แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้สั่งจ่ายขออายัดเช็คหมาย จ.3 หลังจากธนาคารจำเลยที่ 2 ทำการหักโอนเงินจากบัญชีของผู้สั่งจ่ายเข้าบัญชีของโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว อันถือได้ว่ามีการจ่ายเงินตามเช็คนั้นแล้ว ธนาคารจำเลยที่ 2 จึงไม่สมควรรับการอายัดของผู้สั่งจ่าย เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการธนาคารจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 รับการอายัดของผู้สั่งจ่าย แล้วโอนเงินจากบัญชีของโจทก์กลับคืนไปยังบัญชีของผู้สั่งจ่ายย่อมเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย
ประมวลระเบียบปฏิบัติงานธนาคารจำเลยที่ 2 เป็นระเบียบภายในของธนาคารจำเลย ใช้ยันบุคคลภายนอกไม่ได้ ส่วนกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 992 เป็นเรื่องที่ธนาคารยังมิได้มีการใช้เงินตามเช็คหรือหักโอนบัญชีตามเช็คจึงใช้บังคับกับคดีนี้ไม่ได้ ทั้งกรณีตามคดีนี้ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งมาตรา 991 ด้วย และเมื่อโจทก์ไม่ได้รับเงินตามเช็คหมาย จ.3 แม้ผู้สั่งจ่ายได้ออกเช็คหมาย จ.19 ให้โจทก์อีกแต่ก็ปรากฏว่าเรียกเก็บเงินตามเช็คหมาย จ.19 ไม่ได้ โจทก์ย่อมเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดกรณีตามเช็คหมาย จ.3 ได้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ยอมให้ผู้สั่งจ่ายแลกเปลี่ยนเช็คจากเช็คหมายจ.3 มาเป็นเช็คหมาย จ.19 แล้ว
โจทก์ทราบดีว่าได้จ่ายเงินเกินยอดเงินตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีหรือบัญชีของโจทก์ไม่มีเงินพอจ่ายแล้วแต่โจทก์ก็ยังสั่งจ่ายเช็คอีก เมื่อธนาคารจำเลยที่ 2 ปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะยอดเงินตามบัญชีของโจทก์สูงเกินวงเงินเบิกเกินบัญชีตามสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจากจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างและผู้จัดการธนาคารสาขาจำเลยที่ ๒ซึ่งโจทก์ได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้ เมื่อกลางเดือนมกราคม ๒๕๒๓ร้านพิพัฒน์การยนต์มอบเช็คชำระหนี้จำนวนเงิน ๗๑,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ เช็คดังกล่าวลงวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๒๓ สั่งจ่ายเงินจำนวน ๑๔๔,๓๔๗ บาท หากขึ้นเงินได้โจทก์ต้องคืนเงินจำนวนที่เหลือแก่ร้านพิพัฒนาการยนต์ ขณะรับเช็คจำเลยที่ ๑ ยืนยันต่อโจทก์ว่าผู้สั่งจ่ายเช็คดังกล่าวมีเงินในบัญชีพอจ่าย โจทก์จึงได้รับเช็คไว้ชำระหนี้ครั้นถึงวันครบกำหนด เวลาประมาณ ๙ นาฬิกา โจทก์นำเช็คดังกล่าวเข้าบัญชีที่ธนาคารจำเลยที่ ๒ และธนาคารจำเลยที่ ๒ แจ้งแก่โจทก์ว่าได้จัดการโอนเงินเข้าบัญชีโจทก์เรียบร้อยแล้ว โจทก์จึงได้จ่ายเงินที่เหลือจำนวน ๗๓,๓๔๗ บาท ให้แก่ร้านพิพัฒน์การยนต์ไป ต่อมาในวันเดียวกันนั้น เวลาประมาณ ๑๑.