คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2969/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนถึงเวลาที่ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกที่เลื่อนมาอ. อ้างว่าเป็นพนักงานส่งเอกสารของจำเลย นำโทรสารรายงานผลการตรวจชันสูตรและความเห็นแพทย์ว่าทนายจำเลยป่วยเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลมายื่น แต่ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยมิได้ขออนุญาตเลื่อนคดีโดยถูกต้อง ถือว่าจำเลยทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาลโดยไม่ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องเสียก่อนสืบพยานจึงมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา แสดงว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาเนื่องจากจำเลยไม่ร้องขอเลื่อนคดีหรือไม่แจ้งเหตุขัดข้องเสียก่อนสืบพยานโจทก์และก่อนหน้านั้นศาลชั้นต้นไม่เคยส่งว่าจำเลยมีพฤติการณ์ประวิงคดี โจทก์เพิ่งกล่าวอ้างว่าจำเลยมีพฤติการณ์ประวิงคดีในวันพิจารณานัดสุดท้ายข้อเท็จจริงจึงไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยประวิงคดี
เมื่อมีเหตุสมควรเชื่อว่าจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายที่ขาดนัดมาศาลไม่ได้เพราะทนายจำเลยป่วยต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและจำเลยได้ยื่นคำร้องขอพิจารณาใหม่โดยชอบ จึงมีเหตุอันสมควรอนุญาตให้พิจารณาใหม่ การที่จำเลยไม่ร้องขอให้ศาลชั้นต้นสั่งเพิกถอนคำสั่งที่สั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาและเลือกใช้วิธีขอพิจารณาใหม่ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจาก โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 491 พร้อมห้องชุดเลขที่ 235/201 และเลขที่ 235/202แก่โจทก์และรับเงินส่วนที่เหลือจำนวน 355,200 บาท และ 670,830 บาทตามลำดับจากโจทก์หรือจากสถาบันการเงินที่โจทก์ขอกู้เงินไว้ โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการโอนกรรมสิทธิ์ค่าธรรมเนียม ค่าอากรแต่เพียงฝ่ายเดียวและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 113,875 บาท กับค่าเสียหายเดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและดอกเบี้ย จำเลยมีสิทธิริบเงินที่ได้ชำระไปแล้วทั้งหมดทันที ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียวแล้วพิพากษาให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 491 พร้อมห้องชุดเลขที่ 235/201 และเลขที่ 235/202 แก่โจทก์ กับรับเงินราคาห้องชุดส่วนที่เหลือจำนวน 369,422.24 บาท และ 692,788.07 บาท ตามลำดับจากโจทก์หรือสถาบันการเงินที่โจทก์ขอกู้ไว้ โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการโอนกรรมสิทธิ์ ค่าธรรมเนียม ค่าอากรแต่ผู้เดียวให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 32,895.50 บาท แก่โจทก์ กับค่าเสียหายเดือนละ 10,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาททั้งสองห้องให้โจทก์เสร็จ

จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ว่า ในวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 25 เมษายน 2540 ที่ถูก 13 นาฬิกา ทนายจำเลยป่วยกะทันหันด้วยโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะปวดในท้องอย่างรุนแรง ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลศรีสยาม ไม่อาจมาศาลได้ตามนัดอีกทั้งกรรมการบริษัทจำเลยเดินทางไปต่างประเทศ พนักงานของบริษัทจำเลยไม่อาจทำคำร้องขอเลื่อนคดีได้ จึงนำเพียงใบรับรองแพทย์มาแสดงต่อศาลและได้ส่งใบรับรองแพทย์ทางโทรสารมายังศาลอีกทางหนึ่งด้วย จำเลยจึงมิได้จงใจขาดนัดพิจารณา จำเลยได้มีหนังสือนัดโจทก์ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด รวม 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายโจทก์ไม่ยอมรับโอนอ้างว่าห้องชุดพิพาทมีเนื้อที่น้อยกว่าในสัญญาแต่โจทก์ไม่ยอมให้หักลดราคาลงตามที่จำเลยกำหนดและไม่ยอมรับโอนห้องชุด โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายพยานหลักฐานของจำเลยสามารถหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้จึงขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่

