คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3315/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ค. บิดาโจทก์จดทะเบียนขายฝากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 139 ซึ่งรวมที่ดินพิพาทด้วยแก่ บ. ภริยาจำเลยแล้วไม่ไถ่คืนภายในกำหนด สิทธิในที่ดินพิพาทจึงตกเป็นของ บ. แม้ ค. ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาเป็นเวลานานเพียงใดก็เป็นการครอบครองแทนและโดยอาศัยสิทธิของ บ. หาได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทไม่ และหลังจาก ค. ถึงแก่ความตาย โจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ค. แล้ว โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ค. จึงไปไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร และโอนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครอง การครอบครองและรับโอนที่ดินพิพาทเป็นการสืบสิทธิของ ค. โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิดีกว่า ค.ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยัง บ. หรือจำเลยผู้ครอบครองว่าโจทก์ไม่เจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 แต่อย่างใด แม้โจทก์จะยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทเป็นเวลานานเพียงใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องให้พิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของและได้สิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่1702 เนื้อที่ 10 ไร่ 1 งาน 10 ตารางวา ห้ามจำเลยกับริวารเข้าเกี่ยวข้องและให้เพิกถอน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 139 หากไม่อาจเพิกถอนได้ให้เปลี่ยนชื่อหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือหนังสืออื่นใดที่เกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวเป็นชื่อของโจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยถึงแก่ความตาย นายธนากร บุตรของจำเลยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน จำเลยไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่โต้แย้งฎีกาว่า เดิมนายคำมา บิดาโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 139 เนื้อที่ 15 ไร่ 1 งาน 64 ตารางวา เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2513 บิดาโจทก์ขายฝากที่ดินดังกล่าวไว้แก่นางบุญทอง ภริยาจำเลย มีกำหนดเวลาไถ่คืน 3 ปี แต่นายคำมามิได้ไถ่ที่ดินที่ขายฝากจากนางบุญทองภายในกำหนด ต่อมาวันที่ 1 พฤศจิกายน 2516 มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1702 เนื้อที่ 10 ไร่ 1 งาน 10 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้กับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1703 เนื้อที่ 5 ไร่ 20 ตารางวา ทับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 139 แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2537 ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาได้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) และนิติกรรมเกี่ยวกับ น.ส. 3 ก. เลขที่ 1702 ที่พิพาทมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลย เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า นายคำมา บิดาโจทก์จดทะเบียนขายฝากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 139 ซึ่งรวมที่ดินพิพาทด้วยแก่นางบุญทอง ภริยาจำเลย แล้วนายคำมาไม่ไถ่คืนภายในกำหนดสิทธิในที่ดินพิพาทจึงตกเป็นของนางบุญทอง แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความตามที่โจทก์นำสืบว่า นายคำมา บิดาโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาเป็นเวลานานเพียงใดก็เป็นการครอบครองแทนและโดยอาศัยสิทธิของนางบุญทองหาได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทไม่ และที่โจทก์นำสืบว่าหลังจากนายคำมาถึงแก่ความตาย โจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ แต่โจทก์เบิกความว่า โจทก์ไปติดต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแต่เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งขัดข้องไม่ดำเนินการให้ เว้นแต่โจทก์จะไปร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายคำมาก่อน โจทก์จึงไปดำเนินการร้องขอและศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายคำมา จากนั้นโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายคำมาจึงไปไถ่ถอนจำนองจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด และโอนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครอง แสดงว่าการครอบครองและรับโอนที่ดินพิพาทเป็นการสืบสิทธิของนายคำมา โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิดีกว่านายคำมา ทั้งโจทก์ไม่ได้นำสืบให้ปรากฏว่าโจทก์ได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังนางบุญทองหรือจำเลยผู้ครอบครองว่าโจทก์ไม่เจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 แต่อย่างใด ดังนั้น แม้โจทก์จะยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทเป็นเวลานานเพียงใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยจึงชอบแล้ว กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีก ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน จำเลยไม่แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้

Share