คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17173/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรด้วยตนเอง แต่การที่จำเลยที่ 1 โทรศัพท์สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นการสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4 ซึ่งบัญญัตินิยามคำว่า “นำเข้า” หมายความว่า นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร เมื่อเมทแอมเฟตามีนของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป จึงต้องฟังว่า จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายและมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 65, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 58, 83 ริบของกลางและบวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1017/2550 ของศาลจังหวัดอุดรธานี เข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 5 ปี และปรับคนละ 400,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำเลยที่ 1 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน และปรับ 200,000 บาท และให้นำโทษจำคุก 3 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1017/2550 ของศาลจังหวัดอุดรธานี มาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 9 เดือน และปรับ 200,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำคุกคนละ 3 ปี 4 เดือน และปรับคนละ 266,666.67 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับเกินหนึ่งปีแต่ไม่เกินสองปี ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่กับซิมการ์ดของกลาง ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 65 วรรคสอง) อีกฐานหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิต คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) ให้จำคุกคนละตลอดชีวิต เมื่อลงโทษจำเลยที่ 1 ให้จำคุกตลอดชีวิตแล้ว ไม่อาจนำโทษจำคุก 3 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1017/2550 ของศาลจังหวัดอุดรธานี มาบวกกับโทษของจำเลยที่ 1 ได้ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งฟังว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสามได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลาง และจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย และฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ และมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนเข้าในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายหรือไม่ ศาลฎีกาจักได้วินิจฉัยปัญหาทั้งสองข้อไปพร้อมกันทีเดียว แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักร แต่ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4 บัญญัตินิยามคำว่า “นำเข้า” หมายความว่า นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร ข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 โทรศัพท์สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนจากคนในเรือที่แล่นเรือมาจากฝั่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักร และเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไปซึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ให้ถือว่าเป็นการนำเข้ามาเพื่อจำหน่าย จึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ส่งเมทแอมเฟตามีนให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 นำเมทแอมเฟตามีนใส่กระเป๋าเสื้อด้านซ้าย ถือว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น สำหรับจำเลยที่ 3 นั้น ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 3 ได้ให้การไว้ตามบันทึกคำให้การ เมื่อพิเคราะห์เอกสารมีความทำนองเดียวกับบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 ซึ่งให้การไว้ในชั้นสอบสวนใกล้เวลาเกิดเหตุ ไม่ทันได้คิดเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นย่อมมีน้ำหนักรับฟังได้ ตามพฤติการณ์แห่งคดีฟังได้ว่า เช้าวันเกิดเหตุจำเลยทั้งสามได้ปรึกษากันเพื่อจะไปซื้อเมทแอมเฟตามีนที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง แล้วจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์คันหนึ่ง จำเลยที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์มีจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายอีกคันมาจอดที่บริเวณกองหิน จากนั้นจำเลยที่ 1 โทรศัพท์สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนและบอกจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่าสั่งเมทแอมเฟตามีนได้แล้ว จำเลยที่ 1 ชวนจำเลยที่ 2 เดินไปรับเมทแอมเฟตามีนที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่จอดรถจักรยานยนต์ประมาณ 100 เมตร โดยให้จำเลยที่ 3 นั่งรออยู่ที่รถจักรยานยนต์ เห็นว่า จำเลยที่ 3 ได้วางแผนปรึกษากับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพื่อซื้อเมทแอมเฟตามีนที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงจากคนในเรือที่แล่นเรือมาจากฝั่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แล้วจำเลยที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์มาพร้อมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนทางโทรศัพท์ได้แล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 เดินไปรับเมทแอมเฟตามีนที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ส่วนจำเลยที่ 3 นั่งเฝ้ารถจักรยานยนต์รออยู่ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าลักษณะเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายและฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแล้ว จำเลยที่ 3 จึงกระทำความผิดฐานร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายและฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 ในความผิดทั้งสองข้อหามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า รถจักรยานยนต์ยี่ห้อคาวาซากิของกลาง มิใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด จึงไม่สั่งริบ แต่ก็มิได้มีคำสั่งให้คืนแก่เจ้าของและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ได้แก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 65 วรรคสอง, 66 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิต คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 3 หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) ให้จำคุกตลอดชีวิต คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share