แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 เป็นกฎหมายที่ตราออกมาใช้บังคับเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศตามหมายเหตุแนบท้าย พ.ร.ก. และข้อความในตอนต้นของ พ.ร.ก. ก็ระบุไว้อย่างแจ้งชัดแล้วว่า พ.ร.ก. นี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งเป็นการกระทำโดยอาศัยอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้ทำได้โดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมาย พ.ร.ก. ดังกล่าวมิได้ใช้บังคับกับการทำนิติกรรมทั่ว ๆ ไป ดังเช่นที่ใช้ใน ป.พ.พ. แต่ใช้เป็นกรณีพิเศษเกี่ยวกับหนี้สินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.ก. เท่านั้น บทบัญญัติต่าง ๆ ที่ระบุไว้จึงย่อมแตกต่างไปจากที่ระบุไว้ใน ป.พ.พ. รวมทั้งเรื่องการบังคับจำนองหรือการเอาทรัพย์สินหลุดเป็นสิทธิของผู้รับจำนอง การที่โจทก์บังคับจำนองทรัพย์สินคือที่ดินพิพาทหลุดเป็นสิทธิโดยอาศัยอำนาจตามที่ พ.ร.ก. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 76 ให้อำนาจไว้โดยชอบแล้ว แม้ไม่ได้ดำเนินการตามที่ ป.พ.พ. บัญญัติไว้ ก็ไม่ทำให้การโอนที่ดินพิพาทของโจทก์เป็นโมฆะ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 389 ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการ และส่งมอบที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินทั้งหมดแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย กับชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 48,657.74 บาท และชำระค่าเสียหายอีกเดือนละ 246,668.72 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 389 ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการ และส่งมอบที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินทั้งหมดให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 10,200 บาท กับค่าเสียหายนับตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2550 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2550 เป็นเงิน 42,500 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ 51,000 บาท นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน แต่ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้น 2,400 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการแรกตามฎีกาของจำเลยว่า การที่โจทก์รับโอนที่ดินพิพาทตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 ทำให้การโอนเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 เป็นกฎหมายที่ตราออกมาใช้บังคับเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ตามหมายเหตุแนบท้ายพระราชกำหนด ทั้งข้อความในตอนต้นของพระราชกำหนดก็ระบุไว้อย่างแจ้งชัดแล้วว่า พระราชกำหนดนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งเป็นการกระทำโดยอาศัยอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้ทำได้โดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมาย พระราชกำหนดดังกล่าวมิได้ใช้บังคับกับการทำนิติกรรมทั่วๆ ไป ดังเช่นที่ใช้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ใช้เป็นกรณีพิเศษเกี่ยวกับหนี้สินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในพระราชกำหนดเท่านั้น บทบัญญัติต่างๆ ที่ระบุไว้จึงย่อมแตกต่างไปจากที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมทั้งเรื่องการบังคับจำนองหรือการเอาทรัพย์สินหลุดเป็นสิทธิของผู้รับจำนอง ดังนั้นเมื่อฟังข้อเท็จจริงว่า การที่โจทก์บังคับจำนองเอาทรัพย์สินคือ ที่ดินพิพาทหลุดเป็นสิทธิโดยอาศัยอำนาจตามที่พระราชกำหนดให้อำนาจไว้โดยชอบแล้ว แม้ไม่ได้ดำเนินการตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้ ก็ไม่ทำให้การโอนที่ดินพิพาทของโจทก์เป็นโมฆะดังที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาแต่อย่างใด ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น สำหรับปัญหาที่จำเลยฎีกาว่าในคดีเดิมคือคดีหมายเลขแดงที่ 9306/2546 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ยังไม่ถึงที่สุด แต่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกานั้น ก็ไม่ได้ทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิดำเนินคดีนี้ เนื่องจากในคดีดังกล่าวไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับอนุญาตให้ทุเลาการบังคับคดีไว้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ย่อมมีสิทธิดำเนินคดีนี้ต่อไปได้ ปัญหาสุดท้ายที่จำเลยฎีกาในเรื่องค่าเสียหายนั้น เห็นว่าในชั้นพิจารณาจำเลยพยายามนำสืบว่า ที่ดินพิพาทมีราคาสูงถึงตารางวาละ 100,000 บาท แต่ที่จำเลยนำสืบเองกลับระบุว่า ที่ดินพิพาทมีราคาเพียงตารางวาละ 50,000 บาท เท่านั้นซึ่งขัดกับข้อที่จำเลยฎีกาอ้างว่าศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายของโจทก์สูงเกินไป เพราะหากที่ดินพิพาทยิ่งมีราคาสูงขึ้นเท่าไร ค่าเสียหายของโจทก์ก็ต้องสูงขึ้นตามไปด้วย เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า ค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้แก่โจทก์นับว่าเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