คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 125/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนี้เงินลีร์ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัสต์รีซีทครบกำหนดในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2539 และบริษัทลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดชำระหนี้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้นับแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2539 ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี เมื่อโจทก์เพิ่งนำคดีเกี่ยวกับหนี้ส่วนนี้มาฟ้องในวันที่ 24 ตุลาคม 2549 ทั้งที่สิทธิเรียกร้องต่อผู้ค้ำประกันในหนี้เงินลีร์เกิดตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2539 เกินกำหนดเวลา 10 ปี สิทธิเรียกร้องตามสัญญาค้ำประกันจึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ มาตรา 193/30
มูลหนี้ตามฟ้องคดีนี้เป็นมูลหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทซึ่งต่างจากมูลหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีประเด็นแห่งคดีในมูลหนี้ทั้งสองย่อมต่างกัน คดีนี้จึงไม่อาจเป็นฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
ไม่ว่าดอกเบี้ยจะค้างอยู่นานเท่าใด ในกรณีที่จำเลยให้การต่อสู้เรื่องอายุความคิดดอกเบี้ยไว้ โจทก์ก็มีสิทธิคิดดอกเบี้ยก่อนฟ้องย้อนหลังไปได้เพียง 5 ปี เท่านั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 8,303,056 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 1,701,560.20 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองบิดพลิ้วให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้แทน ถ้าได้เงินจำนวนสุทธิไม่พอใช้หนี้ให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองจนกว่าจะครบถ้วน
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,701,560.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดเท่าที่โจทก์พึงเรียกเก็บได้จากลูกค้าทั่วไปซึ่งมิได้ผิดนัดชำระหนี้ตามประกาศของโจทก์แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี นับย้อนหลังแต่วันฟ้องขึ้นไปไม่เกิน 5 ปี (ฟ้องวันที่ 24 ตุลาคม 2549) และนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากบิดพลิ้วให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 62277 ตำบลดอกไม้ (บางแก้ว) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดใช้หนี้แทน ถ้าได้เงินจำนวนสุทธิไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดใช้หนี้จนกว่าจะครบถ้วน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังว่า บริษัทโปรเกรสซีฟ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเป็นเงิน 38,697.50 ดอลลาร์สหรัฐ และ 85,283,120 ลีร์ โดยทำสัญญาทรัสต์รีซีทไว้แก่โจทก์เพื่อรับสินค้าเหล่านั้นไปจำหน่าย และตกลงจะชำระหนี้ทั้ง 2 จำนวน พร้อมดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมคืน โดยมีจำเลยทั้งสองเป็นผู้ค้ำประกันและจำเลยที่ 1 จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 62277 ตำบลดอกไม้ (บางแก้ว) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร เป็นประกันการชำระหนี้ มีข้อตกลงด้วยว่าหากมีการบังคับจำนอง นำทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด ได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้จำเลยที่ 1 ยินยอมรับผิดชดใช้เงินที่ขาดให้แก่โจทก์จนครบถ้วน ต่อมาบริษัทผิดนัดชำระหนี้ โจทก์จึงหักเงินจากบัญชีเงินฝากของบริษัทชำระหนี้ 1,032,511.85 บาท ตามสิทธิที่บริษัทให้ไว้ หลังจากนั้นบริษัทถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย
ปัญหาข้อแรกที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์ย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่าใครเป็นลูกหนี้ของตนแต่โจทก์กลับมิได้ระบุในหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องจำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นว่า เอกสารฉบับนั้นเป็นเพียงหนังสือมอบอำนาจทั่วไปนั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์ว่าโจทก์ย่อมรู้ดีอยู่แล้วเช่นนั้นก็ตาม แต่โดยพฤติการณ์โจทก์ย่อมไม่อาจคาดเดาได้ล่วงหน้าว่าลูกหนี้รายใดบ้างจะประพฤติผิดสัญญาจนถึงขนาดต้องนำคดีมาสู่ศาลหรือรายใดจะปฏิบัติตามสัญญาอย่างเคร่งครัดจนหมดพันธกรณีเพราะเป็นเหตุการณ์ในอนาคตทั้งสิ้น การที่หนังสือมอบอำนาจระบุให้นางจีรนันท์ดำเนินคดีฟ้องร้อง ถอนฟ้อง และแก้คดีต่าง ๆ ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา คดีล้มละลาย หรือคดีความอื่นใดนั้น ย่อมหมายความว่าโจทก์มอบอำนาจให้นางจีรนันท์ดำเนินคดีแก่ลูกหนี้เฉพาะรายที่ประพฤติผิดสัญญาจนถึงขนาดที่ต้องฟ้องขอให้ศาลบังคับเท่านั้น มิใช่การมอบอำนาจทั่วไปดังที่จำเลยที่ 1 เข้าใจ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจึงชอบแล้ว
ปัญหาข้อต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 มีว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยทั้งสองตามสัญญาค้ำประกันขาดอายุความหรือไม่เพียงใด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าหนี้เงินลีร์ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัสต์รีซีทครบกำหนดในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2539 และบริษัทผิดนัดชำระหนี้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้นับแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2539 ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี เมื่อโจทก์เพิ่งนำคดีส่วนนี้มาฟ้องในวันที่ 24 ตุลาคม 2549 ทั้งที่สิทธิเรียกร้องต่อผู้ค้ำประกันในหนี้เงินลีร์เกิดตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2539 เกินกำหนดเวลา 10 ปี สิทธิเรียกร้องตามสัญญาค้ำประกันส่วนนี้จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้จำนวนนี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 ได้รับคำเตือนให้ชำระหนี้และจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองหรือไม่ รวมทั้งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจำนองหรือไม่ เห็นควรวินิจฉัยไปพร้อมกัน ข้อเท็จจริงรับฟังว่าจำเลยที่ 1 ได้รับคำเตือนให้ชำระหนี้และจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว ข้อที่จำเลยที่ 1 อ้างในอุทธรณ์ว่าตนจำนองที่ดิน เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี 2,000,000 บาท มิใช่จำนองเป็นประกันหนี้ตามฟ้องอันเกิดจากสัญญาทรัสต์รีซีท และโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลจังหวัดนนทบุรีเพื่อเอาชำระหนี้เงินกู้เบิกเกินบัญชีดังกล่าวไปแล้ว โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้อีกจึงเป็นการฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ เห็นว่า สัญญาจำนอง ปรากฏข้อความชัดเจนว่าผู้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 62277 ตำบลดอกไม้ (บางแก้ว) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ทั้งแปลงเพื่อเป็นประกันหนี้ของผู้จำนองเอง และ/หรือบริษัทโปรเกรสซีฟ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เป็นเงินจำนวน 2,000,000 บาท มิได้ระบุว่าจำนองเป็นประกันเฉพาะหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง จึงครอบคลุมหนี้ทุกประเภทของลูกหนี้ นอกจากนั้นสัญญาจำนองทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มีสถานภาพเป็นเอกสารมหาชนที่ใช้ยันแก่บุคคลทั่วไป จำเลยที่ 1 เองก็รับว่าตนจดทะเบียนจำนองที่ดินแปลงนั้นแก่โจทก์ รวมทั้งแถลงรับข้อเท็จจริงตามรายงานกระบวนการพิจารณา เท่ากับยอมรับรองความถูกต้องแท้จริงของเอกสารฉบับนั้นแล้วจึงไม่อาจนำความในเอกสาร ซึ่งเป็นเอกสารภายในหน่วยงานของโจทก์มานำสืบเปลี่ยนแปลงหักล้างได้อีก ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจำนองนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นด้วยในผลและเมื่อมูลหนี้ตามฟ้องคดีนี้เป็นมูลหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทซึ่งต่างจากมูลหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี ประเด็นแห่งคดีในมูลหนี้ทั้งสองย่อมต่างกัน คดีนี้จึงไม่อาจเป็นฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำดังที่โจทก์กล่าวอ้าง
ปัญหาข้อสุดท้ายในเรื่องดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดในดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังแต่วันฟ้องขึ้นไปไม่เกิน 5 ปี และนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ เท่ากับให้จำเลยทั้งสองรับผิดในดอกเบี้ยค้างชำระเกิน 5 ปี จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (1) นั้น เห็นว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยชอบแล้ว เพราะไม่ว่าดอกเบี้ยจะค้างอยู่นานเท่าใดในกรณีที่จำเลยให้การต่อสู้เรื่องอายุความคิดดอกเบี้ยไว้ โจทก์ก็มีสิทธิคิดดอกเบี้ยก่อนฟ้องย้อนหลังไปได้เพียง 5 ปี เท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (1) ส่วนดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องมิใช่ดอกเบี้ยค้างชำระตามมาตรา 193/33 (1) ดังที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอุทธรณ์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมรับผิดชำระต้นเงิน 987,560.20 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราสูงสุดเท่าที่โจทก์อาจเรียกเก็บได้จากลูกค้าทั่วไปซึ่งมิได้ผิดนัดชำระหนี้ตามประกาศของโจทก์ แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี นับย้อนหลังแต่วันฟ้องขึ้นไปไม่เกิน 5 ปี และนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากบิดพลิ้วให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 62277 ตำบลดอกไม้ (บางแก้ว) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดใช้หนี้แทน ถ้าได้เงินจำนวนสุทธิไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ต่อไปจนกว่าจะครบถ้วน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ตกเป็นพับแก่กัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share