แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การจงใจขาดนัดต้องเป็นเรื่องที่คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดได้รู้ถึง วันและเวลานัดที่ถูกต้องแล้วไม่มาศาลตามวันเวลาที่ศาลนัดไว้
โจทก์จดเวลานัดผิดและได้มาศาลพร้อมกับตัวโจทก์ตามเวลาที่ ทนายโจทก์จดบันทึกไว้ในสมุดนัดเป็นเรื่องที่ฝ่ายโจทก์สำคัญผิดเวลานัดและไม่รู้เวลานัดที่ถูกต้อง แม้การสำคัญผิดนั้นจะเกิดจากความผิดพลาด ของฝ่ายโจทก์เอง ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจขาดนัด
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนจำนวนเงิน 986,800 บาท จำเลยทั้งสี่ให้การต่อสู้คดีและขอให้ยกฟ้อง โจทก์ขาดนัดพิจารณา จำเลยทั้งสี่ขอให้พิจารณาคดีต่อไปแล้วแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีไปฝ่ายเดียวและเห็นว่าภาระการพิสูจน์ในประเด็นข้อพิพาทตกแก่โจทก์ เมื่อโจทก์ขาดนัดพิจารณาจึงไม่มีพยานหลักฐานมาสืบตามประเด็นข้อพิพาทเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ อ้างว่ามิได้จงใจขาดนัดพิจารณาหากโจทก์มีโอกาสนำพยานหลักฐานเข้าสืบ คดีจะสามารถรับฟังได้ตามข้ออ้างของโจทก์
จำเลยทั้งสี่คัดค้านว่า โจทก์จงใจขาดนัด และคำร้องของโจทก์มิได้แสดงเหตุผลว่าจำเลยทั้งสี่กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้พิจารณาใหม่
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรกในวันที่ 2 มิถุนายน 2540 เวลา 13.30 นาฬิกาถึงวันนัดทนายโจทก์ขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์วันที่ 21 สิงหาคม 2540 เวลา 8.30 นาฬิกา แต่ทนายโจทก์จดเวลานัดผิดไปเป็นเวลา 13.30 นาฬิกา ถึงวันนัดโจทก์และทนายโจทก์มาศาลเวลา 13.30นาฬิกา แต่ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ไปแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกของจำเลยทั้งสี่ว่า โจทก์จงใจขาดนัดพิจารณาหรือไม่ เห็นว่า การจงใจขาดนัดจะต้องเป็นเรื่องที่คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดได้รู้ถึงวันและเวลานัดที่ถูกต้องแล้วไม่มาศาลตามวันเวลาที่ศาลนัดไว้ การที่โจทก์จดเวลานัดผิดไปจากเวลา 8.30 นาฬิกา เป็น 13.30นาฬิกา และได้มาศาลพร้อมกับตัวโจทก์ตามเวลาที่ทนายโจทก์จดบันทึกไว้ในสมุดนัดความ เป็นเรื่องที่ฝ่ายโจทก์สำคัญผิดเวลานัด และไม่รู้เวลานัดที่ถูกต้อง แม้การสำคัญผิดนั้นจะเกิดจากความผิดพลาดของฝ่ายโจทก์เองก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจขาดนัด ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 236/2507 ระหว่าง นายนัท โกมลวณิช โจทก์ นายบุญชู สีวะรา จำเลยที่จำเลยทั้งสี่อ้างไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ จึงใช้กับคดีนี้ไม่ได้
ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาข้อต่อมาว่า คำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของโจทก์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคสองเพราะโจทก์มิได้แสดงเหตุผลว่า จำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร รวมทั้งพยานหลักฐานที่โจทก์จะแสดงต่อศาลนั้นมีสาระสำคัญอย่างไรนั้น เห็นว่า คำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของโจทก์ได้กล่าวโดยชัดแจ้งว่า โจทก์ยังไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิพากษายกฟ้องโจทก์ เพราะจำเลยทั้งสี่ได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ไม่ถูกต้องเป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหากโจทก์ได้มีโอกาสนำพยานเข้าสืบสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์ คดีนี้ก็สามารถรับฟังได้ตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์ และศาลชั้นต้นสามารถพิจารณาพิพากษาให้เป็นไปตามคำฟ้องของโจทก์ เพราะโจทก์ได้จัดเตรียมพยานเอกสารและพยานบุคคลพร้อมที่จะนำเข้าสืบให้เป็นไปตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์มีโอกาสชนะคดีนี้ตามคำร้องของโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าโจทก์ได้คัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ให้โอกาสโจทก์นำพยานหลักฐานเข้าสืบ โจทก์มีทั้งพยานเอกสารและพยานบุคคลพร้อมที่จะนำเข้าสืบให้ได้ความตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสี่กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากศาลให้โอกาสโจทก์นำพยานเข้าสืบเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์ โจทก์ก็มีโอกาสจะชนะคดีได้ จึงถือได้ว่าคำร้องของโจทก์ได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลชั้นต้นแล้ว โจทก์หาจำต้องแสดงเหตุผลว่าจำเลยทั้งสี่กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร รวมทั้งพยานหลักฐานที่โจทก์จะแสดงต่อศาลมีสาระสำคัญอย่างไรไว้ในคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ด้วยดังที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาไม่”
พิพากษายืน