แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยโดยอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ซึ่งมิได้กำหนดหรือแบ่งแยกประเภทของลูกจ้างที่มีสิทธิฟ้องร้องไว้ ลูกจ้างทุกประเภทจึงมีสิทธิฟ้องนายจ้างได้เมื่อถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมดังนั้น ไม่ว่าโจทก์จะเป็นลูกจ้างชั่วคราวรายวันหรือลูกจ้างประจำก็ย่อมได้รับความคุ้มครองจากบทกฎหมายดังกล่าวเช่นเดียวกัน
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 บัญญัติให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างว่ากรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่มีเหตุอันสมควร ลูกจ้างมีสิทธิฟ้องบังคับให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือใช้ค่าเสียหายได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยประสงค์เพียงจะรับทหารผ่านศึกซึ่งพิการทุพพลภาพและครอบครัวเข้าทำงานแทนโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กระทำผิดวินัยประการใด ย่อมเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความกระทบกระเทือนต่อการประกอบอาชีพตามปกติ จึงไม่ใช่เหตุอันสมควร ถือว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้เพราะมีงบประมาณจำกัดและไม่มีตำแหน่งงานให้โจทก์ ในข้อนี้จำเลยมิได้ให้การเป็นประเด็นไว้ในคำให้การ จึงเป็นเรื่องที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
ย่อยาว
คดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะประเด็นเรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ค่าชดเชยและค่าเสียหาย ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดไม่มีเหตุอันสมควรจึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ไม่มีเหตุที่จำเลยและโจทก์จะไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ พิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะเลิกจ้าง และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์แต่ละคนเท่ากับอัตราค่าจ้างและค่าครองชีพนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ ๑๔ ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ ๑๔ ไม่เป็นธรรม เป็นกรณีที่โจทก์ที่ ๑๔ ฟ้องจำเลยโดยอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒มาตรา ๔๙ ตามมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดหรือแบ่งแยกประเภทของลูกจ้างที่มีสิทธิฟ้องร้องไว้ ย่อมหมายถึงลูกจ้างทุกประเภทมีสิทธิฟ้องร้องนายจ้างได้ในกรณีที่ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ฉะนั้นไม่ว่าโจทก์ที่ ๑๔ จะเป็นลูกจ้างชั่วคราวรายวันหรือลูกจ้างประจำ โจทก์ที่ ๑๔ ก็ได้รับความคุ้มครองจากมาตรา ๔๙ เช่นเดียวกัน
การที่จำเลยตกลงรับโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยโจทก์ย่อมหวังที่จะเป็นลูกจ้างของจำเลยสืบไปโดยจะไม่ถูกเลิกจ้างโดยปราศจากเหตุอันสมควร ดังนั้น เพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ จึงบัญญัติให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างไว้ในมาตรา ๔๙ ว่ากรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่มีเหตุอันสมควรลูกจ้างมีสิทธิฟ้องร้องบังคับให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือใช้ค่าเสียหายได้การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยประสงค์เพียงจะรับทหารผ่านศึกซึ่งพิการทุพพลภาพและครอบครัวเข้าทำงานแทนนั้น จำเลยน่าจะได้ดำเนินการเสียก่อนรับโจทก์เข้าทำงาน เมื่อจำเลยรับโจทก์เข้าทำงานแล้วและไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กระทำผิดวินัยแต่ประการใด การที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ย่อมเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความกระทบกระเทือนต่อการประกอบอาชีพตามปกติจึงไม่ใช่เหตุอันสมควร ต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยมีงบประมาณจำนวนจำกัดและไม่มีตำแหน่งงานให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้วก็มิได้จ้างบุคคลอื่นเข้าทำงานแทน หากจะให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน จำเลยไม่สามารถที่จะปฏิบัติตามได้ เห็นว่าข้ออุทธรณ์ข้อนี้จำเลยมิได้ให้การเป็นประเด็นไว้ในคำให้การแต่อย่างใดจึงเป็นเรื่องที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
พิพากษายืน