โจทก์คัดค้านขอให้ยกคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลย

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า คดีของจำเลยไม่มีเหตุสมควรที่จะให้พิจารณาคดีใหม่ภายหลังศาลพิพากษาคดี ยกคำร้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนการพิจารณาใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่สืบพยานโจทก์เป็นต้นไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่าในวันที่ 25 เมษายน2540 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ ทนายจำเลยป่วยและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยต้องนอนพักรักษาตัว 2 วัน แพทย์จึงอนุญาตให้กลับบ้านได้ และจำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาใหม่ภายในกำหนดเวลาและคำร้องขอพิจารณาใหม่ของจำเลยได้กล่าวไว้โดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งเหตุที่จำเลยได้ขาดนัดและข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลชั้นต้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า การขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยเป็นการประวิงคดีและใช้สิทธิไม่สุจริตหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกวันที่ 15 ตุลาคม 2539 ครั้นถึงวันเวลานัดจำเลยขอเลื่อนคดีอ้างว่าทนายจำเลยป่วย ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนคดีไปนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 27 พฤศจิกายน 2539 ครั้นถึงวันเวลานัด จำเลยขอเลื่อนคดีอ้างว่าทนายจำเลยป่วย และศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 ครั้นถึงวันเวลานัด โจทก์ขอเลื่อนคดีอ้างว่าได้เสนอเงื่อนไขเพื่อทำความตกลงกัน ศาลชั้นต้นอนุญาตไปวันที่ 25กุมภาพันธ์ 2540 ครั้นถึงวันเวลานัด ทนายจำเลยคนเดิมขอถอนตัวและจำเลยตั้งทนายคนใหม่และทนายคนใหม่ขอเลื่อนคดีอ้างว่าเตรียมตัวไม่ทันศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนคดีไปนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 25 เมษายน 2540ครั้นถึงวันเวลานัดก่อนศาลดำเนินการสืบพยานโจทก์มีนายอนุ อินทร์แย้มอ้างว่าเป็นพนักงานส่งเอกสารของจำเลย นำโทรสารรายงานผลการตรวจชันสูตรและความเห็นแพทย์ว่าทนายจำเลยป่วยเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ศาลชั้นต้นเห็นว่า ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ขออนุญาตเลื่อนคดีโดยถูกต้อง ถือว่าจำเลยทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาลโดยไม่ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องเสียก่อนสืบพยาน จึงมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา แสดงว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาเนื่องจากจำเลยไม่ร้องขอเลื่อนคดีหรือไม่แจ้งเหตุขัดข้องเสียก่อนสืบพยานโจทก์และก่อนหน้านั้นศาลชั้นต้นไม่เคยสั่งว่าจำเลยมีพฤติการณ์ประวิงคดีมาก่อนโดยเจตนา โจทก์เพิ่งกล่าวอ้างว่าจำเลยมีพฤติการณ์ประวิงคดีในวันพิจารณานัดสุดท้าย ส่วนการขอเลื่อนคดีของจำเลยหลังจากจำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่แล้วเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจึงไม่เกี่ยวข้องกับการมีเหตุอันสมควรให้พิจารณาใหม่หรือไม่ ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยประวิงคดี ส่วนที่จำเลยไม่ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่สั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาในทันทีทันใดที่มีโอกาสก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะใช้สิทธิหรือไม่ก็ได้เพราะจำเลยอาจพอใจในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ได้ การที่จำเลยไม่ร้องขอให้ศาลชั้นต้นสั่งเพิกถอนคำสั่งที่สั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาและเลือกใช้วิธีขอพิจารณาใหม่ จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า มีเหตุสมควรเชื่อว่าจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายที่ขาดนัดมาศาลไม่ได้เพราะทนายจำเลยป่วยต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและจำเลยได้ยื่นคำร้องขอพิจารณาใหม่โดยชอบ จึงมีเหตุอันสมควรอนุญาตให้พิจารณาใหม่ตามคำขอศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share