แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การนำสืบว่าโจทก์จำเลยและผู้ซื้อร่วมกันซื้อที่ดินตามสัญญาซื้อขาย ได้ทำความตกลงกันให้กันส่วนที่ดินบางส่วนไว้เป็นทางสาธารณะนั้น เป็นการนำสืบถึงข้อตกลงต่างหากจากสัญญาซื้อขายซึ่งอ้างว่ามีอยู่ระหว่างผู้ซื้อด้วยกันหาใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญาซื้อขายนั้นไม่ โจทก์จึงนำพยานบุคคลมาสืบว่ามีข้อตกลงดังกล่าวได้ไม่เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับพวกและจำเลยได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 3025ตำบลบางซื่อ อำเภอดุสิต กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 217 ตารางวา โดยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ในการซื้อขายผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกันว่าผู้ซื้อทั้ง 4 คนได้กรรมสิทธิ์เพียง 200 ตารางวา ส่วนอีก 17 ตารางวา กันไว้เป็นทางสาธารณะเพื่อให้มีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ ผู้ซื้อทั้ง 4 คน จะได้กรรมสิทธิ์ที่ดินคนละ50 ตารางวา ผู้ซื้อจะได้นำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แบ่งแยกออกเป็นทางสาธารณะ หลังจากแบ่งแยกโฉนดที่ดินกันแล้ว ข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อทั้ง4 คนและผู้ขายได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อทั้ง 5 คน แต่ปรากฏว่าได้สูญหายไป ต่อมาได้มีการแบ่งแยกโฉนด โจทก์กับพวกได้แบ่งแยกที่ดินไว้เป็นทางสาธารณะตามข้อตกลง แต่จำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงและได้ปลูกบ้านกับกั้นรั้วรุกล้ำที่ดินทางสาธารณะซึ่งจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนแบ่งแยกออกจากโฉนดจำนวน 8 ตารางวาครึ่ง ขอให้บังคับให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำไว้
จำเลยให้การว่า โจทก์ จำเลย นางฟอง และจ่าสิบตำรวจนิรัตน์ได้ซื้อที่ดินตามฟ้อง เนื้อที่ 217 ตารางวา มิใช่ 200 ตารางวา ไม่เคยกันส่วน17 ตารางวาเป็นทางสาธารณะ จำเลยครอบครองที่ดินส่วนของจำเลยโดยความสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยไม่เคยทำหลักฐานใด ๆ ที่จะยกที่ดินบางส่วนให้เป็นทางสาธารณะ โจทก์จะนำสืบนอกเหนือไปจากสัญญาซื้อขายมิได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 3025 ตำบลบางซื่อ อำเภอดุสิต กรุงเทพมหานครโดยแบ่งแยกที่ดินด้านเหนือ และด้านตะวันออกของที่ดินดังกล่าวให้เป็นทางสาธาณะ รวมเนื้อที่ 8 ตารางวา หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน ให้จำเลยรื้อถอนโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากทางพิพาท ห้ามจำเลยทำการปลูกสร้างโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอื่นใดในที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เดิมโฉนดเลขที่ 3025 แขวงบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ 217ตารางวา เป็นของนางสละเมื่อเดือนเมษายน 2508 จำเลยกับนางสละทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกันบางส่วน ต่อมาจำเลยได้พาโจทก์ นางฟองและจ่าสิบตำรวจนิรัตน์ไปซื้อส่วนที่เหลือได้จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวใส่ชื่อโจทก์ จำเลย นางฟอง และจ่าสิบตำรวจนิรัตน์ถือกรรมสิทธิ์รวมกันภายหลังได้แบ่งแยกออกเป็น 4 โฉนด โจทก์จำเลยได้ที่ดินทางด้านหน้าคนละ 58 ตารางวาครึ่ง ตามโฉนดเลขที่ 47152 และเลขที่ 3025ตามลำดับจ่าสิบตำรวจนิรัตน์และนางฟองได้ที่ดินด้านในคนละ 50 ตารางวาตามโฉนดเลขที่ 50815 และเลขที่ 50816 ตามลำดับ หลังจากแบ่งแยกโฉนดแล้วโจทก์ได้จดทะเบียนแบ่งที่ดินทางด้านหน้าและด้านข้างซึ่งเป็นด้านที่ติดกับที่ดินของจำเลยเป็นทางสาธารณะแล้ว รวมเนื้อที่ 8 ตารางวาครึ่ง และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์ต้องห้ามมิให้นำพยานบุคคลมาสืบว่ามีข้อตกลงให้กันที่ดินบางส่วนตามสัญญาซื้อขายเป็นทางสาธารณะหรือไม่นั้นว่า การนำสืบว่าโจทก์จำเลยและผู้ที่รวมกันซื้อที่ดินเนื้อที่ 217 ตารางวาตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 ได้ทำความตกลงกันให้กันที่ดินจำนวน17 ตารางวาไว้เป็นทางสาธารณะนั้น เป็นการนำสืบถึงข้อตกลงต่างหากจากสัญญาซื้อขายซึ่งอ้างว่ามีอยู่ระหว่างผู้ซื้อด้วยกัน หาใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญาซื้อขายนั้นไม่ ฉะนั้น โจทก์จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ที่จะนำสืบพยานบุคคลว่ามีข้อตกลงดังกล่าวได้
พิพากษายืน