คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3283/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11(พ.ศ. 2522) ข้อ 3 เครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ต้องเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 11(พ.ศ. 2522) ข้อ 2 แต่เครื่องกระสุนปืนนั้นแม้จะเป็นเครื่องกระสุนปืนขนาดที่ใช้กับอาวุธปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้ก็ตาม หากเป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิงแล้ว ก็เป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้
เครื่องกระสุนปืนขนาด 7.62 มม. เป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ จึงเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้เช่นกันเว้นแต่จะเป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิงจึงจะเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 11(พ.ศ. 2522) ข้อ 3 ตอนท้าย ดังนั้น แม้เครื่องกระสุนปืนดังกล่าวจะเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ผลิตขึ้นมาใช้กับอาวุธปืนสงครามของทหารกองทัพนาโต้เป็นการเฉพาะ แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าเป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 55,78

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 100 เม็ด น้ำหนัก 8.940 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำเลยทั้งสองร่วมกันมีอาวุธปืนสั้นออโตเมติกขนาด .45 ชนิดประกอบขึ้นเอง ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ จำนวน 1 กระบอก อาวุธปืนออโตเมติกขนาด 8 มม. ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ จำนวน 1 กระบอก อาวุธปืนรีวอลเวอร์ ขนาด .22 มม. ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับจำนวน 1 กระบอกลำกล้องปืนของปืนลูกซองยาวเดี่ยว ขนาด 12 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาวุธปืนและถือเป็นอาวุธปืนตามกฎหมาย จำนวน 1 อัน กระสุนปืนขนาด 9 มม.ลูเกอร์จำนวน 8 นัด กระสุนปืนลูกกรด ขนาด .22 แม็กนั่ม จำนวน 3 นัด กระสุนปืนลูกกรดขนาด .22 ลองไรเฟิล จำนวน 2 นัด อันเป็นเครื่องกระสุนปืนตามกฎหมายไว้ในครอบครอง และจำเลยทั้งสองร่วมกันมีกระสุนปืนขนาด 7.62 มม. นาโต้ จำนวน 7 นัด อันเป็นเครื่องกระสุนปืนซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง โดยมิได้รับใบอนุญาตและเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 55, 72, 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 58, 91 ริบของกลาง และบวกโทษจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5649/2542 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้

จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ

จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง, 78 (ที่ถูกมาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83) การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำคุกคนละ 6 ปีฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 2 ปีฐานร่วมกันมีเครื่องกระสุนปืน ซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 10 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 5 ปี บวกโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5649/2542 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในคดีนี้รวมจำคุก 5 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 จำคุก 6 ปี 8 เดือน ริบของกลาง

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย (ที่ถูกฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย) จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 6 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ8 ปี ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง จำคุก 4 ปี บวกโทษจำคุก 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี 6 เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม คงจำคุก 5 ปี 4 เดือน ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองในความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 55, 78 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายเพียงประการเดียวที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาว่า เครื่องกระสุนปืนขนาด 7.62 มม. NATO (BLANK) จำนวน 7 นัด ของกลาง ผู้เชี่ยวชาญงาน 2 กองกำกับการวิทยาเขต 2 ตรวจพิสูจน์แล้วรายงานว่าเป็นเครื่องกระสุนปืนแบบที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ตามเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10อันแสดงว่าเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวจะต้องใช้กับอาวุธปืนที่ทหารของกองทัพนาโต้ใช้ประจำกาย จึงเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้ได้เฉพาะทหารในการสงคราม ประชาชนโดยทั่วไปจะมีใช้ไม่ได้ ถึงแม้เครื่องกระสุนปืนนั้น ๆ จะมีขนาดไม่เกิน 11.44 มม. ก็ตามเมื่อเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้กับอาวุธปืนสงครามของกองทัพนาโต้เป็นการเฉพาะแล้วก็ย่อมจะต้องเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ เป็นข้อยกเว้นจากอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยทั่ว ๆ ไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า เครื่องกระสุนปืนขนาด 7.62 มม. จำนวน 7 นัด ของกลาง เป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้ ไม่เป็นความผิดตามฟ้องเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า แม้ตามรายงานผลการตรวจพิสูจน์เครื่องกระสุนปืน ขนาด 7.62มม. NATO (BLANK) ของกลางเอกสารหมาย จ.10 มีความเห็นของผู้ชำนาญที่ตรวจพิสูจน์ว่า กระสุนปืนของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนแบบที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ดังเช่นที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่เมื่อพิจารณากฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2522) ดังกล่าว ข้อ 3 กำหนดว่า “เครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ตามมาตรา 7 หรือมาตรา 24 ต้องเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนตามข้อ 2 ที่ได้รับอนุญาต แต่ต้องไม่เป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิง” อันหมายความว่า เครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้นั้นต้องเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2522) ข้อ 2 เว้นแต่เครื่องกระสุนปืนนั้นแม้จะเป็นเครื่องกระสุนปืนขนาดที่ใช้กับอาวุธปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้ก็ตาม หากเป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิงแล้ว ก็เป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ซึ่งเมื่อเครื่องกระสุนปืนของกลางมีขนาดเพียง 7.62 มม. ไม่เกินขนาดอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2522) ข้อ 2(1) ที่กำหนดว่า “อาวุธปืนชนิดลำกล้องมีเกลียวที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางปากลำกล้องไม่เกิน 11.44 มม.” และข้อ 2(2) กำหนดว่า “อาวุธปืนชนิดลำกล้องไม่มีเกลียว ดังต่อไปนี้ (ก) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางปากลำกล้องไม่ถึง 20 มม. (ข) ปืนบรรจุปาก ปืนลูกซอง และปืนพลุสัญญาณ”แล้ว จึงเห็นได้ในเบื้องต้นว่า เครื่องกระสุนปืนขนาด 7.62 มม. จำนวน 7 นัด ของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ เครื่องกระสุนปืนขนาด 7.62 มม. ดังกล่าว จึงเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้เช่นกัน เว้นแต่เครื่องกระสุนปืนขนาด 7.62 มม. นี้จะเป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิง จึงจะเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2522) ข้อ 3 ตอนท้าย ดังนั้น ถึงหากจะให้รับฟังว่าเครื่องกระสุนปืนขนาด 7.62 มม. จำนวน 7 นัด ของกลาง เป็นเครื่องกระสุนปืนที่ผลิตขึ้นมาใช้กับอาวุธปืนสงครามของทหารกองทัพนาโต้เป็นการเฉพาะดังเช่นที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบให้เห็นว่าเครื่องกระสุนปืนขนาด 7.62 มม. จำนวน 7 นัด ของกลาง เป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิงซึ่งเป็นข้อยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2522) ข้อ 3 ตอนท้าย ที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้แล้ว ก็ไม่อาจรับฟังเช่นโจทก์ฎีกาได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ข้อหาความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 55, 78 จึงชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง อาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไว้ในครอบครองในคดีนี้ มีทั้งลำกล้องปืน และกระสุนปืนซึ่งเป็นคนละชนิดและขนาดกับอาวุธปืน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงนอกจากจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 72 วรรคหนึ่ง แล้ว ยังเป็นความผิดตามมาตรา 72 วรรคสอง อีกด้วย อันเป็นความผิดกรรมเดียวกันผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้ปรับบทลงโทษตามมาตรา 72 วรรคสอง มาด้วยนั้น จึงยังไม่ถูกต้อง ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาแต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 225”

พิพากษาแก้เป็นว่า ในความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ลงโทษตามมาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share