แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ความผิดฐานยักยอกเป็นเรื่องที่ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต คำว่าโดยทุจริต หมายถึง การแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง หรือผู้อื่น เมื่อจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกมีหน้าที่จัดการทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่ทายาททั้งหลาย ในการประชุมทายาท โจทก์ขอแบ่งทรัพย์มรดกแต่จำเลยไม่ยินยอมแสดงว่าจำเลยมีเจตนาเบียดบังเอาทรัพย์มรดกเป็นของตน มูลความแห่งคดีเกิดขึ้นในวันดังกล่าว และโจทก์รู้เรื่องความผิดนับตั้งแต่นั้นหาได้นับตั้งแต่โจทก์ทราบว่าจำเลยขายทรัพย์มรดก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 354, 91 และนับโทษของจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5076/2537 ของศาลอาญากรุงเทพใต้
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 (ขณะนั้น) พิพากษากลับ ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นบุตรคนโตของนายจารุ เจ้ามรดก และเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ส่วนโจทก์เป็นทายาทผู้มิสิทธิรับมรดกของนายจารุ และเป็นน้องสาวของจำเลยต่างมารดา ระหว่างวันที่ 13 ธันวาคม 2534 ถึงวันที่ 23 มกราคม 2535 จำเลยขายที่ดินมรดกพร้อมห้องแถว ที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช รวม 6 แปลง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สิทธินำคดีอาญาของโจทก์มาฟ้องขาดอายุความหรือไม่ โจทก์นำสืบว่า หลังจากจำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดก การขายทรัพย์มรดกไม่ได้แจ้งให้ทายาททราบ โจทก์ทราบว่าจำเลยขายที่ดินมรดกจึงขอให้นัดประชุมทายาทในวันที่ 16 กรกฎาคม 2536 และในวันประชุมขอให้จำเลยนำเงินที่ขายทรัพย์มรดกแบ่งแก่โจทก์และทายาท จำเลยไม่ยินยอม โจทก์จึงนำความไปร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานยักยอกเงินจากการขายทรัพย์มรดก เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2536 และนำคดีมาฟ้องในวันที่ 24 ตุลาคม 2537 เห็นว่า ความผิดฐานยักยอกเป็นเรื่องที่ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต คำว่าโดยทุจริตหมายถึง การแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เมื่อจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกมีหน้าที่จัดการทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่ทายาททั้งหลาย ในการประชุมทายาท โจทก์ขอแบ่งทรัพย์มรดกแต่จำเลยไม่ยินยอมแสดงว่าจำเลยมีเจตนาเบียดบังเอาทรัพย์มรดกเป็นของตน มูลความแห่งคดีเกิดขึ้นในวันดังกล่าว และโจทก์รู้เรื่องความผิดนับตั้งแต่นั้น หาได้นับตั้งแต่โจทก์ทราบว่าจำเลยขายทรัพย์มรดกในปี 2535 สิทธินำคดีอาญาของโจทก์มาฟ้องไม่ขาดอายุความดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ตามฎีกาของโจทก์อ้างว่า นับแต่จำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกจำเลยจงใจละเลยไม่ทำหน้าที่ผู้จัดการมรดก กลับอาศัยอำนาจหน้าที่ผู้จัดการมรดกปกปิด เบียดบัง ยักย้ายทรัพย์มรดกโดยทุจริต เช่น ขณะยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ความจริงนายจารุเจ้ามรดกมีภริยาสี่คนและบุตรแปดคน แต่จำเลยอ้างและนำสืบเพียงสี่คนเมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ไม่ได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดก ไม่ได้เสนอบัญชีทรัพย์มรดกต่อศาล และไม่ได้แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด เมื่อจำเลยขายที่ดินทรัพย์มรดกรวม 6 แปลง ไปแล้ว โดยไม่ได้แจ้งให้ทายาททราบไม่ได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดก ส่วนเงินที่ขายได้ก็ไม่ได้นำมาแบ่งปันแก่โจทก์และทายาทอื่น ทางพิจารณาตามท้องสำนวนได้ความว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร น้องๆ ประสงค์ไปเรียนที่กรุงเทพมหานครก็ไปพักอาศัยอยู่กับจำเลย โดยจำเลยเป็นผู้ส่งเสียเลี้ยงดูให้การศึกษาแก่ทุกคนโดยเฉพาะโจทก์เองไปอยู่กับจำเลยตั้งแต่อายุ 15 ปี เป็นเวลา 10 ปี เมื่อโจทก์แต่งงานจำเลยมอบเงินให้ 200,000 บาท ในปี 2536 โจทก์ประสงค์เปลี่ยนรถยนต์คันใหม่จำเลยให้เงินโจทก์อีก 500,000 บาท ส่วนทายาทอื่นก็ได้รับเงินจากจำเลยทั้งสิ้น เห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาไม่ปรากฏว่าจำเลยขายที่ดินทรัพย์มรดกไปโดยวิธีการอันไม่สุจริต หรือมีเจตนาเบียดบังเงินที่ได้จากการขายที่ดินทรัพย์มรดกไว้โดยทุจริตอย่างไร ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน