสัญญาประกันต่อศาลศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกัน หรือตามที่ศาลเห็นสมควรโดยมิต้องฟ้อง เมื่อศาลสั่งประการใดแล้ว ฝ่ายผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันหรือพนักงานอัยการมีอำนาจอุทธรณ์ได้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด” บทบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9ตุลาคม 2532 ผู้ประกันยื่นฎีกาคดีนี้วันที่ 19 มีนาคม 2534 อันเป็นเวลาหลังจากบทบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุด ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของผู้ประกันมาไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของผู้ประกัน

Share