แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำให้การชั้นสอบสวนของพยาน ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีประกอบข้อพิจารณาของศาล เมื่อคำให้การชั้นสอบสวนของ ส. และ ว. สอดคล้องตรงกับคำให้การของ ข. ประจักษ์พยานโจทก์ พยานหลักฐานของโจทก์จึงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันทำร้ายผู้ตาย และจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนสั้นยิงฆ่าผู้ตาย
จำเลยทั้งสามร่วมกันทำร้ายผู้ตายและปรากฏว่าผู้ตายถึงแก่ความตายในเหตุการณ์ดังกล่าว โดยฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 รู้ว่าจำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนไปด้วย ฉะนั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายต้องรับผิดฐานฆ่าผู้ตายเป็นการเฉพาะตัว ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายมาแต่ต้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคหนึ่ง มิใช่มีความผิดตามมาตรา 295 ดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามา แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาจึงแก้ไขเพียงปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 เสียให้ถูกต้อง แต่ไม่อาจเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ , ๙๑ , ๒๘๘ , ๓๗๑ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗ , ๘ ทวิ , ๗๒ , ๗๒ ทวิ
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ , ๓๗ (ที่ถูกมาตรา ๓๗๑ , ๙๑) พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗ , ๘ ทวิ วรรคหนึ่ง , ๗๒ วรรคสาม , ๗๒ ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นจำคุกตลอดชีวิต ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก ๖ เดือน ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุก ๖ เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงลงโทษจำเลยที่ ๑ จำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ (๓) (ที่ถูกมาตรา ๙๑ (๓)) จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๕ , ๘๓ จำคุกคนละ ๒ ปี
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ. ๑ และ จ. ๔ กระทำในวันรุ่งขึ้นหลังจากวันเกิดเหตุ จึงยังใกล้ชิดกับเวลาเกิดเหตุ น่าเชื่อว่านางสำรวยและนายวิเชียรให้การต่อพนักงานสอบสวนตามความจริงที่รู้เห็นโดยยังไม่มีเหตุจูงใจให้ต้องปรุงแต่งเรื่องให้ผิดไป พนักงานสอบสวนจึงบันทึกและให้นางสำรวยกับนายวิเชียรลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน ร้อยตำรวจโท มนตรี แก้วสุริยะ และพันตำรวจโท ประสิทธิ์ ปั้นใด พนักงานสอบสวนผู้บันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ. ๑ และ จ. ๔ ต่างเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่ ไม่เคยรู้จักผู้ตายและจำเลยทั้งสาม ไม่มีเหตุผลใดที่จะร่วมกันบันทึกคำให้การของพยานให้แตกต่างไปจากที่พยานให้การเพื่อปรักปรำจำเลยทั้งสาม การที่นางสำรวยและนายวิเชียรมาเบิกความในชั้นพิจารณาว่าไม่เห็นจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ในที่เกิดเหตุ และไม่เห็นจำเลยที่ ๑ ใช้อาวุธปืนสั้นยิงผู้ตายโดยพยายามบ่ายเบี่ยงข้อเท็จจริงว่า ไม่อยู่ในที่เกิดเหตุขณะมีการทำร้ายและยิงผู้ตายนั้นไม่น่าเชื่อถืออย่างยิ่ง เพราะนางสำรวยและนายวิเชียรมีบ้านใกล้กับบ้านนางขันจอกและผู้ตาย ก่อนเกิดเหตุร่วมไปสรงน้ำพระมาด้วยกันแล้วกลับมานั่งพูดคุยกันที่แคร่ไม้บ้านนายวิเชียร เมื่อนางขันจอกเห็นผู้ตายถูกจำเลยทั้งสามรุมทำร้ายก็ร้องขอความช่วยเหลือจากนางสำรวยและนายวิเชียร แสดงว่าต่างมีความผูกพันสนิทสนมกัน ซึ่งตามวิสัยของบุคคลผู้มีความผูกพันกันดังกล่าวย่อมจะต้องรีบไปดูตรงที่เกิดเหตุตามเสียงเรียกของนางขันจอกดังที่พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ในเอกสารหมาย จ. ๑ และ จ. ๔ ดังนี้ข้อเท็จจริงตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวจึงรับฟังเป็นความจริงได้ ซึ่งคำให้การชั้นสอบสวนของพยานกรณีเช่นนี้ก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีประกอบข้อพิจารณาของศาล เมื่อคำให้การชั้นสอบสวนของนางสำรวยและนายวิเชียรสอดคล้องตรงกับคำให้การของนางขันจอกประจักษ์พยานโจทก์ พยานหลักฐานของโจทก์จึงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันทำร้ายผู้ตาย และจำเลยที่ ๑ ใช้อาวุธปืนสั้นยิงฆ่าผู้ตายตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมา แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันทำร้ายผู้ตายและปรากฏว่าผู้ตายถึงแก่ความตายในเหตุการณ์ดังกล่าว โดยฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ รู้ว่าจำเลยที่ ๑ มีอาวุธปืนไปด้วย ฉะนั้น จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายต้องรับผิดฐานฆ่าผู้ตายเป็นการเฉพาะตัว ส่วนจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ทำร้ายผู้ตายมาแต่ต้น จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๐ วรรคหนึ่ง มิใช่มีความผิดตามมาตรา ๒๙๕ ดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามา โจทก์มิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงแก้ไขเพียงปรับบทลงโทษจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เสียให้ถูกต้อง แต่ไม่อาจเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๒ ประกอบมาตรา ๒๒๕
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๐ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๘๓ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑.