แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตามพฤติการณ์จำเลยที่ 1 ย่อมเล็งเห็นได้ว่า รถที่จำเลยที่ 1 ขับอาจเฉี่ยวชนผู้เสียหายให้ได้รับอันตรายแก่กายได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่ ไม่เป็นความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่
คำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีที่ขอให้นับโทษต่อ แม้จะระบุคำขอท้ายฟ้องให้นับโทษต่อก็เป็นคำขอที่ไม่มีข้อเท็จจริงในคำฟ้องเพราะคำฟ้องมิได้บรรยายไว้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่ขอให้นับโทษต่อข้อความที่โจทก์ระบุมาในคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องอื่นที่มิได้ระบุว่าขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องในส่วนดังกล่าวเป็นเพียงคำอธิบายและเหตุผลของโจทก์ในการขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องไม่อาจถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบรรยายมาในคำฟ้องโจทก์แล้ว โจทก์จะขอให้ถือเอาคำขอท้ายฟ้องซึ่งมีข้อเท็จจริงนอกเหนือไปกว่าที่กล่าวไว้ในฟ้องไปนับโทษติดต่อกันเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 42, 64 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 21, 22, 24, 25, 152 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 84, 91, 289, 371 ริบของกลางนับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 679/2544 ของศาลจังหวัดขอนแก่น และโทษจำคุกจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 471/2542 ของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยทั้งสองขอถอนคำให้การเดิมโดยจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในข้อหาขับรถไม่มีใบอนุญาต ขับรถโดยฝ่าฝืนสัญญาณจราจร ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในข้อหามีอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืน โดยไม่ได้รับใบอนุญาต กับฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 42, 64 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง, 22 (2), 24 (3), 25 (1), 152 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (2) ประกอบด้วยมาตรา 80 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต จำคุก 1 เดือน ฐานขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจร ปรับ 1,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 15 วัน ปรับ 500 บาท ฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่จำคุกตลอดชีวิตคำรับข้อเท็จจริงของจำเลยที่ 1 ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 53 จำคุก 37 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 37 ปี 6 เดือน 15 วัน ปรับ 500 บาท และนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 679/2544 ของศาลจังหวัดขอนแก่น ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 471/2542 ของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลยังมิได้มีคำพิพากษา จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้ ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 ประกอบด้วยมาตรา 80 จำคุก 2 ปี ลดโทษหนึ่งในสี่แล้ว จำคุก 1 ปี 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษความผิดกระทงอื่นแล้ว รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน 15 วัน ปรับ 500 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกคำขอนับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่679/2544 ของศาลจังหวัดขอนแก่น คืนอาวุธปืนขนาด .38 และกระสุนปืนขนาด .38 ของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถยนต์เก๋งมีจำเลยที่ 2 นั่งมาด้วยกันในรถฝ่าด่านตรวจค้นไป มาดำเนินคดีหลายข้อหา ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานขับรถยนต์โดยไม่มีใบอนุญาตและขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจร โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ความผิดฐานดังกล่าวจึงเป็นอันยุติ คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่หรือไม่ โจทก์นำสืบว่าบริเวณที่เกิดเหตุเป็นสี่แยกถนนสายหล่มสัก – พิษณุโลก ซึ่งเป็นถนนสายหลักเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดตัดกับถนนสายบ้านน้ำชุน – บ้านน้ำก้อ ขณะเกิดเหตุเป็นเวลา 20.20 นาฬิกา มีแสงสว่างจากไฟฟ้าสาธารณะข้างทางและไฟนีออนที่แผงไฟจราจรซึ่งนำไปตั้งขวางทางที่กลางสี่แยกส่องสว่างมองเห็นได้ในระยะ 150 เมตร ร้อยตำรวจโทบุญเลิศ ผู้เสียหายเบิกความว่า มีเจ้าพนักงานตำรวจประมาณ 15 คน ยืนอยู่กลางถนนด้านหน้าห่างจากแผงไฟจราจรประมาณ 30 เมตร คอยให้สัญญาณเรียกให้รถยนต์ที่แล่นผ่านมาจอดที่ข้างทาง ส่วนผู้เสียหายและเจ้าพนักงานตำรวจอีก 2 คน ยืนอยู่ด้านหลังแผงไฟจราจรห่างประมาณ 3 เมตร คอยให้สัญญาณเรียกให้รถที่ผ่านจุดแรกมาจอดเพื่อตรวจค้นอีกครั้งหนึ่ง จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์เก๋งสีขาวมีจำเลยที่ 2 นั่งมาในรถแล่นผ่านมาด้วยความเร็วประมาณ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงถึงจุดเจ้าพนักงานตำรวจชุดแรกยืนอยู่ลักษณะชะลอความเร็วรถลงแต่ไม่จอดข้างทาง ผู้เสียหายจึงออกไปที่กลางถนนให้สัญญาณมือและสัญญณกหวีดเรียกให้หยุดขณะรถจำเลยที่ 1 อยู่ห่างประมาณ 10 เมตร จำเลยที่ 1 ยังไม่หยุดรถเพียงชะลอความเร็วรถลงเมื่อขับเข้ามาใกล้ระยะห่างจากผู้เสียหายประมาณ 3 เมตร กลับเร่งความเร็วรถขับพุ่งตรงมาที่ผู้เสียหายซึ่งยืนอยู่ที่กลางถนนคนเดียว ผู้เสียหายต้องกระโดดหลบรถเข้าข้างทางแล้วจำเลยที่ 1 ขับรถหลบหนี ผู้เสียหายกับพวกจึงนำรถยนต์ออกแล่นติดตามไปพบรถยนต์จำเลยที่ 1 จอดอยู่บริเวณหน้าห้องน้ำในสถานีบริการน้ำมันห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 1 กิโลเมตร จับกุมจำเลยทั้งสองได้พร้อมอาวุธปืนของกลาง แต่ผู้เสียหายเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าสถานีบริการน้ำมันดังกล่าวอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 500 เมตร และเบิกความตอบโจทก์ถามติงว่า แผงไฟจราจรสามารถมองเห็นได้ในระยะ 500 เมตร ส่วนพันตำรวจโทธีรพงษ์ ประจักษ์พยานผู้ร่วมจับกุมอีกปากหนึ่งเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์มาถึงที่เกิดเหตุด้วยความเร็วประมาณ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เจ้าพนักงานตำรวจให้สัญญาณนกหวีดเรียกให้หยุด จำเลยที่ 1 ไม่ยอมหยุด ขณะนั้นผู้เสียหายยืนอยู่ท้ายด่านห่างจากพยานประมาณ 8 เมตร ได้ออกมายืนขวางทางเดินรถเพื่อให้หยุดรถ จำเลยที่ 1 กลับขับรถแล่นเข้าหาผู้เสียหายกับพวกโดยไม่ยอมหยุดรถ ผู้เสียหายกระโดดออกจากช่องเดินรถและจำเลยที่ 1 ขับรถแล่นเลยด่านหลบหนี พยานกับพวกนำรถยนต์ออกแล่นติดตามไปจับกุมจำเลยทั้งสองได้ที่บริเวณห้องน้ำในสถานีบริการน้ำมัน บันทึกการจับกุมซึ่งจัดทำขึ้นในวันเกิดเหตุมีข้อความระบุว่า เจ้าพนักงานตำรวจที่ด่านตรวจให้สัญญาณมือเพื่อให้หยุดรถจำเลยที่ 1 ไม่หยุดขับรถพุ่งผ่านด่านด้วยความรวดเร็ว เจ้าพนักงานตำรวจยืนขวางทางรถให้สัญญาณนกหวีดยาวให้หยุดรถทันที จำเลยที่ 1 ไม่หยุดขับรถพุ่งเข้าใส่อีก เจ้าพนักงานตำรวจต้องพากันหลบเข้าข้างทาง ส่วนผู้เสียหายยืนอยู่เกือบสุดจุดตรวจออกมายืนขวางให้สัญญาณหยุดรถ จำเลยที่ 1 ยังคงขับรถพุ่งเข้าใส่อีกผู้เสียหายต้องกระโดดหลบเข้าข้างทาง หากผู้เสียหายกับพวกไม่กระโดดหลบต้องได้รับอันตรายถึงชีวิต เพราะจำเลยที่ 1 ขับรถพุ่งเข้าใส่ด้วยความเร็ว เห็นได้ว่าพยานโจทก์แตกต่างขัดแย้งกันเองเป็นพิรุธจึงมีน้ำหนักรับฟังน้อย อย่างไรก็ดีจำเลยที่ 2 ให้การในชั้นสอบสวนในวันรุ่งขึ้นจากวันเกิดเหตุว่า จำเลยที่ 1 ขับรถมาด้วยความเร็วประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อมาถึงเห็นด่านเจ้าพนักงานตำรวจที่เกิดเหตุได้ลดความเร็วลงเหลือ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตรงตามคำเบิกความของผู้เสียหาย น่าเชื่อว่าขณะมาถึงด่านบริเวณที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วประมาณ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วชะลอความเร็วลงอีกแต่ไม่ยอมจอดรถข้างทางโดยขับรถผ่านเจ้าพนักงานตำรวจชุดแรกที่ยืนอยู่บริเวณก่อนถึงแผงไฟจราจรไป เมื่อผู้เสียหายเห็นเหตุการณ์ออกมายืนขวางที่กลางถนนเรียกให้หยุดจำเลยที่ 1 ยังไม่หยุดรถเพียงชะลอความเร็วรถลงอีก เมื่อขับถึงระยะห่างผู้เสียหายประมาณ 3 เมตร จึงเร่งความเร็วรถพุ่งตรงมาทางที่ผู้เสียหายยืนอยู่จนผู้เสียหายต้องกระโดดหลบเข้าข้างทางดังที่ผู้เสียหายเบิกความ เห็นได้ว่าจากลักษณะการขับรถของจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ขับรถด้วยความเร็วสูงพุ่งเข้าชนผู้เสียหายแต่แรก แต่ชะลอความเร็วรถลงต่ำกว่า 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้ว เพื่อมาเร่งความเร็วรถเมื่อรถอยู่ห่างจากผู้เสียหายเพียงประมาณ 3 เมตร ทั้งจำเลยที่ 1 มิได้หักรถเลี้ยวแล่นไล่ตามเพื่อจะพุ่งชนผู้เสียหายแต่อย่างใด ส่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 มิได้มุ่งประสงค์จะขับรถพุ่งเข้าชนผู้เสียหายด้วยเจตนาฆ่า แต่จำเลยที่ 1 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า มีเจ้าพนักงานตำรวจคนหนึ่งมายืนขวางรถกางมือลักษณะเรียกให้หยุดรถเป็นการเจือสมพยานโจทก์ข้อเท็จจริงได้ความจากคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสอง บันทึกการจับกุม บันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุ และคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกสมคิด พนักงานสอบสวนว่า เมื่อรถมาถึงด่านตรวจที่เกิดเหตุ จำเลยทั้งสองถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเพราะจำเลยที่ 2 มีอาวุธปืนพกไม่มีทะเบียน 2 กระบอก พร้อมกระสุนปืนอยู่ในรถ จำเลยที่ 1 ขับรถผ่านด่านจุดตรวจไปมีผู้เสียหายวิ่งมาขวางหน้ารถ จำเลยที่ 1 ขับรถพุ่งเข้าหาผู้เสียหายจนผู้เสียหายต้องกระโดดหลบแล้วจำเลยที่ 1 ขับรถหลบหนีไป ตามพฤติการณ์ดังกล่าวจำเลยที่ 1 ย่อมเล็งเห็นได้ว่า รถที่จำเลยที่ 1 ขับอาจเฉี่ยวชนผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่ ไม่เป็นความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนฎีกาโจทก์ที่ขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำเลยในคดีอื่นนั้นตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องลงวันที่ 17 ตุลาคม 2545 โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเฉพาะในส่วนคำขอท้ายฟ้องหน้าที่ 5 บรรทัดที่ 5 ต่อจาก “ริบของกลางทั้งหมด” เพิ่มเติมว่า “นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 679/2544 ของศาลจังหวัดขอนแก่นและนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 471/2542 ของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์” เท่านั้น นอกจากที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวโจทก์ยังคงฟ้องเดิมไว้ทุกประการ จึงต้องถือว่าคำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีที่ขอให้นับโทษต่อ แม้จะระบุคำขอท้ายฟ้องให้นับโทษต่อก็เป็นคำขอที่ไม่มีข้อเท็จจริงในคำฟ้องเพราะคำฟ้องมิได้บรรยายไว้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่ขอให้นับโทษต่อ ข้อความที่โจทก์ระบุมาในคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องอื่นที่มิได้ระบุว่าขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องในส่วนดังกล่าวเป็นเพียงคำอธิบายและเหตุผลของโจทก์ในการขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง ไม่อาจถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบรรยายมาในคำฟ้องโจทก์แล้ว โจทก์จะขอให้ถือเอาคำขอท้ายฟ้องซึ่งมีข้อเท็จจริงนอกเหนือไปกว่าที่กล่าวไว้ในฟ้องไปนับโทษติดต่อกันเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ยกคำขอนับโทษต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 679/2544 ของศาลจังหวัดขอนแก่นนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน