คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11974/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แต่ผู้อำนวยการโรงเรียนได้มอบหมายให้จำเลยทำการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ ภาษาไทย ศิลปะ และการงานอาชีพหรือเกษตรกรรมในชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ผู้เสียหายเรียนอยู่ด้วย จำเลยจึงมีหน้าที่อบรมสั่งสอนว่ากล่าวตักเตือนผู้เสียหายหรือนักเรียนร่วมชั้นให้อยู่ในระเบียบของทางราชการ ฐานะของผู้เสียหายจึงเป็นศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 285
การกระทำชำเราโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำด้วย แต่โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดฐานกระทำชำเราเพียงว่าจำเลยใช้นิ้วมือของจำเลยแหย่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหาย ซึ่งมิใช่การกระทำเพื่อสนองความใคร่โดยปกติทั่วไป เมื่อฟ้องโจทก์มิได้กล่าวว่าจำเลยกระทำโดยมีเจตนาสนองความใคร่ของจำเลยด้วย ฟ้องโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 279, 285 นับโทษจำเลยติดต่อกับโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 705/2551 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
คดีส่วนแพ่งผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย ขอเรียกค่าเสียหายทางด้านจิตใจ 20,000 บาท ความเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติยศของวงศ์ตระกูลและครอบครัว 10,000 บาท ค่าเสียหายอันมิใช่ตัวเงิน 20,000 บาท รวมเป็นค่าสินไหมทดแทน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การคดีส่วนแพ่ง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 285 จำคุก 10 ปี และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า วันเกิดเหตุจำเลยเรียกผู้เสียหายมานั่งเรียนที่โต๊ะทำงานคอมพิวเตอร์ จำเลยได้นั่งซ้อนหลังผู้เสียหาย จากนั้นจำเลยใช้มือลูบคลำและใช้นิ้วมือแหย่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหาย ที่จำเลยนำสืบและฎีกาว่าจำเลยมีปัญหาด้านสุขภาพเคยประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนได้รับบาดเจ็บที่หัวเข่าไม่สามารถใช้งานได้เหมือนปกติ แม้จำเลยจะมีพยานบุคคลมาเบิกความสนับสนุนแต่จำเลยไม่นำแพทย์มาเบิกความยืนยันอาการเจ็บป่วยของจำเลยว่าเป็นเช่นไร พยานจำเลยที่นำสืบมายังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายเรียนหนังสืออยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ส่วนจำเลยเป็นครูอยู่โรงเรียนเดียวกัน แม้จำเลยจะเป็นครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แต่ผู้อำนวยการโรงเรียนได้มอบหมายให้จำเลยทำการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ ภาษาไทย ศิลปะ และการงานอาชีพหรือเกษตรกรรมในชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ผู้เสียหายเรียนอยู่ด้วย จำเลยจึงมีหน้าที่อบรมสั่งสอนว่ากล่าวตักเตือนผู้เสียหายหรือนักเรียนร่วมชั้นให้อยู่ในระเบียบของทางราชการ ฐานะของผู้เสียหายจึงเป็นศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยตามความหมายของมาตรา 285 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แต่ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนและเป็นศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลนั้น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง บัญญัติว่า “การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่าการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำ กระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น” จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว เห็นได้ว่า การกระทำชำเรา ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำด้วย เช่นนี้ การกระทำโดยมีเจตนาเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิดดังกล่าว แต่โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดฐานกระทำชำเราเพียงว่า จำเลยใช้นิ้วมือของจำเลยแหย่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหาย ซึ่งมิใช่การกระทำเพื่อสนองความใคร่โดยปกติทั่วไป เมื่อฟ้องโจทก์มิได้กล่าวว่าจำเลยกระทำโดยมีเจตนาสนองความใคร่ของจำเลยด้วย ฟ้องโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 285 จึงไม่ชอบ การกระทำของจำเลยที่ฟ้องและพิจารณาได้ความคงเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีและเป็นศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลโดยใช้กำลังประทุษร้ายและโดยเด็กนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง ประกอบมาตรา 285 เท่านั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เสียหายเรียกร้องจำนวน 50,000 บาท เป็นการเรียกที่สูงเกินความจริงนั้น เห็นว่า สิทธิในการฎีกาในคดีส่วนแพ่งนั้น ต้องพิจารณาจากทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกา เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องเป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยฎีกาว่าค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว สูงเกินความจริง เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง ประกอบมาตรา 285 จำคุก 2 ปี ยกฟ้องข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 285 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share