แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ขณะเกิดเหตุรถบรรทุกของกลางยังมีจำเลยเป็นเจ้าของ ผู้ร้องอ้างว่าซื้อรถบรรทุกคันดังกล่าวมาจากจำเลยเพื่อถมปรับสภาพพื้นดินในการทำบ้านจัดสรรในระยะเวลาประมาณ 10 วันเท่านั้น หลังจากนั้นได้นำไปให้จำเลยเช่า ไม่น่าเชื่อว่าผู้ร้องจะยอมลงทุนถึง 500,000 บาท มาซื้อรถบรรทุกจากจำเลยเพียงเพื่อใช้ในกิจการดังกล่าว เป็นเรื่องผิดปกติวิสัยอย่างยิ่ง แม้ผู้ร้องจะมีสัญญาเช่าสัญญาซื้อขายและเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการโอนและการรับโอนมาเป็นพยานเอกสารอ้างอิงก็ตาม แต่เอกสารดังกล่าวผู้ร้องและจำเลยสามารถจัดทำขึ้นมาได้ อีกทั้งผู้ร้องอ้างว่าที่ยังไม่มีการโอนทะเบียนรถเพราะไม่พบจำเลยจึงไม่อาจนำรถบรรทุกของกลางไปตรวจสภาพได้นั้น แต่เมื่อจำเลยยืนยันว่า ภายหลังที่จำเลยขายรถบรรทุกของกลางให้แก่ผู้ร้องแล้วจำเลยก็ยังคงรับจ้างขับรถบรรทุกคันดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องมิได้ไปอยู่ที่อื่นข้ออ้างของผู้ร้องในเรื่องนี้จึงเป็นพิรุธอย่างยิ่ง ประกอบกับระหว่างทำการสอบสวนไม่มีผู้ใดมาขอคืนรถบรรทุกของกลาง และผลการสอบสวนก็ได้ความว่ารถบรรทุกคันดังกล่าวเป็นของจำเลยซึ่งจำเลยไม่เคยโต้แย้งในเรื่องนี้แต่อย่างใด ดังนี้ พยานหลักฐานของผู้ร้องจึงไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังว่ารถบรรทุกของกลางเป็นของผู้ร้อง การที่ผู้ร้องมาร้องขอคืนของกลางจึงเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของจำเลย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 61, 73, 75 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33และริบรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-9521 ลพบุรี ของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-9521ลพบุรี และไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ขอให้สั่งคืนรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-9521 ลพบุรี ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องมิใช่เจ้าของรถบรรทุกของกลาง และรู้เห็นเป็นใจกับจำเลยในการกระทำความผิดและยอมให้จำเลยนำรถไปใช้ในการกระทำความผิดขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยขับรถบรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80-9521 ลพบุรี ซึ่งมีน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 339 (ถนนสายหนองม่วง-ศรีเทพ) เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยมาดำเนินคดี ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยและมีคำสั่งให้ริบรถบรรทุกของกลาง มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถบรรทุกของกลางจริงหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวผู้ร้องนำสืบว่า ผู้ร้องซื้อรถบรรทุกของกลางจากจำเลยในราคา 500,000 บาท โดยชำระราคาเรียบร้อยแล้ว ตามหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ร.1 ต่อมาจำเลยมาขอเช่ารถบรรทุกคันดังกล่าวจากผู้ร้องกำหนดค่าเช่าเดือนละ 20,000 บาท ตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย ร.7 เห็นว่า ขณะเกิดเหตุนั้นรถบรรทุกของกลางยังมีจำเลยเป็นเจ้าของในรายการจดทะเบียนตามเอกสารหมาย ร.6 ผู้ร้องอ้างว่าซื้อรถบรรทุกคันดังกล่าวมาจากจำเลยในวันที่ 24 ตุลาคม 2540 แต่ได้นำไปให้จำเลยเช่าในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 จะเห็นได้ว่าเป็นการนำรถไปให้เช่าหลังจากซื้อมาจากจำเลยเพียง 11 วัน โดยเฉพาะได้ความจากผู้ร้องว่า ผู้ร้องต้องการใช้รถบรรทุกดินเพื่อปรับสภาพพื้นดินในการทำบ้านจัดสรรในระยะเวลาประมาณ 10 วัน เท่านั้น จึงไม่น่าเชื่อว่าผู้ร้องจะยอมลงทุนถึง 500,000บาท มาซื้อรถบรรทุกของกลางจากจำเลยเพียงเพื่อใช้ในกิจการดังกล่าว ซึ่งดูเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยอย่างยิ่ง แม้ผู้ร้องจะมีสัญญาเช่าซื้อขายและเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการโอนและการรับโอนมาเป็นพยานเอกสารอ้างอิงก็ตาม ก็เห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผู้ร้องและจำเลยสามารถจัดทำขึ้นมาได้ อีกทั้งผู้ร้องอ้างว่าที่ยังไม่มีการโอนจดทะเบียนรถเพราะไม่พบจำเลยจึงไม่สามารถนำรถบรรทุกของกลางไปตรวจสภาพได้นั้น แต่จากคำแถลงการณ์ปิดคดีของจำเลยเองกลับยืนยันว่า ภายหลังที่จำเลยขายรถบรรทุกของกลางให้แก่ผู้ร้องแล้วจำเลยก็ยังคงรับจ้างขับรถบรรทุกคันดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง มิได้ไปอยู่ที่อื่น ข้ออ้างของผู้ร้องในเรื่องนี้จึงขัดแย้งกับคำแถลงการณ์ของจำเลยและเป็นพิรุธอย่างยิ่ง ประกอบกับได้ความจากพันตำรวจตรีไพโรจน์ กรรณาวิก พนักงานสอบสวนว่า ในระหว่างทำการสอบสวนไม่มีผู้ใดมาขอคืนรถบรรทุกของกลางและผลการสอบสวนก็ได้ความว่ารถบรรทุกคันดังกล่าวเป็นของจำเลยและจำเลยไม่เคยโต้แย้งในเรื่องนี้แต่อย่างใด ดังนี้ พยานหลักฐานของผู้ร้องจึงไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังว่ารถบรรทุกของกลางเป็นของผู้ร้อง การที่ผู้ร้องมาร้องขอคืนของกลางก็เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษายกคำร้องของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน