คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2383/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายซึ่งไม่มีภริยาและบุตรส่วนบิดามารดาก็ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้วโจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดจึงต่างเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกเท่ากัน นอกจากทรัพย์มรดกพิพาทคดีนี้แล้วผู้ตายยังมีทองนากเงินเพชรและพลอยแต่โจทก์กับจำเลยทั้งเจ็ดได้ตกลงแบ่งทรัพย์ดังกล่าวกันไปแล้วโดยโจทก์ได้รับคิดเป็นเงิน222,000บาทและโจทก์ขอสละสิทธิในทรัพย์มรดกพิพาทที่ยังไม่ได้แบ่งปันกันส่วนจำเลยทั้งเจ็ดได้รับคิดเป็นเงินคนละ25,500บาทเท่ากันเมื่อปรากฏว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อโจทก์เป็นสำคัญย่อมไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกพิพาทคดีนี้อีกและไม่ถือว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ได้รับแบ่งปันทรัพย์มรดกที่เป็นทองนากเงินเพชรและพลอยไปแล้วคิดเป็นเงิน222,000บาทส่วนจำเลยทั้งเจ็ดได้รับเป็นเงินคนละ25,500บาททรัพย์มรดกที่แบ่งปันกันไปแล้วจึงมีราคารวมทั้งสิ้นเป็นเงิน400,500บาทถ้าแบ่งตามสิทธิคนละ1ใน8ส่วนเท่าๆกันจะได้รับเป็นเงินคนละ50,062บาท50สตางค์โจทก์จึงได้รับแบ่งปันมากกว่าส่วนที่โจทก์จะได้ไปเป็นจำนวนเงิน171,937บาท50สตางค์จึงต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวหักออกจากส่วนแบ่งทรัพย์มรดกพิพาทของโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันของนายศิริ สุวรรณชัยโรจน์ เจ้ามรดก เจ้ามรดกไม่มีภรรยาและบุตร บิดามารดาถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว คงมีแต่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันคือโจทก์จำเลยรวมทั้งหมด 8 คน โจทก์จำเลยจึงมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกคนละหนึ่งส่วนเท่า ๆ กัน และมีสิทธิได้รับ1 ใน 8 ส่วน มรดกทั้งหมดมีราคา 3,154,800 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับ1 ใน 8 ส่วน คิดเป็นเงิน 394,350 บาท โจทก์ได้ขอให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย จึงขอให้บังคับจำเลยแบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์
จำเลยทั้งเจ็ดให้การว่า ทรัพย์มรดกมีราคาไม่มากตามที่โจทก์ฟ้องหลังจากนายศิริถึงแก่ความตายบรรดาทายาทได้จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกเสร็จแล้ว โดยโจทก์ได้รับส่วนแบ่งทองคำหนัก 25 บาท คิดเป็นเงิน145,000 บาท นากมีน้ำหนัก 10 บาท คิดเป็นเงิน 23,000 บาท เงินและแหวนคิดเป็นเงิน 54,000 บาท เป็นเงิน 222,000 บาท ไปแล้ว โดยสัญญาว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับกองมรดกอีก การที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดกอีกจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งหมด
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอแบ่งและไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทายาทได้ตกลงแบ่งทรัพย์มรดกที่เป็นทอง นาก เงินและเพชรพลอยไปแล้วโดยโจทก์ได้รับส่วนแบ่งคิดเป็นเงิน 222,000 บาทจำเลยทั้งเจ็ดได้รับคนละ 25,500 บาท โจทก์จึงได้รับส่วนแบ่งมากกว่าทายาทอื่นเป็นเงิน 196,500 บาท ต้องนำไปหักจากส่วนแบ่งซึ่งทายาทแต่ละคนจะได้รับคนละ 348,638 บาท โจทก์คงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งอีก152,138 บาท ให้จำเลยทั้งเจ็ดคนร่วมกันใช้เงินจำนวน 152,138 บาทให้โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระให้เอาทรัพย์มรดกขายทอดตลาดเอาเงินชำระแก่โจทก์ต่อไป กับให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันเสียค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้2,000 บาท
โจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แบ่งทรัพย์มรดกตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องอันดับ 1-8 และ 11-14 โดยให้ประมูลกันระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดถ้าตกลงกันไม่ได้ให้นำทรัพย์ดังกล่าวออกขายทอดตลาด เหลือเงินสุทธิเท่าใด แบ่งให้โจทก์ได้รับ 1 ใน 8 ส่วน นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งเจ็ดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่า นายศิริ สุวรรณชัยโยชน์ถึงแก่ความตาย มีทรัพย์มรดกตามบัญชีทรัพย์ท้ายคำฟ้องอันดับ1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8, 11, 12, 13, และ 14 นายศิริไม่มีภริยาและบุตร ส่วนบิดามารดาก็ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว โจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดต่างเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายศิริผู้ตายนอกจากทรัพย์มรดกที่พิพาทกันในคดีนี้แล้ว นายศิริผู้ตายมีทรัพย์มรดกเป็นทอง นาก เงิน เพชรและพลอย ซึ่งโจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดได้แบ่งปันกันไปแล้ว โดยโจทก์ได้รับทรัพย์มรดกดังกล่าวไปคิดเป็นเงิน222,000 บาท ส่วนจำเลยทั้งเจ็ดได้รับคิดเป็นเงินเพียงคนละ 25,500บาท
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาว่า ทรัพย์มรดกพิพาทมีราคาเป็นจำนวนเงินตามที่จำเลยทั้งเจ็ดต่อสู้ ต้องนำราคาดังกล่าวมาคิดคำนวณเป็นส่วนแบ่งให้แก่โจทก์หรือไม่ และจำเลยทั้งเจ็ดมีสิทธิหักเงินส่วนแบ่งที่โจทก์ได้รับมากกว่าส่วนไปแล้วออกจากส่วนแบ่งของโจทก์คดีนี้หรือไม่
ปัญหาประการแรก เห็นว่า โจทก์จำเลยทั้งเจ็ด และนายศิริผู้ตายเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน เมื่อนายศิริถึงแก่ความตายโดยไม่มีภริยาและบุตร บิดามารดาก็ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว โจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดจึงต่างเป็นทายาทโดยธรรมของนายศิริผู้ตาย ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกเท่ากัน อีกทั้งมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกดังกล่าวนั้นร่วมกันจนกว่าจะได้แบ่งมรดกกันเสร็จแล้วจึงถือได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดกแต่ละอย่างรวมทั้งหมดของนายศิริผู้ตายเท่ากัน การที่โจทก์ฟ้องอ้างสิทธิดังกล่าวเรียกร้องขอแบ่งทรัพย์มรดกคดีนี้นั้นจึงเป็นการฟ้องขอแบ่งตัวทรัพย์มรดกแต่ละอย่างตามส่วนที่โจทก์มีสิทธิ ส่วนที่โจทก์ตีราคาทรัพย์มรดกแต่ละอย่างตามบัญชีทรัพย์ท้ายคำฟ้องก็เพราะเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงจักต้องตีราคาทรัพย์มรดกแต่ละอย่างรวมทั้งหมดเป็นทุนทรัพย์เพื่อประโยชน์และความสะดวกในการคำนวณคิดค่าขึ้นศาล หาใช่โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งเจ็ดชำระหนี้เป็นจำนวนเงินตามฟ้องเท่านั้นไม่ เมื่อเป็นการฟ้องขอแบ่งสิทธิในตัวทรัพย์ แม้ศาลจะวินิจฉัยราคาทรัพย์มรดกพิพาทเป็นจำนวนเงินยุติแล้วก็ตาม หากโจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดเจ้าของไม่ตกลงแบ่งโดยวิธีชดใช้เป็นจำนวนเงินนั้นก็หาตัดสิทธิที่จะขอให้แบ่งทรัพย์มรดกระหว่างเจ้าของรวมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 ไม่ เหตุนี้ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นว่าทรัพย์มรดกมีราคาเท่าใดแล้ววินิจฉัยมานั้น จึงไม่จำเป็นแก่คดีส่วนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอ้างเหตุว่าทรัพย์มรดกแต่ละอย่างมีราคาเท่าใดฟังเป็นยุติไม่ได้ จึงพิพากษาให้แบ่งโดยประมูลกันระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งเจ็ด ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้นำทรัพย์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดแบ่งเงินสุทธิกันคนละ 1 ใน 8 ส่วนนั้น ศาลฎีกาคงเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาจำเลยทั้งเจ็ดข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการหลัง ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า