คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4001/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พินัยกรรมใช้กระดาษที่มีตราครุฑและมีข้อความเป็นตัวพิมพ์ดีดเป็นส่วนใหญ่ กรอกข้อความด้วยลายมือเขียนเฉพาะบ้านเลขที่ วันเดือนปี อายุของเจ้ามรดกทั้งสอง และรายชื่อผู้รับพินัยกรรม มีลายมือชื่อและลายพิมพ์นิ้วมือของเจ้ามรดกทั้งสอง เมื่อปรากฏว่าพินัยกรรมได้ทำเป็นหนังสือลงวันเดือนปีขณะที่ทำ ผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อและลายพิมพ์นิ้วมือไว้ต่อหน้าพยานสองคนพร้อมกัน และพยานลงลายมือชื่อไว้ครบถ้วนจึงสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมตาม ป.พ.พ.มาตรา 1656
ผู้ทำพินัยกรรมมิได้ระบุชื่อทายาทผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก แต่เมื่อเจ้ามรดกทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกทั้งหมดแล้ว ถือว่าทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก
การที่ ท. คู่สมรสของ ม. ผู้รับมรดกตามพินัยกรรมลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรม เป็นเหตุให้ ม. ไม่อาจเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมนั้นได้ เพราะข้อกำหนดในพินัยกรรมในส่วนของ ม.เป็นโมฆะ แต่ไม่มีกฎหมายห้ามศาลไม่ให้รับฟังคำเบิกความของ ท. และ น. เป็นพยานแต่อย่างใด และข้อกำหนดในพินัยกรรมในส่วนของผู้ร้องยังคงสมบูรณ์ ใช้บังคับได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอจัดการมรดก
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสอง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งตั้งผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสอง ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษากลับให้ยกคำร้องของผู้ร้อง และตั้งให้ผู้คัดค้าน เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสอง กับให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า การที่นายทองเก็บสามีของนางมาลัยผู้รับมรดกตามพินัยกรรมลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมเป็นเหตุให้นางมาลัยไม่อาจเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนั้นได้ มิได้มีกฎหมายห้ามศาลไม่ให้รับฟังคำเบิกความของนายทองเก็บและนางมาลัยเป็นพยานแต่อย่างใด ทั้งมีผลให้ข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนของนางมาลัยและนางลูกจันทร์ซึ่งนายเหมา กมลมาลย์ ผู้เป็นสามีลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมเท่านั้นที่เป็นโมฆะ แต่ข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนของผู้ร้องยังคงสมบูรณ์ใช้บังคับได้ ส่วนในเรื่องตัวพินัยกรรมซึ่งใช้กระดาษโดยหัวกระดาษมีตราครุฑและมีข้อความเป็นตัวพิมพ์ดีดเป็นส่วนใหญ่ กรอกข้อความด้วยลายมือเขียนเฉพาะบ้านเลขที่ วันเดือนปี อายุของเจ้ามรดกทั้งสองและรายชื่อผู้รับพินัยกรรม มีลายมือชื่อและลายพิมพ์นิ้วมือของเจ้ามรดกทั้งสอง ตลอดจนลายมือชื่อพยานและผู้เขียนครบถ้วนนั้น เห็นว่า แม้หัวกระดาษจะมีตราครุฑก็ไม่ทำให้รูปแบบของพินัยกรรมเปลี่ยนแปลงไป เมื่อพินัยกรรมได้ทำเป็นหนังสือลงวันเดือนปีขณะที่ทำ ผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อและลายพิมพ์นิ้วมือไว้ต่อหน้าพยานสองคนพร้อมกัน และพยานลงลายมือชื่อไว้ครบถ้วน จึงสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมตามประมวลแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕๖ ส่วนลายมือชื่อของนายผิวผู้เขียนพินัยกรรม พยานผู้ร้องก็ยืนยันว่านายผิวเป็นผู้ลงลายมือชื่อ และข้อที่ว่าข้อความ เนื้อหาและผู้ที่เป็นพยานในพินัยกรรมน่าจะไม่ถูกต้องตามเจตนาของเจ้ามรดกและมิได้ระบุชื่อทายาทที่ถูกตัดมิให้รับมรดก เป็นข้อพิรุธว่าเป็นพินัยกรรมที่แท้จริงหรือไม่นั้น เห็นว่า พฤติการณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวมิใช่ข้อบ่งชี้ให้เห็นได้ว่าเจ้ามรดกทั้งสองมีเจตนาเป็นอย่างอื่นแตกต่างจากข้อกำหนดในพินัยกรรมอย่างไร แม้พินัยกรรมจะไม่ระบุชื่อทายาทผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก แต่เมื่อเจ้ามรดกทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกทั้งหมดแล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๐๘ วรรคสาม ให้ถือว่าทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก จึงไม่อาจถือเป็นข้อพิรุธอันจะทำให้รับฟังได้ว่าพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร. ๒๕ มิใช่พินัยกรรมที่แท้จริงแต่อย่างใด
พิพากษากลับ ให้ตั้งนางส้มโอ สวรรคทัต ผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดกของนายสุขหรือสุขหรือศุข ถมยา และนางลำใยหรือใย ถมยา เจ้ามรดกทั้งสองตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share