คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3965/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานโดยให้โจทก์ทดลองปฏิบัติงานเป็นเวลา 180 วัน ต่อมาจำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์เพราะผลของการ ทดลองงาน ไม่เป็นที่พอใจจำเลย โดยให้การเลิกจ้างมีผลเมื่อพ้นกำหนดเวลาทดลอง ปฏิบัติงาน 180 วันไป 2 วัน แม้จะเพื่อประโยชน์หรือให้เป็นผลดีแก่ลูกจ้าง เพียงใดก็ถือไม่ได้ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในขณะที่ยังอยู่ในระยะเวลาทดลอง ปฏิบัติงาน กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯข้อ 46 วรรคท้ายแต่เมื่อจำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากผลของการทดลองงานไม่เป็นที่พอใจ และจำเลยได้บอกเลิกจ้างภายในกำหนดระยะเวลาทดลองงานโดยได้แจ้ง เป็นหนังสือให้โจทก์ทราบล่วงหน้าแล้ว แม้จะให้มีผลเลิกจ้างเมื่อพ้น กำหนดระยะเวลาทดลองงานไปแล้ว ก็ไม่อยู่ในบังคับแห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 จำเลยจึงไม่ต้อง บอกกล่าวล่วงหน้าซ้ำอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำโดยให้ทดลองงานมีกำหนด180 วัน ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด และไม่บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าโดยให้เหตุผลว่าไม่ผ่านการทดลองงาน ขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหาย

จำเลยให้การว่า จำเลยเคยแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 ครั้งว่าไม่สามารถจ้างเกินกำหนดเวลาทดลองงานได้ ครั้งสุดท้ายได้แจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2528 ว่าจะเลิกจ้างในสัปดาห์ถัดไป คือวันที่ 13 กันยายน2528 อันเป็นวันจะครบกำหนดการทดลองปฏิบัติงาน 180 วัน ถือได้ว่าจำเลยได้แจ้งเลิกจ้างให้โจทก์ทราบล่วงหน้าถูกต้องแล้ว การที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างให้มีผลในวันที่ 15 กันยายน 2528 อันเป็นวันอาทิตย์ก็เพื่อให้โจทก์ได้เงินเดือนเต็มครึ่งเดือนน มิได้เปลี่ยนเจตนาการเลิกจ้างโจทก์ในวันสุดท้ายของการทดลองงานแต่อย่างใด จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2528 โดยให้ทดลองปฏิบัติงานมีกำหนด 180 วัน ก่อนครบกำหนดระยะเวลาทดลองปฏิบัติงานคือเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2528 จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน2528 จึงเป็นระยะเวลาที่โจทก์ให้มีผลในวันที่ 15 กันยายน 2528 เกินกำหนดทดลองปฏิบัติงาน 180 วันไป 2 วัน จำเลยจึงต้องรับผิดชอบจ่ายเงินตามฟ้องให้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทดลองปฏิบัติงานนั้นเป็นกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างเข้าทำงานเพื่อทดสอบความรู้ความสามารถและผลงานก่อน หากผลของการทดลองปฏิบัติงานเป็นที่พอใจของนายจ้าง นายจ้างก็จะรับเข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำ หากผลงานไม่เป็นที่พอใจ นายจ้างก็จะเลิกจ้างลูกจ้าง ข้อตกลงแห่งสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นไปตามนัยดังกล่าวดังนั้นเมื่อปรากฏว่าผลงานของโจทก์ไม่เป็นที่พอใจของจำเลย จำเลยย่อมมีสิทธิเลิกจ้างได้ จะถือว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหาได้ไม่ ส่วนปัญหาเรื่องค่าชดเชยเห็นว่าตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคท้ายที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วกำหนดกรณีที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในระยะเวลาทดลองปฏิบัติงานโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยไว้ว่า “ความในข้อนี้มิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างประจำที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น หรือลูกจ้างประจำที่นายจ้างให้ทราบเป็นหนังสือแต่แรกว่าให้ทดลองปฏิบัติงานในระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน และยังอยู่ในเวลานั้น” คำว่ายังอยู่ในระยะเวลานั้นย่อมหมายถึงนายจ้างเลิกจ้างในระหว่างทดลองปฏิบัติงาน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เกินกำหนดเวลาทดลองปฏิบัติงานไป 2 วัน แม้การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เกินกำหนดระยะเวลาทดลองปฏิบัติงานดังกล่าว จะเพื่อประโยชน์หรือให้เป็นผลดีแก่ลูกจ้างเพียงใดก็ตามก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในขณะที่ยังอยู่ในระยะเวลาทดลองปฏิบัติงาน กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นดังกล่าวที่จำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ซึ่งมีสิทธิได้รับค่าชดเชย 30 วัน ของค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นเงิน 5,000 บาท

ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ด้วยนั้น เห็นว่า เหตุที่จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากผลของการทดลองงานไม่เป็นที่พอใจจำเลย และจำเลยได้บอกเลิกจ้างภายในกำหนดระยะเวลาทดลองงาน180 วัน โดยได้แจ้งเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบล่วงหน้าเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2528แม้การบอกกล่าวจะให้มีผลเลิกจ้างนับตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน ซึ่งเป็นวันพ้นกำหนดระยะเวลาทดลองงานไปแล้ว ก็ไม่ตกอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 จำเลยจึงไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าซ้ำอีก

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 5,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share