นอกจากทรัพย์มรดกพิพาทคดีนี้แล้ว นายศิริผู้ตายมีทรัพย์มรดกเป็นทอง นาก เงิน เพชรและพลอยด้วย และได้แบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวไปแล้วโดยโจทก์ได้รับคิดเป็นเงิน 222,000 บาท จำเลยทั้งเจ็ดได้รับคิดเป็นเงินคนละ 25,500บาท เท่ากัน เหตุที่โจทก์ได้รับมากกว่าจำเลยทั้งเจ็ดเพราะโจทก์ได้ตกลงด้วยวาจาว่าโจทก์ขอสละสิทธิในทรัพย์มรดกพิพาทที่ยังไม่ได้แบ่งปันกัน การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยต้องกันมาว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อโจทก์เป็นสำคัญ จึงไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกพิพาทคดีนี้อีก ทั้งกรณีดังกล่าวไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งเจ็ดข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปว่าจะนำจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับมากกว่าส่วนที่โจทก์จะได้หักออกจากส่วนแบ่งที่โจทก์จะได้รับคดีนี้ได้หรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า แม้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งมากกว่าทายาทไปแล้วจะนำเงินนั้นมาหักจากส่วนแบ่งของโจทก์ในทรัพย์มรดกพิพาทไม่ได้เพราะนอกประเด็นนั้น ปรากฏตามคำฟ้องและคำให้การว่า โจทก์ฟ้องเรียกร้องขอแบ่งทรัพย์มรดกพิพาท 1 ใน 8 ส่วน จำเลยทั้งเจ็ดให้การต่อสู้แบ่งทรัพย์มรดกพิพาท 1 ใน 8 ส่วนมีราคาต่ำกว่าที่โจทก์ตีราคามาในคำฟ้องและโจทก์ได้รับแบ่งปันทรัพย์มรดกที่เป็นทอง นาก เงิน เพชรและพลอยไปมากกว่าส่วนที่โจทก์จะได้โดยโจทก์ตกลงว่าจะไม่ขอรับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกพิพาทอีก ซึ่งศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อนี้ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกหรือไม่เพียงใด ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดต่างเป็นทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกัน จึงชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน โจทก์ฟ้องเรียกร้องขอแบ่งทรัพย์มรดกพิพาทเต็มตามส่วน 1 ใน 8 ส่วนของตนทั้งหมด หากปรากฏว่าโจทก์ได้รับแบ่งปันทรัพย์มรดกบางอย่างไปแล้วมากกว่าส่วนของโจทก์และข้อตกลงด้วยวาจาที่โจทก์ขอสละสิทธิในส่วนแบ่งทรัพย์มรดกพิพาทไม่อาจบังคับโจทก์ได้ทั้งจำเลยทั้งเจ็ดได้ให้การต่อสู้ไว้แล้วว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องให้แบ่งปันทรัพย์มรดกพิพาทเพราะได้รับไปมากกว่าส่วนของโจทก์แล้วคดีจึงมีประเด็นด้วยว่าโจทก์ควรได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกพิพาทเต็มตามส่วน 1 ใน 8 ส่วน หรือควรได้แต่ส่วนที่เหลือจากที่นำจำนวนเงินโจทก์ได้รับมากกว่าส่วนที่โจทก์จะได้หักออกไปแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยประเด็นข้อนี้อ้างว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยนอกประเด็นนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งเจ็ดข้อนี้ฟังขึ้น ได้ความว่าโจทก์ได้รับแบ่งปันทรัพย์มรดกที่เป็นทอง นาก เงิน เพชรและพลอยไปแล้วเป็นเงิน 222,000 บาท ส่วนจำเลยทั้งเจ็ดได้รับเป็นเงินคนละ25,500 บาท ทรัพย์มรดกที่แบ่งปันกันไปแล้วจึงมีราคารวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 400,500 บาท ถ้าแบ่งสิทธิคนละ 1 ใน 8 ส่วนเท่า ๆ กันจะได้รับเป็นเงินคนละ 50,062 บาท 50 สตางค์ โจทก์จึงได้รับแบ่งปันมากกว่าที่โจทก์จะได้เป็นจำนวนเงิน 171,937 บาท 50 สตางค์ จึงต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวหักออกจากส่วนแบ่งทรัพย์มรดกพิพาทของโจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นำเงินที่โจทก์ได้รับไปแล้วมากกว่าส่วนที่โจทก์จะได้จำนวนเงิน 171,937 บาท 50 สตางค์หักออกจากเงินสุทธิ1 ใน 8 ส่วนก่อน ถ้ามีเงินเหลือ จึงให้แบ่งปันเงินจำนวนนั้นแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ”.

Share