คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1297/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อบังคับองค์การจำเลยว่าด้วยวินัยฯ กำหนดโทษผิดวินัยไว้เพียง 5 สถาน คือ ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ลดขั้นเงินเดือนให้ออก ปลดออก แต่ไม่รวมถึงตักเตือนด้วยการที่จำเลยมีหนังสือเตือนโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการลงโทษโจทก์และหากโจทก์จะถูกเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยเพราะกระทำการดังถูกตักเตือนมาแล้วโจทก์ก็ยกเป็นข้อต่อสู้ได้ว่าการเตือนเป็นหนังสือนี้ไม่ถูกต้องได้ดังนั้น กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิอันจะเป็นเหตุให้โจทก์นำคดีมาสู่ศาลขอให้เพิกถอนหนังสือเตือนดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้บังคับบัญชาและเป็นกรรมการในคณะกรรมการสหภาพแรงงานองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยสหภาพแรงงานฯ ได้ทราบผลสรุปของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ เกี่ยวกับการสอบสวนการทุจริตในองค์การจำเลยว่านายประมุท กระทำการทุจริต มีมูลความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐฯ สหภาพแรงงานฯ ได้มีมติแต่งตั้งโจทก์และกรรมการอื่นให้เรียกร้องต่อคณะกรรมการบริหารของจำเลยทำการปราบปรามการทุจริตดังกล่าวอย่างจริงจัง โจทก์จึงขอลากิจเพื่อทำธุระส่วนตัว 1 วัน และผู้บังคับบัญชาได้อนุญาตให้ลาแล้ว ในวันนั้นโจทก์และกรรมการอื่นได้ทำธุรกิจส่วนตัวโดยยืนถือป้ายเรียกร้องให้คณะกรรมการบริหารของจำเลยปราบปรามการทุจริต ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ลงโทษทางวินัยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือ อ้างว่าโจทก์ลากิจเพื่อไปทำธุรกิจส่วนตัว แต่มายืนถือป้ายประท้วงเป็นการรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา ปกปิดความจริง ก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชาและก่อให้เกิดความแตกแยกสามัคคีในหมู่ผู้ปฏิบัติงาน เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือดังกล่าว จำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือเตือนโจทก์ ซึ่งเป็นการลงโทษไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะการกระทำของโจทก์ไม่เป็นความผิด ขอให้จำเลยที่ 1 ยกเลิกหนังสือที่แจ้งให้จำเลยที่ 2 ลงโทษโจทก์ และให้จำเลยที่ 2 ยกเลิกหนังสือที่ลงโทษตักเตือนโจทก์

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยเพียงมีคำสั่งตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือซึ่งมิใช่โทษทางวินัยอันจะถือว่าเป็นการลงโทษตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยหนังสือที่จำเลยที่ 1 มีถึงจำเลยที่ 2 เพื่อพิจารณาดำเนินการทางวินัยแก่โจทก์เป็นเรื่องอำนาจบริหารของนายจ้างตามปกติ โจทก์จึงไม่มีอำนาจขอให้ศาลเพิกถอนได้ ส่วนหนังสือตักเตือนโจทก์เมื่อมิใช่เป็นการลงโทษดังกล่าวแล้ว จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์ขอให้ศาลเพิกถอนได้เช่นกัน ขอให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือที่จำเลยที่ 2 ว่ากล่าวตักเตือนโจทก์คำขอนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ 2 ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามข้อบังคับองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยว่าด้วยวินัน การสอบสวน การลงโทษฯ ข้อ 5 กำหนดโทษผิดวินัยไว้เพียง5 สถาน คือ ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ลดขั้นเงินเดือน ให้ออก ปลดออก ไม่รวมถึงตักเตือนด้วย จึงถือไม่ได้ว่าการที่จำเลยที่ 2 มีหนังสือเตือนโจทก์เป็นการลงโทษโจทก์ หนังสือเตือนดังกล่าวจึงไม่มีผลที่จะทำให้โจทก์เสียสิทธิแต่อย่างใด และเมื่อโจทก์ถือว่าหนังสือเตือนดังกล่าวเป็นการไม่ชอบแล้ว ก็ไม่มีผลกระทบถึงเหตุที่โจทก์จะถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 47(3) ถึงหากโจทก์จะถูกเลิกจ้างเพราะในคราวต่อไปกระทำการดังถูกตักเตือนมาแล้ว และจำเลยที่ 1 ไม่จ่ายค่าชดเชยให้ โจทก์ก็ย่อมยกเป็นข้อต่อสู้ได้ว่าการเตือนเป็นหนังสือครั้งแรกหรือในกรณีที่พิพาทกันนี้เป็นการไม่ถูกต้องได้ ฉะนั้น เพียงแต่จำเลยที่ 2 มีหนังสือเตือนโจทก์ในกรณีนี้ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิอันจะเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธินำคดีมาสู่ศาลขอให้เพิกถอนหนังสือเตือนดังกล่าวได้

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนหนังสือเตือนของจำเลยที่ 2 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share