คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1926/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

วัดโจทก์ได้ประกาศตั้งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2460 และทะเบียนวัดพระพุทธศาสนาจัดทำตามระเบียบกรมการศาสนา ว่าด้วยการทำทะเบียนวัดในพระพุทธศาสนาก็มีชื่อวัดโจทก์อยู่ด้วย เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการประกาศยุบเลิกวัดโจทก์ โจทก์จึงยังมีฐานะเป็นวัดที่ชอบด้วยกฎหมาย พระภิกษุ ท. ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสของวัดโจทก์ พระภิกษุ ท. จึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนวัดโจทก์ได้ ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่าที่ดินตามแผนที่พิพาทเป็นของโจทก์ ซึ่งตรงกับที่ดินตามแผนที่พิพาทในคดีนี้ โจทก์ย่อมนำผลในคดีก่อนมาใช้ยันจำเลยทั้งสองในคดีนี้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์อย่างไร จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ โดยไม่ต้องคำนึงว่าที่พิพาทมีเอกสารสิทธิหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นวัดโดยชอบด้วยกฎหมาย พระภิกษุ ท.เจ้าอาวาสได้มอบอำนาจให้ ค. ไวยาวัจกรฟ้องคดีแทน จำเลยที่ 1เช่าที่ดินโจทก์ปลูกบ้านด้านทิศตะวันออก และให้จำเลยที่ 2 ปลูกบ้านด้านทิศตะวันตก เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงไม่มีการต่อสัญญาและศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่าที่ดินที่จำเลยทั้งสองครอบครองเป็นของโจทก์โจทก์ได้แจ้งอาณาเขตที่ดินของโจทก์ตามคำพิพากษาฎีกา เพื่อให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดิน แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง กับให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายปีละ 5,500 บาท จำเลยที่ 2 ปีละ 3,000 บาท แก่โจทก์ทุก ๆ ปีจนกว่าจะออกจากที่ดิน
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์เป็นวัดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พระภิกษุ ท. ไม่ได้เป็นเจ้าอาวาสของโจทก์จึงไม่มีอำนาจมอบให้ ค. ฟ้องคดีแทน ก่อนฟ้องโจทก์ไม่ได้บอกกล่าวก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ที่ดินที่จำเลยทั้งสองครอบครองไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ และไม่ใช่ที่ดินที่ศาลฎีกาพิพากษาว่าเป็นของโจทก์ แต่เป็นของจำเลยครอบครองทำกินตลอดมาที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินมือเปล่า จำเลยทั้งสองไม่ได้แย่งการครอบครองจากโจทก์ โจทก์ไม่ฟ้องเรียกคืนภายใน 1 ปี และค่าเสียหายสูงเกินไป ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองออกจากที่พิพาท และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ สำหรับจำเลยที่ 1 ปีละ 1,300 บาทจำเลยที่ 2 ปีละ 800 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์คนละ 600 บาท ต่อปี นับแต่วันที่ฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะออกจากที่พิพาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการแรก ตามที่จำเลยทั้งสองฎีกามีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ทะเบียนวัดเอกสารหมาย ล.7 ระบุว่าวัดสมปะศักดิ์นั้นได้มีประกาศตั้งวัดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์2460 และทะเบียนวัดพระพุทธศาสนาซึ่งจัดทำตามระเบียบกรมการศาสนาว่าด้วยการทำทะเบียนวัดในพระพุทธศาสนาตามเอกสารหมาย ล.1 ก็มีชื่อวัดสมปะศักดิ์ (สมประศักดิ์) อยู่ด้วย ทั้งเมื่อวันที่ 22ธันวาคม 2523 เจ้าคณะจังหวัดหนองคายได้แต่งตั้งพระภิกษุทองสูญสิริจันโท เป็นเจ้าอาวาสวัดสมปะศักดิ์ตามตราสารตั้งเจ้าอาวาสเอกสารหมาย จ.3 เอกสารหมาย ล.7, ล.1 และ จ.3 ดังกล่าวเป็นเอกสารราชการ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องได้จัดทำขึ้นจึงฟังได้ว่าโจทก์เป็นวัดที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะปรากฏตามเอกสารหมายล.1 และเอกสารที่จำเลยทั้งสองอ้างมาเป็นพยานหลักฐานว่า วัดโจทก์เป็นวัดร้าง แต่ก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการดำเนินการยุบเลิกวัดและกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศยุบเลิกวัดในราชกิจจานุเบกษา ตามข้อ 9และข้อ 10 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2507) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 โจทก์จึงยังมีฐานะเป็นวัดที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่ เมื่อมีพระภิกษุทองสูญ สิริจันโท และพระภิกษุอื่นจำพรรษาอยู่ในวัดและพระภิกษุทองสูญ สิริจันโท ได้รับแต่งตั้งจากเจ้าคณะจังหวัดหนองคายให้เป็นเจ้าอาวาสของโจทก์ พระภิกษุทองสูญ สิริจันโท จึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนวัดโจทก์หรือมอบอำนาจให้นายใครศรี อุณารักษ์ ฟ้องคดีแทนวัดโจทก์ได้ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าวัดโจทก์ไม่ใช่วัดที่ชอบด้วยกฎหมาย พระภิกษุทองสูญสิริจันโท มิได้เป็นเจ้าอาวาสและไม่มีอำนาจแต่งตั้งนายใครศรีอุณารักษ์ ฟ้องคดีแทนวัดโจทก์นั้นจึงฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เคยฟ้องขับไล่นายเฮ้า ยศแก้ว