คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3263/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้ระบุให้ชัดว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ เป็นข้อที่จำเลยที่ 1 มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ ก็ไม่ถือว่าว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าสัญญาประนีประนอมยอมฉบับพิพาทไม่เป็นโมฆียะ จำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในประเด็นดังกล่าว คงอุทธรณ์แต่เพียงว่าสัญญาประนีประนอมยอมความไม่สามารถบังคับจำเลยที่ 2ได้เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่สัญญา และคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่สามารถบังคับเอากับจำเลยทั้งสองได้เท่านั้นฎีกาของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อที่ว่ากล่าวมาแล้วแต่ในศาลอุทธรณ์ภาค 2 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ จำเลยทั้งสองสร้างรั้วและหลังคาบ้านรุกล้ำที่ดินโจทก์โจทก์จึงไปแจ้งความต่อร้อยตำรวจโท พ.ร้อยตำรวจโทพ.เรียกจำเลยทั้งสองไปไกล่เกลี่ย จำเลยที่ 1 ตกลงยินยอมทำบันทึกข้อตกลงว่าจะรื้อรั้วที่รุกล้ำและทำรางน้ำรับหลังคาบ้านที่รุกล้ำเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 และรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 สร้างรั้งและหลังคาบ้านรุกล้ำที่ดินของโจทก์จริง ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 พร้อมที่จะรื้อถอนรั้วและหลังคาบ้านออกไปจากที่ดินโจทก์ตามคำพิพากษาแต่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในรั้วและหลังคาบ้านดังกล่าวไม่ยินยอม โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 ไม่จำต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล เพราะศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และคดีของจำเลยที่ 2ถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลได้ เพราะหากขืนปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลจำเลยที่ 2 มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ฐานละเมิดได้ เมื่อข้อฎีกาของจำเลยดังกล่าวมิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่าไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายอย่างไร เพียงแต่อ้างว่าปฏิบัติตามคำพิพากษาไม่ได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องไปว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดี ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 2142 เนื้อที่ 75 ตารางวาจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินและบ้านซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าว ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับที่ดินโจทก์ทางด้านทิศใต้ต่อมาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2530 โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับที่สถานีตำรวจ ตกลงกันว่าจำเลยทั้งสองยินยอมรื้อรั้วบ้านที่สร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ออกไปภายในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2530 ส่วนหลังคาบ้านจำเลยทั้งสองจะทำรางน้ำเพื่อไม่ให้น้ำตกหล่น เข้าไปในบ้านโจทก์ หากไม่ทำหรือทำแต่น้ำไหลตกหล่น เข้าไปในบ้านโจทก์ จำเลยทั้งสองยินยอมรื้อหลังคาบ้านที่รุกล้ำออกไปเช่นเดียวกัน แต่จำเลยทั้งสองผิดสัญญาขอให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนรั้วที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินโจทก์ทันทีหากจำเลยทั้งสองไม่ยอมรื้อถอนขอให้โจทก์มีอำนาจรื้อถอนเองโดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและห้ามจำเลยทั้งสองเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินโจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนรั้วและหลังคาบ้านที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินโจทก์ทันที คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกและให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องโดยอ้างเหตุว่า สัญญาประนีประนอมยอมความเกิดจากการข่มขู่เป็นโมฆียะ จำเลยที่ 1 ได้บอกล้างสัญญาดังกล่าวแล้ว สัญญาดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไม่เป็นโมฆียะ จำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในประเด็นดังกล่าวคงอุทธรณ์แต่เพียงว่า สัญญาประนีประนอมยอมความไม่สามารถบังคับจำเลยที่ 2 ได้เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่สัญญา และคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่สามารถบังคับเอากับจำเลยทั้งสองได้เท่านั้นฎีกาของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อที่ว่ากล่าวมาแล้วแต่ในศาลอุทธรณ์ภาค 2 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้สร้างรั้วและหลังคารุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์หรือไม่ เพียงใด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 นำเอาสัญญาประนีประนอมยอมความมาพิจารณาประกอบเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์เห็นว่าจำเลยทั้งสองสร้างรั้วและหลังคาบ้านรุกล้ำที่ดินโจทก์ โจทก์จึงไปแจ้งความกับร้อยตำรวจโทพิษณุร้อยตำรวจโทพิษณุเรียกจำเลยทั้งสองไปไกล่เกลี่ย จำเลยที่ 1ตกลงยินยอมทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.4 ว่าจะรื้อรั้วที่รุกล้ำและทำรางน้ำรับหลังคาบ้านที่รุกล้ำเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 และรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 สร้างรั้วและหลังคาบ้านรุกล้ำที่ดินของโจทก์จริงเมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่บังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ก็มิได้อุทธรณ์โต้แย้งในประเด็นนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาชอบแล้ว
จำเลยที่ 1 ฎีกาประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1 พร้อมที่จะรื้อถอนรั้วและหลังคาบ้านออกไปจากที่ดินโจทก์ตามคำพิพากษาแต่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในรั้วและหลังคาบ้านดังกล่าวไม่ยินยอม โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 ไม่จำต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล เพราะศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และคดีของจำเลยที่ 2 ถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 1จึงไม่อาจปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลได้ เพราะหากขืนปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล จำเลยที่ 2 มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ฐานละเมิดได้นั้น เห็นว่า ข้อฎีกาของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว มิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ว่าไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายอย่างไร เพียงแต่อ้างว่าปฏิบัติตามคำพิพากษาไม่ได้ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องไปว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดี ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน

Share