แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์จะผ่านทางรถไฟ แม้ไม่มีป้ายสัญญาณ “หยุด” บอกไว้แต่ก็มีป้ายบอกเครื่องหมายว่ามีทางรถไฟข้างหน้าแสดงไว้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ควรใช้ความระมัดระวังดูความปลอดภัยให้แน่เสียก่อน โดยชะลอความเร็วและหยุดรถมองซ้ายและขวาต่อเมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงขับต่อไป แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติดังกล่าวเมื่อรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับไปเกิดชนกับรถไฟขึ้น จำเลยที่ 1 จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ขับรถยนต์มาด้วยความประมาทเลินเล่อ บริเวณที่เกิดเหตุมีอุบัติเหตุรถไฟกับรถยนต์ชนกันบ่อยถึงแม้พระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ.2464 มาตรา73 จะมิได้บังคับให้การรถไฟต้องทำประตูหรือขึงโซ่ หรือทำราวกั้นขวางถนนที่ตัดผ่านทางรถไฟทุกถนนก็ตาม แต่เมื่อ ถนนตัดผ่านในกรณีพิพาทเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนกับรถไฟบ่อยๆโจทก์ก็ควรจะทำเครื่องปิดกั้นถนนไว้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยยิ่งขึ้นแต่ก็มิได้กระทำ ถือได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ โจทก์เองก็มีส่วนประมาทเลินเล่ออยู่ด้วย รถยนต์คันเกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ 3 ขายให้แก่จำเลยที่ 2 โดยวิธีผ่อนชำระราคา โดยมีข้อตกลงให้จำเลยที่ 3ทำประกันภัยเกี่ยวกับรถยนต์คันนี้ ในการเสี่ยงภัยทุกประเภทโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกเงินเบี้ยประกันภัยในการเอาประกันภัยดังกล่าว ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ผู้ซื้อยังชำระราคาไม่หมด กรรมสิทธิ์ยังเป็นของจำเลยที่ 3 อยู่แต่จำเลยที่ 2 นำมาครอบครองและใช้สอยโดยให้จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นลูกจ้างขับไปในทางการที่จ้างและเกิดเหตุขึ้น เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่สัญญาผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยกับจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำเลยที่ 4 ก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 4เป็นผู้รับประกันภัยอุบัติเหตุรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 1ขับรถยนต์คันดังกล่าวชนรถไฟโจทก์เสียหายด้วยความประมาทเลินเล่อ จึงขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิด ใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การว่าจำเลยที่ 1 มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 เหตุเกิดเพราะความประมาทของพนักงานขับรถไฟของโจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 3จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 ไม่ได้รับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถโดยประมาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์166,580.16 พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในวงเงินไม่เกิน 250,000 บาท
โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหาย151,580.96 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 4 เสีย
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2521 เวลา 6.10 นาฬิกานายชุบ นิลจันทร์ พนักงานขับรถจักรของโจทก์ได้ขับรถจักรดีเซลคันเลขที่ 3018 ลากจูงขบวนรถไฟโดยสารและสินค้าขบวนที่ 346 จากสถานีรถไฟสุพรรณบุรีเพื่อไปยังสถานีรถไฟธนบุรี ขณะที่รถไฟขบวนนี้แล่นมาระหว่างสถานีรถไฟหนองฟักกับสถานีรถไฟกำแพงแสนมีถนนตัดผ่านทางรถไฟซึ่งไม่มีเครื่องปิดกั้น ขณะนั้นเป็นเวลา 7.26 นาฬิกา ได้มีรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน น.ฐ. 26927ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับขี่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้าง และขับมาตามถนนชนหัวรถจักรของขบวนรถไฟทางด้านซ้ายเป็นเหตุให้หัวรถจักรและตู้พ่วงอีก 3 หลังขอขบวนรถไฟตกรางไปทางด้านขวาได้รับความเสียหาย ปัญหาวินิจฉัยข้อแรกมีว่า ฝ่ายใดเป็นฝ่ายกระทำประมาท และจะต้องรับผิดจากผลแห่งความประมาทนั้นมากน้อยเพียงใด และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าการที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์จะผ่านทางรถไฟตรงที่เกิดเหตุนั้น แม้ไม่มีป้ายสัญญาณ “หยุด” บอกแสดงไว้ แต่ก็มีป้ายบอกเครื่องหมายว่ามีทางรถไฟข้างหน้าแสดงไว้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ควรใช้ความระมัดระวังดูความปลอดภัยให้แน่นอนเสียก่อนโดยชะลอความเร็วและหยุดมองซ้ายและขวา ต่อมาเมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงขับต่อไป แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติดังกล่าว และได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจตรีพิธี กาญจสถิตย์ พยานจำเลยประกอบกับภาพถ่ายหมาย ล.3 ว่า มีรอยเบรกเป็นทางยาวตรงที่เกิดเหตุ แสดงว่าจำเลยที่ 1 ขับรถมาด้วยความเร็วและเบรกยางกะทันหันเมื่อใกล้จะถึงจุดที่ชนกัน ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้ชะลอความเร็วและหยุดรถเพื่อใช้ความระมัดระวังดูความปลอดภัยเสียก่อน อันเป็นความประมาทของจำเลยที่ 1 ส่วนทางฝ่ายโจทก์นั้นปรากฏตามภาพถ่ายหมาย ล.8 และคำเบิกความของพันตำรวจตรีพิธี กาญจสถิตย์พยานจำเลยและเป็นผู้สอบสวนเกี่ยวแก่เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ว่า ป้ายเครื่องหมายให้รถหยุดบริเวณที่เกิดเหตุไม่มี เพิ่งมีป้ายมาติดครบหลังจากเกิดเหตุแล้วบริเวณที่เกิดเหตุมีอุบัติเหตุรถไฟกับรถยนต์ชนกันบ่อย ถึงแม้พระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พระพุทธศักราช 2464 มาตรา 73 จะมิได้บังคับให้การรถไฟต้องทำประตู หรือขึงโซ่ หรือทำการกั้นขวางถนนที่ตัดผ่านทางรถไฟทุกถนนก็ตาม แต่เมื่อถนนตัดผ่านในกรณีพิพาทเกิดเหตุรถยนต์ชนกันบ่อย ๆเช่นนี้ โจทก์จึงควรจะทำเครื่องปิดกั้นถนนไว้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยยิ่งขึ้นแต่ก็มิได้กระทำ จึงเห็นได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้โจทก์เองก็มีส่วนประมาทอยู่ด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองศาลวินิจฉัยให้จำเลยรับผิดในผลแห่งความประมาทสองในสามส่วนนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ 4จะต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น.ฐ. 26927 ที่เกิดเหตุนี้เป็นของจำเลยที่ 3 ซึ่งขายให้แก่จำเลยที่ 2 โดยวิธีผ่อนชำระราคาปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 โดยมีข้อตกลงกันให้จำเลยที่ 3 ทำประกันภัยเกี่ยวกับรถยนต์คันนี้ในการเสี่ยงภัยทุกประเภทโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกเงินเบี้ยประกันภัย ในการเอาประกันภัยดังกล่าวนั้นเนื่องจากจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกเนื่องมาจากการใช้รถยนต์คันนี้ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 7 แล้วจำเลยที่ 3จึงไปทำสัญญาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 4 ตามข้อตกลงดังกล่าว ปรากฏตามกรมธรรม์ประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 4 ตามข้อตกลงดังกล่าว ปรากฏตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.10 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ผู้ซื้อยังชำระราคาไม่หมดกรรมสิทธิ์ยังเป็นของจำเลยที่ 3 แต่จำเลยที่ 2 นำมาครอบครองและใช้สอยโดยให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างขับไปในทางการที่จ้างและเกิดเหตุนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่สัญญาผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยกับจำเลยที่ 4 เพียงแต่เป็นผู้ออกเงินเบี้ยประกันภัยเท่านั้น จำเลยที่ 3 ต่างหากที่เป็นผู้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 4 เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 4 ก็ไม่ต้องรับผิดด้วยดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ชอบแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 65,037.32 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์