๓๐ นาฬิกาจำเลยที่ ๑ แจ้งแก่โจทก์ว่าเช็คดังกล่าวผู้สั่งจ่ายขออายัดอ้างว่าออกเช็คซ้ำกัน โจทก์โต้แย้งว่าจำเลยไม่มีสิทธิรับอายัด จำเลยที่ ๑ ไม่ฟังได้ตัดบัญชีเงินฝากของโจทก์จำนวน ๑๔๔,๓๔๗ บาทออกจากบัญชี เป็นการกระทำการโดยมิชอบด้วยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายจนบัดนี้ก็ยังมิได้คืนเช็คดังกล่าวให้โจทก์ แสดงว่าจำเลยที่ ๑ สมคบกับผู้สั่งจ่ายเบียดบังเอาเงินโจทก์โดยทุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๖,๔๗๗ บาท รวมเป็นเงิน ๑๕๐,๘๒๔ บาท และโจทก์ได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารจำเลยที่ ๒ รวม ๔ ฉบับ ปรากฏว่าธนาคารจำเลยที่ ๒ ปฏิเสธการจ่ายเงินทุกฉบับ ทั้งนี้เนื่องมาจากจำเลยที่ ๑ ตัดยอดบัญชีจำนวน ๑๔๔,๓๔๗ บาท ทำให้เงินในบัญชีโจทก์ไม่พอจ่าย เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายในการประกอบธุรกิจการค้า ขอคิดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าเสียหายดังกล่าวแล้วพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่เคยติดต่อสอบถามจำเลยที่ ๑ ว่าผู้สั่งจ่ายเช็คมีฐานะเป็นอย่างไร โจทก์และร้านพิพัฒน์การยนต์สมคบกันฉ้อฉลผู้สั่งจ่าย โจทก์จึงมิใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบตามกฎหมาย จำเลยที่ ๑ หรือเจ้าหน้าที่ธนาคารจำเลยที่ ๒ไม่เคยยืนยันต่อโจทก์ว่าได้จัดการโอนเงินเข้าบัญชีโจทก์ดังที่โจทก์อ้าง เมื่อจำเลยที่ ๑เห็นว่าบัญชีผู้สั่งจ่ายมีเงินพอจ่าย จึงให้เจ้าหน้าที่หักโอนเงินจากบัญชีผู้สั่งจ่ายเข้าบัญชีโจทก์ ขณะที่เจ้าหน้าที่หักโอนอยู่นั้น ผู้สั่งจ่ายได้มีคำบอกกล่าวห้ามการใช้เงินตามเช็คจำเลยที่ ๒ จึงหมดอำนาจหน้าที่ที่จะใช้เงินตามเช็ค เมื่อเจ้าหน้าที่เริ่มลงมือหักโอนจะหยุดก็ไม่ได้ จำเลยที่ ๑ จึงสั่งเจ้าหน้าที่ทำการหักโอนไปให้เสร็จแล้วหักโอนกลับเพื่อให้บัญชีทั้งสองอยู่ในสภาพเดิม ซึ่งมีผลเป็นการไม่ใช้เงินตามเช็คเพราะมีคำบอกห้ามการใช้เงิน จำเลยที่ ๑ แจ้งให้โจทก์ทราบและสั่งให้เจ้าหน้าที่คืนเช็คแก่โจทก์ โจทก์ทราบแล้วไม่คัดค้านและว่าจะไปติดต่อกับผู้สั่งจ่ายและจะมารับเช็คคืนเอง จำเลยที่ ๑จึงให้เจ้าหน้าที่งดการส่งเช็คคืนอันเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ได้สมคบกับผู้สั่งจ่ายเบียดบังเอาเงินโจทก์ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ โจทก์ได้นำเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาพระประแดง ลงวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓สั่งจ่ายเงินจำนวน ๑๔๔,๓๔๗ บาท โดยผู้สั่งจ่ายคนเดิมมาเข้าบัญชีโจทก์ ในวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่จำเลยได้นำเช็คและใบคืนเช็คฉบับที่ถูกห้ามการใช้เงินคืนโจทก์ แต่โจทก์บอกว่าผู้สั่งจ่ายได้ออกเช็คฉบับที่นำมาเข้าบัญชีแก่โจทก์แทนฉบับที่ถูกห้ามการใช้เงินและให้จำเลยที่ ๑ คืนเช็คฉบับที่ถูกห้ามการใช้เงินแก่ผู้สั่งจ่ายด้วย ครั้นถึงวันที่๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ ธนาคารจำเลยที่ ๒ ส่งเช็คไปเรียกเก็บเงินรวม ๓ ครั้ง แต่ละครั้งได้รับการปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ได้รับเช็คและใบคืนเช็คไปจากจำเลยที่ ๑ แล้วส่วนที่ธนาคารจำเลยที่ ๒ ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คของโจทก์ทั้งสี่ฉบับเพราะโจทก์เป็นหนี้เกินวงเงินตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี