คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3483/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินของโจทก์อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษ การที่จำเลยที่ 1 กำหนดค่าทดแทนราคาที่ดินของโจทก์ตามราคาปานกลางที่กรมที่ดินประเมินเพื่อให้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นการไม่ชอบเพราะประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ลงวันที่27 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 23 ระบุให้นำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยทางหลวงในส่วนที่ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงมาใช้บังคับโดยอนุโลมคือ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 76 ซึ่งให้กำหนดราคาค่าทดแทนทรัพย์สินเท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ
จำเลยที่ 1 นำเงินค่าทดแทนราคาทรัพย์สินของโจทก์ไปวางณ สำนักงานวางทรัพย์กลาง แต่ไม่ยอมให้โจทก์รับเงินทั้งหมดไปในคราวเดียว โดยกำหนดเงื่อนไขการจ่ายเงินไว้ อ้างว่ามีอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่28 พฤศจิกายน 2515 ไม่ได้ เพราะประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยทางพิเศษ ได้บัญญัติถึงอำนาจของเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ไว้โดยตรงแล้ว ไม่จำต้องนำประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยทางหลวงมาใช้บังคับโดยอนุโลม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 9445 แขวงทุ่งมหาเมฆเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 203 ตารางวาพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างรวม 3 หลังเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2517 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตพญาไท เขตปทุมวัน เขตพระโขนง และเขตยานนาวา กรุงเทพมหานครเพื่อสร้างทางพิเศษสายดินแดง-ท่าเรือ โดยกำหนดให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ดินโจทก์ดังกล่าวอยู่ในที่ที่จะเวนคืนด้วยจำนวน 198 ตารางวา จำเลยที่ 1 ได้กำหนดราคาที่ดินและทรัพย์สินของโจทก์ ที่ดินราคาตารางวาละ 8,000 บาท เป็นเงิน 1,584,000 บาท บ้านและสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ในที่ดินเป็นเงิน571,915 บาท 48 สตางค์ พืชผลไม้เป็นเงิน 5,477 บาท รวมเป็นค่าทดแทนทั้งสิ้น2,161,392 บาท 48 สตางค์ ซึ่งมิใช่ราคาทรัพย์สินที่ซื้อขายในท้องตลาดไม่ชอบด้วยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 76 โจทก์โต้แย้งว่า ค่าทดแทนที่ดินถูกเขตทางพิเศษ 198 ตารางวาเหลือเพียง 5 ตารางวา ใช้ทำประโยชน์ไม่ได้ ให้จำเลยทั้งสองรับเวนคืนไปทั้งหมด 203 ตารางวา ราคาตารางวาละ 15,000 บาท เป็นเงิน 3,045,000 บาท สิ่งก่อสร้างและพืชผลไม้ในที่ดินเป็นเงิน1,180,000 บาท รวมเป็นค่าทดแทน 4,225,000 บาท จำเลยที่ 2 แจ้งให้โจทก์รับเงินค่าทดแทนจำนวน 2,161,392 บาท 48 สตางค์ โจทก์ไม่ยอมรับ จำเลยที่ 2 นำเงินจำนวนดังกล่าวไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์กลาง กำหนดเงื่อนไขการจ่ายเงินโดยไม่ให้โจทก์รับเงินทั้งหมดได้ทันที โจทก์รับเงินค่าทดแทนได้เพียงบางส่วนเป็นเงิน1,083,434 บาท 74 สตางค์ โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ถอนเงื่อนไขการจ่ายเงิน จำเลยที่ 2เพิกเฉย ต่อมาจำเลยที่ 2 ยอมให้โจทก์รับเงินที่เหลือไปได้ การที่จำเลยที่ 2 กำหนดเงื่อนไขการจ่ายเงินโดยไม่มีอำนาจทำให้โจทก์เสียหาย เพราะรับเงินค่าทดแทนทั้งหมดไม่ได้คิดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยของจำนวนเงินที่เหลือขณะรับไปไม่ได้ 1,077,957 บาท74 สตางค์นับแต่วันวางเงินถึงวันที่โจทก์รับเงินดังกล่าวได้ เป็นเงิน 43,792 บาท02 สตางค์ โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทน รวมค่าทดแทนราคาที่ดินอีก 5 ตารางวา ซึ่งจำเลยนำไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์กลางภายหลังจำนวน 40,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น2,201,392 บาท 48 สตางค์ ยังขาดเงินที่โจทก์ควรจะได้อีก 2,023,607 บาท 52 สตางค์กับค่าเสียหายจำนวน 43,792 บาท 02 สตางค์ รวมเป็นเงิน 2,067,399 บาท 54 สตางค์ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า ที่ดินโจทก์ที่ถูกเขตทางพิเศษ 198 ตารางวา ราคาตารางวาละ 8,000 บาท เป็นเงิน 1,584,000 บาท สิ่งก่อสร้างในที่ดินและพืชผลไม้เป็นเงิน 5,437 บาท ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้คิดคำนวณตามราคาที่ซื้อขายในท้องตลาด ณ วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินบริเวณที่ที่จะเวนคืนประกาศใช้บังคับ ทั้งนี้ตามนัยแห่งประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 76 เจ้าของทรัพย์สินอื่นในบริเวณเดียวกับโจทก์ส่วนใหญ่พอใจตกลงกับจำเลยที่ 1 ในอัตราดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่ตกลง จำเลยที่ 1 ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์กลาง โจทก์รับไปครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขการวางเงิน เนื่องจากที่ดินโจทก์ไม่ถูกเวนคืนทั้งโฉนด จะคำนวณค่าทดแทนได้ก็ต่อเมื่อรังวัดแบ่งแยกเสร็จ จำเลยที่ 1 คำนวณค่าทดแทนสำหรับสิ่งก่อสร้างโดยรวมค่ารื้อถอนขนย้ายไว้ด้วย หากโจทก์รับเงินแล้วไม่รื้อถอน จำเลยที่ 1ต้องรื้อถอนเอง จึงต้องกำหนดเงื่อนไขให้โจทก์รับเงินไปครึ่งหนึ่งก่อน ส่วนที่เหลือให้ได้เมื่อรื้อถอน จำเลยที่ 1 มีอำนาจครอบครอง ใช้รื้อถอนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยไม่ต้องนำเงินค่าทดแทนไปวางโจทก์ไม่มีสิทธิคิดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยจำนวนเงิน43,792 บาท 02 สตางค์ จำเลยที่ 2 กระทำการตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริตและเป็นธรรมโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดเป็นส่วนตัวไม่ได้ โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2ปฏิบัตินอกเหนือหรือผิดจากหน้าที่ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 เคลือบคลุม

