แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์มีกำหนด 20 วัน เนื่องจากที่ประชุมกรรมการบริษัทโจทก์เพิ่งมีมติให้ทนายโจทก์ยื่นอุทธรณ์ แต่ระยะเวลาที่เหลืออยู่กระชั้นชิดไม่สามารถทำอุทธรณ์ได้ทัน นับว่ามีเหตุอันสมควรและเป็นพฤติการณ์พิเศษเพราะโจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด (มหาชน) การดำเนินการใด ๆในเรื่องสำคัญย่อมต้องกระทำในรูปมติของคณะกรรมการบริษัทซึ่งอาจไม่คล่องตัวหรือต้องล่าช้าไปบ้าง เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฉบับแรกก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ 2 วัน และยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฉบับที่สองโดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่ห้องเก็บสำนวนหาสำนวนไม่พบ โจทก์จึงยังไม่ทราบคำสั่งศาลตามคำร้องฉบับแรก โจทก์เพิ่งได้รับสำเนาคำพิพากษาและยังมีความประสงค์จะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ แสดงว่าโจทก์เอาใจใส่และติดตามคดีของตนตลอดมา เมื่อโจทก์ไม่ทราบคำสั่งศาลเพราะหาสำนวนไม่พบ โจทก์ก็ดำเนินการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ต่อศาลอีกครั้งหนึ่งทันที ตามรูปคดีนับว่ามีพฤติการณ์พิเศษและมีเหตุอันควรขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้โจทก์
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 177, 180, 264, 265, 268 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ โดยอ้างว่าหลังจากโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ต่อศาลแล้ว เจ้าหน้าที่ห้องเก็บสำนวนยังหาสำนวนไม่พบโจทก์เพิ่งได้รับสำเนาคำพิพากษาและยังประสงค์จะยื่นอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26กันยายน 2543 ต่อมาวันที่ 19 ตุลาคม 2543 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์โดยอ้างว่าที่ประชุมกรรมการโจทก์มีมติเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2543 ให้ทนายโจทก์ยื่นอุทธรณ์ เนื่องจากเวลากระชั้นชิดไม่สามารถทำอุทธรณ์ได้ทัน จึงขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์มีกำหนด 20 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีตามคำร้องยังถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษ ไม่อนุญาต และให้ยกคำร้อง หลังจากนั้นวันที่ 24 ตุลาคม 2543 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีกอ้างว่าเจ้าหน้าที่ห้องเก็บสำนวนยังหาสำนวนไม่พบ โจทก์จึงยังไม่ทราบคำสั่งศาล และโจทก์เพิ่งได้รับสำเนาคำพิพากษาในวันที่ 19 ตุลาคม 2543จึงขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ 20 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าตามคำร้องยังถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษ ไม่อนุญาต และให้ยกคำร้อง คดีมีปัญหาชั้นฎีกาว่ามีเหตุสมควรอนุญาตขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้โจทก์ตามคำร้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ในวันที่ 26 กันยายน 2543 แล้ว ต่อมาวันที่ 19 ตุลาคม 2543 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์มีกำหนด 20 วัน เนื่องจากที่ประชุมกรรมการบริษัทโจทก์เพิ่งมีมติเมื่อวันที่ 17 เดือนเดียวกันให้ทนายโจทก์ยื่นอุทธรณ์ แต่ระยะเวลาที่เหลืออยู่กระชั้นชิด ไม่สามารถทำอุทธรณ์ได้ทัน ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวนับว่ามีเหตุอันสมควรและเป็นพฤติการณ์พิเศษเพราะโจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด (มหาชน)การดำเนินการใด ๆ ในเรื่องสำคัญย่อมต้องกระทำในรูปมติของคณะกรรมการบริษัทซึ่งอาจไม่คล่องตัวและต้องล่าช้าไปบ้าง เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฉบับแรกแล้ว ก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ 2 วัน โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฉบับที่สองต่อศาล โดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่ห้องเก็บสำนวนหาสำนวนไม่พบโจทก์จึงยังไม่ทราบคำสั่งของศาลตามคำร้องฉบับแรก โจทก์เพิ่งได้รับสำเนาคำพิพากษาและยังมีความประสงค์จะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์20 วัน แสดงว่าโจทก์เอาใจใส่และติดตามคดีของตนตลอดมา เมื่อโจทก์ไม่ทราบคำสั่งของศาลเพราะหาสำนวนไม่พบ โจทก์ก็ดำเนินการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ต่อศาลอีกครั้งหนึ่งทันที ตามรูปคดีนับว่ามีพฤติการณ์พิเศษและมีเหตุอันควรขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้โจทก์ตามคำร้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์มีกำหนด 20 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาศาลฎีกามีผลบังคับ และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไปตามกฎหมาย