คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5543/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจะตกเป็นโมฆะ จำเลยไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมที่จะต้องไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ แต่โจทก์ก็มีคำขอมาท้ายคำฟ้องด้วยว่า ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นคำขอที่ศาลอาจพิพากษาให้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของโจทก์ในการใช้สิทธิรับเงินค่าทดแทนที่ดินพิพาทซึ่งถูกเวนคืนจากทางราชการ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมดซึ่งเท่ากับให้ยกคำขอของโจทก์ในข้อนี้ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโดยมิได้แก้ไขให้ถูกต้องนั้น จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำพิพากษาแสดงว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เล่ม 18 หน้า 2 สารบบเล่ม 10 ตำบลปูโย๊ะ อำเภอสุไหงโก – ลก จังหวัดนราธิวาส ให้จำเลยจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อประมาณปี 2519 จำเลยได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพียงแต่จำเลยได้มอบการครอบครองที่ดินให้แก่โจทก์ และไม่ปรากฏว่าคู่สัญญาตกลงกันว่าจะไปทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองให้แก่กันในภายหลัง ดังนั้น การซื้อขายดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่โจทก์ก็ได้ครอบครองยึดถือที่ดินพิพาทหลังจากซื้อมาจากจำเลย โจทก์จึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทจากการโอนการครอบครองดังกล่าว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 และ 1378 ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาเห็นว่า แม้คดีนี้สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจะตกเป็นโมฆะ จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมที่จะต้องไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามคำขอของโจทก์ท้ายคำฟ้องดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยซึ่งชอบที่ศาลจะต้องพิพากษายกคำขอของโจทก์ที่ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ก็มีคำขอมาท้ายคำฟ้องด้วยว่า ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นคำขอที่ศาลอาจพิพากษาให้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของโจทก์ในการใช้สิทธิรับเงินค่าทดแทนที่ดินพิพาทซึ่งถูกเวนคืนจากทางราชการ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมดซึ่งเท่ากับให้ยกคำขอของโจทก์ในข้อนี้ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดยมิได้แก้ไขให้ถูกต้องนั้น จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ทะเบียนเล่ม 18 หน้า 2 สารบบเล่ม 10 ตำบลปูโย๊ะ อำเภอสุไหงโก – ลก จังหวัดนราธิวาส ในขณะที่ที่ดินแปลงนี้ถูกเวนคืน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share