เงินในบัญชีโจทก์จึงไม่พอจ่าย การปฏิเสธการจ่ายเงินของจำเลยเป็นการชอบด้วยอำนาจหน้าที่โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและดอกเบี้ย หากจะเสียหายก็ไม่ถึงตามฟ้อง โจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ก่อนฟ้องไม่เคยทวงถามหรือบอกกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน ๑๕๐,๘๒๔ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบแปดต่อปีของเงิน ๑๔๔,๓๔๗ บาท ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เช็คหมาย จ.๓ เป็นเช็คสั่งจ่ายแก่ผู้ถือพยานโจทก์เบิกความต้องกันว่า นายพิภพหรือพิพัฒน์ได้รับเช็คหมาย จ.๓ มาจากบริษัทเมืองสมุทรพันธุ์ปลาอาหารปลา จำกัด เป็นการชำระหนี้ แล้วนายพิพัฒน์นำเช็คหมาย จ.๓ มาชำระหนี้ค่าน้ำมันเครื่องที่ซื้อไปจากโจทก์เป็นเงิน ๗๑,๐๐๐ บาท จำเลยมิได้นำสืบว่าโจทก์ได้รับเช็คหมาย จ.๓ มาจากนายพิภพโดยปราศจากมูลหนี้ ฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คหมาย จ.๓ โดยชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาต่อไปมีว่าจำเลยทั้งสองตัดยอดเงินตามเช็คหมาย จ.๓ จำนวน ๑๔๔,๓๔๗ บาท ออกจากบัญชีเงินฝากของโจทก์เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าเจ้าหน้าที่ธนาคารจำเลยที่ ๒ ได้ทำการหักโอนเงินตามบัญชีของบริษัทเมืองสมุทรพันธุ์ปลา อาหารปลา จำกัด เข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว จากนั้นจึงมีการตัดยอดเงิน ๑๔๔,๓๔๗ บาทจากบัญชีโจทก์กลับคืนไปยังบัญชีบริษัทดังกล่าวอีก ที่จำเลยนำสืบว่ากำลังอยู่ระหว่างหักโอนบัญชี บริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายได้โทรศัพท์ขออายัดเช็คหมาย จ.๓ โดยแจ้งว่าออกเช็คซ้ำนั้น ขัดต่อเอกสารหมาย จ.๔ และ จ.๕ ฟังไม่ได้ว่าขณะที่ผู้สั่งจ่ายเช็คหมายจ.๓ ขออายัดเช็คนั้นธนาคารจำเลยที่ ๒ อยู่ระหว่างหักโอนบัญชี โดยกำลังโอนเงินจากบัญชีผู้สั่งจ่ายเข้าบัญชีโจทก์ เมื่อธนาคารจำเลยที่ ๒ ได้ทำการหักโอนทางบัญชีเสร็จสิ้นแล้วเช่นนี้ ถือได้ว่าได้มีการจ่ายเงินตามเช็คหมาย จ.๓ แล้วทำนองเดียวกับโจทก์นำเช็คหมาย จ.๓ ไปขอรับเงินสดและธนาคารจำเลยที่ ๒ ได้จ่ายเงินสดตามเช็คหมายจ.๓ แล้ว เมื่อผู้สั่งจ่ายขออายัดเช็คหมาย จ.๓ หลังจากที่ธนาคารจำเลยที่ ๒ ทำการหักโอนทางบัญชีดังกล่าวแล้ว ธนาคารจำเลยที่ ๒ จึงไม่สมควรรับการอายัดของผู้สั่งจ่าย การที่จำเลยที่ ๑ และธนาคารจำเลยที่ ๒ รับอายัดของผู้สั่งจ่ายแล้วโอนเงินจากบัญชีโจทก์กลับคืนไปยังบัญชีผู้สั่งจ่ายย่อมเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย เป็นผลให้โจทก์ไม่ได้รับเงินตามเช็คหมาย จ.๓ ธนาคารจำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดชำระเงิน๑๔๔,๓๔๗ บาทแก่โจทก์ ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่ารับอายัดของผู้สั่งจ่ายไว้ชอบด้วยประมวลระเบียบปฏิบัติงานธนาคารจำเลยและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๘๕๗, ๙๙๑ และ ๙๙๒ นั้น เห็นว่าระเบียบดังกล่าวเป็นระเบียบภายในของธนาคารจำเลย ใช้ยันบุคคลภายนอกไม่ได้ ทั้งตามระเบียบดังกล่าวก็ไม่ได้ระบุถึงการรับอายัดกรณีที่มีการหักโอนเงินทางบัญชีเสร็จสิ้นแล้ว