คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4949/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนในข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย และยินยอมให้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับ ผลของการเปรียบเทียบปรับดังกล่าวไม่ใช่คำพิพากษาในส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ดังนั้นการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจึงไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามดังที่บัญญัติไว้ในบทมาตราดังกล่าว และจำเลยอาจนำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่นได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์ยี่ห้อซีตรองหมายเลขทะเบียน 8 ก – 3438 กรุงเทพมหานคร และได้ประกันภัยไว้กับโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับขี่รถยนต์หมายเลขทะเบียน น – 0513 ระยอง ไปในทางการที่จ้างหรือตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์ดังกล่าว จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวในลักษณะประกันภัยค้ำจุน เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2522 จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น – 0513 ระยอง มาตามถนนสุขุมวิท จากอำเภอแหลมสิงห์ มุ่งหน้าไปจังหวัดจันทบุรี ครั้นมาถึงที่เกิดเหตุบริเวณถนนสุขุมวิท หมู่ที่ 3 ตำบลคมบาง อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง กล่าวคือขับรถด้วยความเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดและแซงรถคันอื่นล้ำเส้นกึ่งกลางถนนไปทางขวาขณะที่โจทก์ที่ 1 ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8 ก -3438 สวนกับรถจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้รถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับพุ่งเข้าเฉี่ยวชนรถยนต์คันที่โจทก์ขับได้รับความเสียหายบริเวณหน้ารถด้านขวาจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดและยอมให้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย โจทก์ที่ 2ชดใช้ตามสัญญาประกันภัยเป็นเงิน 67,000 บาท ให้โจทก์ที่ 1 ไปซ่อมเอง และเสียค่าลากจากที่เกิดเหตุมายังกรุงเทพมหานครเป็นเงิน 2,500 บาท รวมโจทก์ที่ 2 จ่ายเงิน 45,000 บาท โจทก์ที่ 2จึงรับช่วงสิทธิโจทก์ที่ 1 ฟ้องคดีนี้ โจทก์ที่ 1 เสียค่าซ่อมเพิ่มเติมจากที่ได้รับจากโจทก์ที่ 2 อีกเป็นเงิน 80,767 บาท โจทก์ที่ 1 คิดค่าเสื่อมราคาเป็นเงิน 40,000 บาท ค่าขาดประโยชน์ที่ไม่ได้ใช้รถระหว่างซ่อมเป็นเงินราคา 45,000 บาท รวมค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 150,767บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองรวมกันเป็นเงิน 220,267 บาท พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสามให้การว่า เหตุที่เกิดเพราะโจทก์ที่ 1 ขับรถยนต์ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังด้วยความเร็วสูงประกอบกับฝนตกถนนลื่นรถแฉลบเข้าไปชนรถของจำเลยที่ 2 ที่แล่นสวนทางมาในช่องทางเดินรถของจำเลย เหตุที่จำเลยที่ 1 ถูกเปรียบเทียบปรับเพราะพนักงานสอบสวนพยายามจะเอาผิดกับจำเลยและหลอกให้ลงนามโดยไม่ได้กระทำผิด จำเลยที่ 2 นำรถยนต์หมายเลขทะเบียนน – 0513 ระยอง มาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 ทุนประกันเป็นเงิน 50,000 บาท จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรก 500 บาท ตามกรมธรรม์ประกันภัย เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 3 ก็ไม่ต้องรับผิดด้วย ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมากเกินควร ขอให้ยกฟ้อง

โจทก์ที่ 1 ขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสาม ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน69,500 บาท พร้อมดอกเบี้ย ทั้งนี้ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในต้นเงิน45,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า แม้คดีนี้จะปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ยอมให้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 400 บาท ก็มีผลเป็นเพียงทำให้คดีอาญาในส่วนที่จำเลยที่ 1 ยอมเสียค่าปรับแล้วเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 37 เท่านั้น แต่ผลของการเปรียบเทียบปรับดังกล่าว ไม่ใช่คำพิพากษาในส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 46 อันจะทำให้คดีในส่วนแพ่งจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามดังที่บัญญัติไว้ในบทมาตราดังกล่าว คำรับของจำเลยที่ 1 ต่อพนักงานสอบสวนและผลของการเปรียบเทียบปรับหามีผลทำให้คดีนี้จำต้องถือข้อเท็จจริงตาม

พิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์ที่ 2

Share