คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5621/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนและจำหน่ายแผ่นวีซีดีและแผ่นดีวีดีภาพยนตร์ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 เมื่อจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการดังกล่าวโดยไม่ได้รับใบอนุญาตก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว ส่วนที่ต่อมาระหว่างเจ้าพนักงานตำรวจตรวจพบการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 จึงเข้าจับกุม แต่จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ นับเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ ต่างกรรมต่างวาระกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยร่วมกระทำความผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไป และฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนและจำหน่ายแผ่นวีซีดีและแผ่นดีวีดีภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต จึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91
โจทก์บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 78 ด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานดังกล่าวตามฟ้องด้วย แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้ปรับบทกฎหมายลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้เป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 28, 31, 69, 70, 75 และ 76 พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 25, 38, 78, 79 และ 91 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 138, 140, 189 และ 296 ให้แผ่นวีซีดี แผ่นดีวีดีภาพยนตร์ 37 แผ่น ของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ของกลางที่เหลืออีก 899 แผ่น ให้ริบและสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
ระหว่างพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ขอถอนคำร้องทุกข์ไม่ติดใจดำเนินคดีต่อจำเลยที่ 1 อีกต่อไป และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาต สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้าจึงเป็นอันระงับไป ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) และให้จำหน่ายคดีเฉพาะความผิดฐานดังกล่าวออกจากสารบบความ
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 เนื่องจากจำเลยที่ 2 เป็นผู้ช่วยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กระทำผิดเพื่อไม่ให้ต้องโทษ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานนี้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 140 วรรคหนึ่ง, 296 ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ปรับ 6,000 บาท และพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 79 ให้ลงโทษปรับ 200,000 บาท และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 140 วรรคหนึ่ง, 189, 296 ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ปรับ 6,000 บาท รวมลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 1 ปี ปรับ 206,000 บาท และจำเลยที่ 2 จำคุก 1 ปี ปรับ 6,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน ปรับ 103,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน ปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 1 ปี กำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติจำเลยทั้งสอง 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือน และให้ทำงานบริการสังคม 20 ชั่วโมง ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก (ที่ถูกคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก)
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า การกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทจึงต้องลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 140 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงกระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 หรือไม่ เห็นว่า สำหรับความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้า ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ถอนคำร้องทุกข์และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาต จำหน่ายคดีเฉพาะความผิดฐานดังกล่าวไปแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องนำความผิดฐานดังกล่าวมาวินิจฉัย ส่วนความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนและจำหน่ายแผ่นวีซีดี แผ่นดีวีดีภาพยนตร์ ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 เมื่อจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการดังกล่าวโดยไม่ได้รับใบอนุญาตก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว ส่วนที่ต่อมาระหว่างเจ้าพนักงานตำรวจตรวจพบการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 จึงเข้าจับกุม แต่จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ นับเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ต่างกรรมต่างวาระกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยร่วมกระทำความผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไป และฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนและจำหน่ายแผ่นวีซีดีและ แผ่นดีวีดีภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต จึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 78 ด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานดังกล่าวตามฟ้องด้วย แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้ปรับบทกฎหมายลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ให้ถูกต้องได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 78 อีกบทหนึ่งด้วย อันเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 79 ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 79 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 กำหนดโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share