และกรณีตามคดีนี้ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๙๑ ส่วนมาตรา ๙๙๒ต้องเป็นเรื่องที่ธนาคารยังมิได้มีการใช้เงินตามเช็คหรือหักโอนบัญชีตามเช็ค จึงใช้บังคับกับคดีนี้ไม่ได้ สำหรับมาตรา ๘๕๗ นั้น จำเลยทั้งสองมิได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จึงเป็นข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และมิใช่ข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ จึงไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าบริษัทผู้สั่งจ่ายเช็คหมาย จ.๓ ได้สั่งจ่ายเช็คหมาย จ.๑๙ลงวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ จำนวนเงิน ๑๔๔,๓๔๗ บาท ให้แก่โจทก์แล้ว และโจทก์ได้นำเช็คหมาย จ.๑๙ เข้าบัญชีโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงิน แต่เรียกเก็บไม่ได้ จำเลยทั้งสองจึงคืนเช็คหมาย จ.๑๙ ให้โจทก์รับไปแล้ว ขณะฟ้องคดีโจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คหมายจ.๑๙ มิใช่เช็คหมาย จ.๓ เพราะได้มีการแลกเปลี่ยนเช็คแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่าเมื่อโจทก์ไม่ได้รับเงินตามเช็คหมาย จ.๓ อันแสดงว่าหนี้ตามเช็คหมาย จ.๓ยังไม่ยุติ และผู้สั่งจ่ายได้ออกเช็คหมาย จ.๑๙ มาให้โจทก์ โจทก์ย่อมหวังว่าจะได้รับเงินตามเช็คหมาย จ.๑๙ จึงมอบให้จำเลยที่ ๑ เรียกเก็บเงิน หากเรียกเก็บได้กรณีตามเช็คหมาย จ.๓ ย่อมยุติเมื่อปรากฏว่าเรียกเก็บเงินไมได้โจทก์ย่อมดำเนินการเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดกรณีตามเช็คหมาย จ.๓ ได้ จะถือว่าโจทก์ยอมรับแลกเปลี่ยนเช็คยังไม่ถนัด
ปัญหาข้อสุดท้ายว่าจำเลยทั้งสองจะต้องชำระค่าเสียหายให้โจทก์หรือไม่เพียงใดเห็นว่าโจทก์ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารจำเลยที่ ๒ อัตราดอกเบี้ยร้อยละสิบแปดต่อปี ดังนั้นการที่จำเลยทั้งสองตัดยอดเงิน ๑๔๔,๓๔๗ บาท ออกจากบัญชีโจทก์โดยมิชอบ จึงต้องรับผิดชอบชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบแปดต่อปีในต้นเงินดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ส่วนค่าเสียหายจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาทที่โจทก์เรียกร้องเนื่องจากโจทก์สั่งจ่ายเช็ครวม ๔ ฉบับ แล้วธนาคารจำเลยที่ ๒ ปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะยอดเงินตามบัญชีโจทก์สูงกว่าวงเงินเบิกเกินบัญชีตามสัญญานั้น เห็นว่าโจทก์ยอมรับว่าได้ทราบจากจำเลยที่ ๑ ว่าได้รับอายัดเช็คหมาย จ.๓ ในวันที่๓๐ มกราคม ๒๕๒๓ ต่อมาปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ จึงทราบตามใบแจ้งหนี้ว่าธนาคารจำเลยที่ ๒ ได้ตัดยอดเงิน ๑๔๔,๓๔๗ บาทออกจากบัญชีโจทก์ แสดงว่าโจทก์ทราบดีว่าโจทก์ได้จ่ายเงินเกินยอดเงินตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีหรือบัญชีโจทก์มีเงินไม่พอจ่ายแล้ว ดังนั้นที่โจทก์สั่งจ่ายเช็ครวม ๔ ฉบับ ทั้ง ๆ ที่ทราบดีว่าบัญชีโจทก์ไม่มีเงินเช่นนี้ จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจำนวนนี้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหาย ๓๐,๐๐๐ บาทแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์