แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยให้โจทก์ลูกจ้างติดต่อโฆษณาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของจำเลยทางโทรทัศน์ โดยกำหนดงบประมาณค่าโฆษณาไว้เป็นเงิน 4 ล้านบาทต่อปี โจทก์ติดต่อให้บริษัท อ. โฆษณาผลิตภัณฑ์ ของจำเลยและได้มีการจ่ายค่าโฆษณาไปแล้วเกือบ 3 ล้านบาท คงเหลือเพียง 1 ล้านบาทเศษ แต่เหลือเวลาที่จะต้อง โฆษณาอีก 7 เดือน ประกอบกับสินค้าของจำเลยขายไม่ ค่อยดี จำเลยจึงสั่งให้โจทก์ลดค่าโฆษณาลงโจทก์ ขัดคำสั่งของจำเลยโดยมิได้สั่งให้บริษัท อ. ลดการโฆษณาลงถือว่าเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย อย่างร้ายแรงแล้วกรณีจึงต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47 (3) ที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้
ย่อยาว
โจทก็ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย และเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมโดยจำเลยกลั่นแกล้งโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
จำเลยให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นผู้จัดการทั่วไป มีหน้าที่ติดต่อกับบุคคลภายนอกแทนจำเลย หรือกระทำกิจการต่าง ๆ ที่จำเลยมอบหมายโจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน จำเลยไล่โจทก์ออกจากงานเพราะเหตุโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่กระทำความผิดตามกฎหมายอาญาโดยเจตนาต่อจำเลย จงใจและละเลยในการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายบางเดือนจำเลยแจ้งให้โจทก์ตัดหรือลดงบประมาณค่าโฆษณา แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามกลับทำสัญญาฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยและบางครั้งกลับเพิ่มจำนวนค่าโฆษณาเกินงบประมาณ ใช้อำนาจหน้าที่ยักยอกผลิตภัณฑ์ของจำเลยคิดเป็นเงิน ๖,๒๕๒ บาท ค่าเสียหายเป็นฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายไม่เคลือบคลุม โจทก์จำเลยเป็นลูกจ้างนายจ้างกันและกันตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน โจทก์มิได้ทุจริตต่อหน้าที่และมิได้ใช้อำนาจหน้าที่ยักยอกผลิตภัณฑ์ของจำเลย แต่การที่จำเลยได้มีคำสั่งให้ลดการโฆษณาสินค้าของจำเลย โจทก์มิได้ปฏิบัติตามคำสั่งโดยมิได้ติดต่อให้บริษัทที่รับจ้างโฆษณาลดการโฆษณาลง การกระทำของโจทก์จึงเป็นการจงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย จำเลยจึงมีอำนาจเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แต่เหตุเลิกจ้างดังกล่าวไม่ใช่เหตุใดเหตุหนึ่งตามข้อ ๔๗ แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ อันเป็นข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยได้มีคำสั่งให้โจทก์ลดค่าโฆษณาในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๒๗ แต่โจทก์ขัดคำสั่งของจำเลยโดยมิได้สั่งให้บริษัท เอ็ม พี ซีโอเรียนเต็ล จำกัด ลดค่าโฆษณาลง พิเคราะห์แล้วเห็นว่าในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ จำเลยกำหนดงบประมาณค่าโฆษณาไว้เป็นเงิน ๔ ล้านบาท แต่มีเวลาเหลืออีก ๗ เดือน ได้มีการจ่ายค่าโฆษณาไปแล้วเกือบ ๓ ล้านบาท คงเหลือเพียง ๑ ล้านบาทเศษ ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการโฆษณาในระยะเวลาที่คงเหลือ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ธุรกิจการค้าของจำเลยได้รับความเสียหายได้และในเดือนกุมภาพันธ์นี้ สินค้าของจำเลยขายไม่ค่อยดีจึงไม่มีความจำเป็นต้องโฆษณามากและถ้าโจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยโดยลดค่าโฆษณาในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๒๗ จากจำนวนเงิน ๔ แสนบาทให้เหลือเพียง ๒ แสนบาทนั้น นอกจากจะประหยัดเงินได้เป็นจำนวนมากแล้ว ยังจะเป็นผลดีแก่จำเลยอีกด้วย การที่โจทก์ขัดคำสั่งของจำเลยโดยมิได้สั่งให้บริษัท เอ็ม พี ซี โอเรียนเต็ล จำกัดลดการโฆษณาลงในกรณีคดีนี้ ถือได้ว่าเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงแล้ว กรณีจึงต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๔๗ (๓) ที่จำเลยผู้เป็นนายจ้าง มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับคำขอเรียกค่าชดเชยจากจำเลยเสียด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง