แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 เป็นบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล หาใช่บทบัญญัติลงโทษการกระทำผิดไม่ ฉะนั้น เมื่อคำร้องของผู้ร้องบรรยายข้อความเข้าดังบัญญัติไว้ในมาตรา 90 แล้ว ศาลก็ชอบที่จะยกมาตรานี้ขึ้นพิจารณาและปรับกับกรณีได้
คำว่า “ควบคุม” หรือ “ขัง” ในมาตรา 90 นี้ เป็นถ้อยคำที่ใช้ตามความหมายธรรมดา หาใช่จำกัดดังประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(21) และ (22) อธิบายไว้ไม่ ฉะนั้น มาตรา 90 จึงเป็นบทบัญญัติสำหรับกรณีที่บุคคลต้องถูกควบคุมหรือขังโดยผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมหรือขังโดยเจ้าพนักงานหรือคนธรรมดาก็ตาม
ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 32/2504
ย่อยาว
คดีนี้ ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลว่า นางมีเนาะภรรยาของผู้ร้องถูกคนร้ายสมคบกันฉุดคร่าไปเพื่อการอนาจารและข่มขืนชำเรา ต่อมาผู้ร้องสืบทราบว่าคนร้ายได้นำนางมีเนาะไปหน่วงเหนี่ยวกักขังอยู่ที่บ้านนายอาลีแซะห์ดาโอะ จึงขอให้ศาลออกหมายค้นบ้านนายอาลีแซะห์ดาโอะเพื่อพบและช่วยนางมีเนาะซึ่งถูกกักขังไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕๘ (๓),๖๙(๓)
ศาลชั้นต้นเห็นว่า กรณีเป็นเรื่องที่ผู้ร้องต้องร้องขอต่อพนักงานฝ่ายปกครอง ไม่อยู่ในอำนาจศาลจึงให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า
(๑)ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๙๐ เป็นบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล หาใช่บทบัญญัติลงโทษการกระทำผิดไม่ ฉะนั้น เมื่อคำร้องของผู้ร้องบรรยายขอความมาเข้าดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๙๐ แล้วศาลก็ชอบที่จะยกมาตรา ๙๐ ขึ้นพิจารณาและปรับกับกรณีได้
(๒) ในการที่จะพิจารณาว่า กรณีดังคำร้องนี้เข้ามาตรา ๙๐ หรือไม่ก็ชอบที่จะพิจารณาความหมายของมาตรา ๙๐ นี้เสียก่อน มาตรา ๙๐ นี้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ลักษณะ ๕ หมวด ๑ อันว่าด้วย จับ ขัง จำคุก และมาตรา ๙๐ ก็ใช้คำว่า บุคคลใดต้องถูกควบคุมหรือขังโดยผิดกฎหมายคำว่า ควบคุม นี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๒๑) ให้ความหมายไว้รวมทั้งคำว่า ขัง ด้วย พิจารณาแล้วน่าจะเข้าใจว่า มาตรา ๙๐ หมายถึง การควบคุมและขังโดยเจ้าหน้าที่ แต่เนื่องจากการควบคุมโดยพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในระหว่างสืบสวนสอบสวนและการขังจำเลยหรือผู้ต้องหาโดยศาล เป็นอำนาจที่กฎหมายให้ไว้ ว่าโดยปกติการควบคุมหรือขังดังว่า จึงมิใช่การควบคุมหรือขังโดยผิดกฎหมาย ดังที่มาตรา ๙๐ ว่าไว้ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งในมาตรา ๙๐ นี้เอง วรรคท้ายมีความว่า เมื่อได้รับคำร้องดังนั้น ให้ศาลหมาเรียกเจ้าพนักงานหรือบุคคลอื่น ซึ่งก่อให้เกิดการควบคุม ฯลฯ แสดงให้เห็นว่าการควบคุมหรือขังตามมาตรานี้ อาจเป็นการควบคุมของบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าพนักงานก็ได้ ประการที่สาม การควบคุมหรือขังอันเป็นการตัดเสรีภาพของบุคคลใดนี้อาจเกิดขึ้นจากบุคคลอื่น
ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานเป็นผู้กระทำ หากมาตรา ๙๐ จะมุ่งหมายเฉพาะการควบคุมหรือขังโดยเจ้าพนักงานเท่านั้นแล้ว ก็จะไม่ให้ความคุ้มครองเพียงพอสำหรับสิทธิและเสรีภาพของบุคคลทั่วไป ประการที่สี่ แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๒๑) และ (๒๒) จะให้ความหมายของคำว่า ควบคุมและขัง แล้วก็ดี แต่ก็ยังมีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑ บัญญัติว่า “ฯลฯ คำใดมีคำอธิบายไว้แล้ว ให้ถือตามความหมายดังได้อธิบายไว้ เว้นแต่ข้อความในตัวบทจะขัดกับคำอธิบายนั้น” เมื่อพิจารณาตัวบทมาตรา ๙๐ ตามเหตุผลดังกล่าวแล้ว เห็นได้ว่า คำว่า ควบคุมหรือขัง ในมาตรา ๙๐ นี้ เป็นถ้อยคำที่ใช้ตามความหมายธรรมดา หาใช่จำกัดดังมาตรา ๒ (๒๑) และ (๒๒) อธิบายไว้ไม่ ด้วยเหตุทั้งหลายดังกล่าวแล้วนี้ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจึงเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๙๐ เป็นบทบัญญัติสำหรับกรณีที่บุคคลต้องถูกควบคุมหรือขังโดยผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าพนักงานหรือคนธรรมดาเป็นผู้ควบคุมหรือขัง กรณีของผู้ร้องนี้ก็เข้าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๙๐ ศาลชอบที่จะดำเนินการไปตามมาตรา ๙๐ นั้น จะออกหมายค้นตามมาตรา ๕๘ และ ๖๙ ตรงไปทีเดียวในขณะนี้ตามที่ผู้ร้องขอ
ยังหามีเหตุอันสมควรไม่
พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๙๐ วรรคท้าย ต่อไป