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ให้ค่าทดแทนราคาที่ดินต่ำไป การที่จำเลยกำหนดเงื่อนไขการรับเงินค่าทดแทนเป็นการละเมิด พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินโจทก์ 447,530 บาท 90 สตางค์ พร้อมดอกเบี้ย ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ใช้ค่าเสียหาย 41,530 บาท 90 สตางค์ พร้อมดอกเบี้ย

โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้าง (เพิ่มขึ้นอีก) จำนวน 165,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2

โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1 กำหนดค่าทดแทนราคาที่ดินที่ถูกเวนคืนของโจทก์ตามราคาปานกลางที่กรมที่ดินประเมินเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นการไม่ชอบ เพราะประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 23 ระบุให้นำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยทางหลวงในส่วนที่ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงมาใช้บังคับโดยอนุโลม คือประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 76 ซึ่งได้กำหนดราคาค่าทดแทนทรัพย์สินเท่าราคาทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาด ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ ที่ดินข้างเคียงกับที่ดินที่ถูกเวนคืนของโจทก์ราคาตารางวาละ 12,000 บาท เป็นราคาซื้อขายใกล้เคียงกับวันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ แต่ที่ดินดังกล่าวอยู่ในทำเลที่ดีกว่าที่ดินของโจทก์การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทนราคาที่ดินของโจทก์ตารางวาละ 10,000 บาทจึงเหมาะสมและชอบธรรมแล้วส่วนเงินค่าทดแทนราคาตึก 2 ชั้นของโจทก์ ปรากฏว่าสิ่งปลูกสร้างของผู้อื่นที่ถูกเวนคืนและอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับที่ดินโจทก์ แต่เล็กกว่าตึกของโจทก์ ได้รับเงินค่าทดแทนมากกว่านั้น เป็นตึกที่มั่นคง ลงทุนในการก่อสร้างมากกว่า และใหม่กว่าตึกโจทก์ ค่าทดแทนที่จำเลยที่ 1 กำหนดจึงชอบธรรมและเหมาะสมแล้ว การที่จำเลยที่ 1 นำเงินค่าทดแทนราคาทรัพย์สินของโจทก์ไปวางณ สำนักงานวางทรัพย์กลางแต่ไม่ยอมให้โจทก์รับเงินไปทั้งหมดในคราวเดียวกันโดยกำหนดเงื่อนไขการรับเงินไว้ว่าโจทก์จะมีสิทธิรับเงินที่เหลือได้ต่อเมื่อรังวัดแบ่งแยกโฉนด และคำนวณค่าทดแทนให้แน่นอนก่อน โดยอ้างว่ามีอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 เป็นการไม่ชอบ เพราะประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515 ได้บัญญัติถึงอำนาจของเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยทางพิเศษโดยตรงแล้ว สำหรับดอกเบี้ยค่าทดแทนที่ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเพิ่มแก่โจทก์โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2518 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับตามความในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 24และข้อ 26 แต่ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2522 ซึ่งเป็นวันฟ้อง ศาลจึงพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ที่คิดว่าจะเวนคืนใช้บังคับไม่ได้ เพราะเป็นการเกินคำขอ

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องใช้เงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างจำนวน165,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share