คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3250/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เงินทดแทนที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นายจ้างของจำเลยจะต้องจ่ายเนื่องจากการเสียชีวิตของจำเลย ไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดีตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องคุ้มครองแรงงานข้อ 62 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103ถึงแม้ว่าศาลจะมีคำสั่งอายัดเงินทดแทนนั้น ไปยังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแล้วก็ตาม โจทก์ก็ไม่มีสิทธิขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีในเงินทดแทนดังกล่าวได้

ย่อยาว

สืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่บังคับให้จำเลยใช้เงินจำนวน 61,625 บาท และค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ ต่อมาจำเลยผิดนัดไม่ชำระ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดเงินทดแทนของจำเลยที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยนายจ้างของจำเลยจะต้องจ่ายให้เนื่องจากการเสียชีวิตของจำเลยตามคำขอของโจทก์และให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยส่งเงินดังกล่าวให้ศาลชั้นต้นภายใน 7 วัน นับแต่วันที่จำเลยมีสิทธิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยรับคำสั่งอายัดในวันที่ 11 กรกฎาคม 2533 และมีหนังสือฉบับลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2534 ปฏิเสธว่าจำเลยไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน เนื่องจากไม่ได้เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ ต่อมาผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยตอบคำซักถามของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2534 ว่า เหตุที่ไม่ส่งเงินทดแทนของจำเลยให้ศาลชั้นต้นตามหนังสือของเจ้าพนักงานบังคับคดี เพราะจ่ายให้ทายาทของจำเลยไปก่อนรับหนังสือแล้ว โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ศาลชั้นต้นสั่งว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก็จ่ายเงินให้แก่ทายาทก่อนที่จะได้รับหมายอายัดของศาล โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะขอออกหมายบังคับคดี ยกคำขอ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามข้อเท็จจริงที่รับกัน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีหน้าที่จ่ายเงินทดแทนแก่ทายาทของจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างเฉพาะกรณีที่จำเลยเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่เท่านั้นเงินทดแทนจึงไม่ใช่สิทธิเรียกร้องของจำเลยซึ่งมีต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก่อนจำเลยเสียชีวิต คดีนี้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏแจ้งชัดว่า จำเลยเสียชีวิตหรือถึงแก่ความตายแล้วการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินทดแทนแก่จำเลยหรือทายาทของจำเลยนอกจากนี้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 62ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ก็กำหนดว่า เงินทดแทนไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอายัดเงินทดแทนของจำเลยไปยังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีหนังสือโต้แย้งคำสั่งอายัดจนกระทั่งศาลได้มีการนัดพร้อมและสอบถามข้อเท็จจริงจากโจทก์และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยอ้างว่าได้จ่ายเงินทดแทนให้ทายาทของจำเลยไปก่อนแล้วก็ตาม โจทก์ก็ไม่มีสิทธิขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีในเงินทดแทนดังกล่าว ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286 วรรคแรก ประกอบด้วยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 และประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 62 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำขอออกหมายบังคับคดีของโจทก์ และศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share