ออกจากที่ดินของโจทก์ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 46/2526 ของศาลชั้นต้น ระหว่างพระภิกษุทองสูญ สิริจันโท เจ้าอาวาสวัดสมปะศักดิ์ โดยนายใครศรี อุณารักษ์ ไว้ยาวัจกร ผู้รับมอบอำนาจ โจทก์ นายเฮ้ายศแก้ว จำเลย ซึ่งในคดีนี้ได้มีการทำแผนที่พิพาทไว้ตามเอกสารหมายจ.1 ศาลฎีกาได้พิพากษาว่า ที่ดินตามแผนที่พิพาทเป็นของโจทก์แผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.1 มีรูปแผนที่แสดงเขตที่ดินของโจทก์ตรงกับรูปแผนที่พิพาทในคดีนี้ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.7 และ ล.9เห็นได้ว่า ที่ดินที่โจทก์อ้างว่าเป็นของโจทก์ในคดีก่อนกับคดีนี้เป็นที่ดินแปลงเดียวกัน ในฎีกาของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองก็ไม่ได้โต้แย้งว่ารูปแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.1 ไม่ตรงกับรูปแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.7 และ ล.9 คงโต้แย้งแต่เพียงว่า คู่ความในคดีก่อนได้ทำแผนที่ที่ดินรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลยทั้งสองเท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าที่ดินพิพาทในคดีนี้เป็นของโจทก์ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีก่อน และคำพิพากษานี้เป็นคำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งที่ดินเป็นคุณแก่โจทก์ โจทก์ย่อมนำมาใช้ยันแก่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่จำเลยทั้งสองจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145(2) ในปัญหานี้จำเลยทั้งสองนำสืบว่า จำเลยที่ 1 ได้ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายดา เมืองแมนหรือเมืองแพน ตั้งแต่ พ.ศ. 2507ส่วนจำเลยที่ 2 ได้ที่ดินพิพาทมาโดยการยกให้ของนายหนูพันธ์มีศรี บิดาตั้งแต่ พ.ศ. 2514 เห็นว่า จำเลยทั้งสองมีแต่พยานบุคคลเท่านั้นมานำสืบว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองไม่มีพยานเอกสารมาแสดงเพื่อสนับสนุนให้เห็นที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองสำหรับโจทก์นั้นตามทะเบียนวัดในเขตจังหวัดหนองคายเอกสารหมาย ล.7 ระบุว่าวัดโจทก์มีที่ดินที่ใช้ตั้งวัดเนื้อที่4 ไร่ 2 งาน ทะเบียนวัดนี้จัดทำขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2460 เป็นเวลาก่อนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าได้ที่ดินพิพาทมาหลายสิบปี แผนที่ที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1 ระบุว่ามีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ 2 งาน60 ตารางวา ก็มีเนื้อที่ใกล้เคียงกับที่ปรากฏในเอกสารหมาย ล.7นอกจากนี้ยังได้ความว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากแผนกศึกษาธิการจังหวัดหนองคายโดยระบุว่าเป็นที่ดินของโจทก์และมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาเช่า ปรากฏตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.2 แสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ที่ดินพิพาทจึงน่าจะเป็นของโจทก์มากกว่าของจำเลยทั้งสอง ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าได้ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทโดยเข้าใจผิดไปว่าเป็นที่ดินของโจทก์นั้นไม่มีเหตุผลเพียงพอ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิในที่ดินพิพาทดังกล่าว จึงต้องฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ไม่ใช่ของจำเลยทั้งสอง เมื่อที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าที่ดินพิพาทมีเอกสารสิทธิในที่ดินหรือไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่เสียหาย หากจะเสียหายก็ไม่เกินปีละ 200 บาทนั้น เห็นว่าเมื่อจำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินของโจทก์อยู่ โจทก์ไม่สามารถที่จะนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ได้โจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย ตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.7ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินของโจทก์มีเนื้อที่99 เศษสองส่วนสิบ ตารางวา จำเลยที่ 2 ครอบครองเนื้อที่97 เศษสามส่วนสิบ ตารางวา นายใครศรี อุณารักษ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์และเป็นไวยาวัจกรซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้วัดโจทก์เบิกความว่าจำเลยที่ 1 ใช้ที่ดินปลูกบ้านจำนวน 3 ห้อง เพื่ออยู่อาศัยและทำการค้าขายกับใช้ที่ดินส่วนที่ลาดต่ำลงไปตามตลิ่งริมฝั่งแม่น้ำโขงปลูกยาสูบและผักชนิดต่าง ๆ ส่วนจำเลยที่ 2 ใช้ที่ดินปลูกบ้านอยู่อาศัยและที่ดินที่ลาดต่ำลงไปนั้นสามารถปลูกยาสูบและพืชผักต่าง ๆ ได้ เห็นได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ใช้ทำประโยชน์ได้ทั้งเพื่อปลูกบ้านอยู่อาศัย ทำการค้าและปลูกพืชผักต่าง ๆ ได้เป็นที่ดินที่มีค่าพอสมควร จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทมีเนื้อที่จำนวนใกล้เคียงกันที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์สำหรับการที่จำเลยทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทคนละ600 บาท ต่อปีนั้น เป็นการพอสมควรแก่กรณีแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share