คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1167-1168/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีสองสำนวนซึ่งรวมพิจารณาเข้าด้วยกัน สำนวนแรกศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นรับไว้โดยมิชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยสำนวนที่สองศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องซึ่งตรงกันข้ามกับที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้ จึงมีผลเท่ากับศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
บิดาเป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนบุตรซึ่งถึงแก่ความตายว่าจำเลยขับรถยนต์โดยประมาท ทำให้บุตรโจทก์และบุคคลอื่นถึงแก่ความตายเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เหตุเกิดรถชนกันเพราะผู้ตายซึ่งเป็นบุตรโจทก์มีส่วนกระทำการโดยประมาทผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ซึ่งเป็นบิดาผู้บุพการีย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา5 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง.

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาเข้าด้วยกัน สำนวนแรกพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับนายสุรพล โคตะ ซึ่งตายไปแล้วต่างขับรถยนต์โดยประมาททำให้รถเฉี่ยวชนกันเป็นเหตุให้มีคนตายและบาดเจ็บ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๑, ๓๙๐, ๙๑, ๘๓ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓,๗๘, ๑๕๗, ๑๖๐, ๑๖๒ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๒ และเพิกถอนใบอนุญาตให้เป็นผู้ขับรถของจำเลยด้วยสำนวนที่สองนายหย่อม โคตะ ซึ่งเป็นบิดาของนายสุรพลโคตะ ผู้เสียหายซึ่งถึงแก่ความตายเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยว่าขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้นายสุรพล โคตะ และบุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่าจำเลยและนายสุรพล โคตะ ผู้ตายกระทำผิดโดยประมาททั้งสองฝ่าย โจทก์สำนวนที่สองจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้องพิพากษาว่าสำหรับสำนวนแรกจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑, ๓๙๐ และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๘ (ที่ถูกเป็นมาตรา ๗๘), ๑๖๐ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาลงโทษบทหนักตามมาตรา ๒๙๑ ให้จำคุกมีกำหนด ๓ ปี ความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกลงโทษจำคุก ๓ เดือน คำขออื่นให้ยกสำหรับสำนวนที่สองให้ยกฟ้อง
โจทก์สำนวนที่สองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์สำนวนที่สองมีอำนาจฟ้องนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับสำนวนแรกคือคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๒/๒๕๒๔ หมายเลขแดงที่ ๑๙๔๓/๒๕๒๖ ของศาลชั้นต้นศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด ๓ ปี ๓ เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นรับไว้โดยมิชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
สำหรับสำนวนที่สองคือคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๓๙๙/๒๕๒๔ หมายเลขแดงที่ ๑๙๔๔/๒๕๒๖ ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง ซึ่งตรงกันข้ามกับที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้ จึงมีผลเท่ากับศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นและทำให้คดีหลังนี้ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ในปัญหาว่าโจทก์ในสำนวนที่สองมีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่าการที่นายสุรพล ผู้ตายขับรถยนต์เก๋งมาชิดหรือเกือบชิดเส้นประกึ่งกลางถนนทั้งที่อาจขับหลีกไปทางซ้ายมือได้ เพราะยังมีผิวจราจรว่างอยู่กว้างประมาณ๒ เมตร และนายสุรพลผู้ตายย่อมจะต้องมองเห็นแล้วว่า มีรถยนต์โดยสารแล่นสวนทางมาแต่ไกลเพราะมีแสงไฟหน้ารถยนต์โดยสารและทางข้างหน้าเป็นทางตรงโดยวิสัยของนายสุรพลผู้ตายในภาวะเช่นนั้นควรจักต้องขับรถด้วยความระมัดระวังโดยชะลอความเร็วและหลบหลีกให้ห่างจากเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนในระยะที่ปลอดภัยซึ่งนายสุรพลผู้ตายอาจกระทำได้ แต่หาได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอไม่ กลับขับรถโดยไม่ชะลอความเร็วและขับชิดหรือเกือบชิดเส้นประกึ่งกลางถนนจนเป็นเหตุให้รถชนกัน นายสุรพลผู้ตายย่อมมีส่วนกระทำการโดยประมาทจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ซึ่งเป็นบิดาผู้บุพพการีย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕ จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำนวนที่สอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share